คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กฎกระทรวงฉบับที่ 5 ออกตามความในพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2510 ข้อ 7 ว่า ‘การให้กู้ยืมแก่พนักงานของบริษัทโดยมีผู้ค้ำประกันนั้น บริษัทจะให้กู้ยืมได้ไม่เกินร้อยละ สองของราคาสินทรัพย์ของบริษัทตามบัญชีงบดุลที่มีอยู่ในวันสิ้นปีบัญชีครั้งสุดท้าย จำนวนเงินที่ให้กู้ยืมแต่ละรายต้องไม่เกินหกเท่าของจำนวนเงินเดือนที่พนักงานผู้นั้นได้รับจากบริษัทในเดือนสุดท้ายก่อนเดือนที่จะให้กู้ยืม และไม่เกินสองหมื่นบาท ‘ ฉะนั้น การที่บริษัทโจทก์ให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานของบริษัทโจทก์กู้ยืมเงินเป็นจำนวนเงิน 30,000 บาท นั้น จึงขัดต่อกฎกระทรวงดังกล่าว สัญญากู้ระหว่างบริษัทโจทก์และจำเลยจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับ จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดด้วยแต่จำเลยที่ 1 รับเงินไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นการทำให้โจทก์เสียเปรียบ จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการรับประกันภัยให้กู้ยืมเงินฯ จำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินโจทก์ไปโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ย โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระ แต่ก็ไม่ชำระ จึงขอให้ศาลบังคับ

จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ทำงานกับโจทก์โดยเป็นตัวแทนประกันชีวิต จำเลยที่ 1 ขอเงินจากโจทก์มาขยายงาน โจทก์ตกลงให้30,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 ต้องผ่อนชำระ แต่จ่ายโดยตรงไม่ได้ เพราะขัดต่อพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2510 มาตรา 27 จึงให้จำเลยที่ 1 ทำเป็นกู้ยืมไว้ สัญญากู้จึงเป็นนิติกรรมอำพราง ปิดบังเจตนาอันแท้จริงคือการให้เงินมาลงทุนเพื่อขยายงานของโจทก์โดยตรง จำเลยที่ 1 ไม่ได้ผิดนัด สัญญากู้เป็นโมฆะเพราะขัดต่อกฎกระทรวงฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2511) ข้อ 7 ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2510 ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ยอมผ่อนเวลาชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้ยินยอมด้วย จำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้ได้ จึงไม่เป็นการยากที่จะบังคับชำระหนี้เอาจากจำเลยที่ 1 ไม่สมควรที่จะฟ้องจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นฟังว่า สัญญากู้ไม่ใช่นิติกรรมอำพราง และจำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่เป็นจำนวนเงินตามฟ้อง แต่ขณะกู้ยืมจำเลยได้รับเงินเดือนจากโจทก์เพียงเดือนละ 1,000 บาทเท่านั้น ซึ่งตามกฎกระทรวงฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2511)ข้อ 7 ออกตามความในพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2510 ห้ามมิให้โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์กู้เงินเป็นจำนวนเกินกว่า6 เท่าของเงินเดือน อันเป็นกฎหมายคุ้มครองประโยชน์ของผู้เอาประกันชีวิตเป็นกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน นิติกรรมสัญญากู้อันขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงไม่สมบูรณ์จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้รายนี้แก่โจทก์และการค้ำประกันจะมิได้เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์เท่านั้น จำเลยที่ 2 จึงหลุดพ้นความรับผิดไปด้วยพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาว่า พระราชบัญญัติประกันชีวิตมิใช่กฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน การกู้เงินระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องธรรมดาสามัญไม่ผิดศีลธรรมหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน สัญญากู้และสัญญาค้ำประกันจึงไม่เป็นโมฆะ

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนประกันชีวิตของบริษัทโจทก์ ตำแหน่งครั้งสุดท้ายเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขยายงาน ได้รับเงินเดือนเดือนละ 1,000 บาท ระหว่างดำรงตำแหน่งนี้ จำเลยที่ 1 ได้กู้เงินจากบริษัทโจทก์ไป 30,000 บาท โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2510 มาตรา 22 บัญญัติว่า “นอกจากการประกันชีวิต บริษัทจะลงทุนประกอบธุรกิจอื่นใดก็ได้เฉพาะที่กำหนดในกฎกระทรวง กฎกระทรวงนั้นจะกำหนดเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจนั้น ๆ ให้บริษัทปฏิบัติด้วยก็ได้

การประกอบธุรกิจใดที่ไม่ปฏิบัติหรือไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้ถือว่าเป็นการประกอบธุรกิจที่มิได้กำหนดในกฎกระทรวง”และกฎกระทรวงฉบับที่ 5 ออกตามความในพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2510 ข้อ 7 ว่า “การให้กู้ยืมแก่พนักงานของบริษัทโดยมีผู้ค้ำประกันนั้นบริษัทจะให้กู้ยืมได้ไม่เกินร้อยละสองของราคาสินทรัพย์ของบริษัทตามบัญชีงบดุลที่มีอยู่ในวันสิ้นปีบัญชีครั้งสุดท้าย จำนวนเงินที่ให้กู้ยืมแต่ละรายต้องไม่เกินหกเท่าของจำนวนเงินเดือนที่พนักงานผู้นั้นได้รับจากบริษัทในเดือนสุดท้ายก่อนเดือนที่จะให้กู้ยืม และไม่เกินสองหมื่นบาท” การที่บริษัทโจทก์ให้จำเลยซึ่งเป็นพนักงานของบริษัทโจทก์กู้ยืมเป็นจำนวนเงิน 30,000 บาท นั้น จึงขัดต่อกฎกระทรวงดังกล่าว ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 76 ว่าการฝ่าฝืนมาตรา 22 ต้องระวางโทษปรับสัญญากู้ระหว่างบริษัทโจทก์และจำเลยจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับ แต่คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้รับเงินที่กู้ไปจากโจทก์จริง และโจทก์ฟ้องคดีนี้ก็มิได้ฟ้องขอบังคับให้กู้ แต่เป็นการฟ้องเรียกเอาทรัพย์ของตนที่ให้กู้คืนจำเลยที่ 1 รับเงินไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นการทำให้โจทก์เสียเปรียบจำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินที่ได้รับไว้แก่โจทก์และชำระดอกเบี้ยสำหรับเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันรับเงิน แต่ให้จำเลยรับผิดในดอกเบี้ยเฉพาะส่วนที่ยังไม่ได้ชำระเท่านั้น ส่วนจำเลยที่ 2 เมื่อปรากฏว่าสัญญากู้ยืมรายนี้เป็นโมฆะ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดด้วย

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะตัวจำเลยที่ 1 เป็นว่าให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินจำนวน 30,000 บาทให้โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันรับเงินจนกว่าจำเลยจะคืนหรือใช้เงินเสร็จ โดยหักดอกเบี้ยที่ชำระไว้แล้วก่อนนอกจากนี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share