คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5299/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตกลงซื้อขายเมทแอมเฟตามีนกันจำนวน 8,000 เม็ด ราคา 400,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบถุงเมทแอมเฟตามีนของกลางซึ่งมีจำนวน 6,800 เม็ด แก่เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งไม่ตรงตามที่ตกลงซื้อขายกัน และเจ้าพนักงานตำรวจได้รับมอบมาแล้วถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางอันเป็นความผิดสำเร็จแล้ว แม้ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจะตรวจนับพบว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางยังขาดจำนวนตามที่ตกลงกันไว้ และได้ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางให้จำเลยที่ 1 ถือไว้โดยทำทีที่จะนับเงินให้ตามจำนวนราคาเมทแอมเฟตามีนของกลางที่จำเลยที่ 1 บอกก็เพื่อถ่วงเวลาหาโอกาสส่งสัญญาณให้เจ้าพนักงานตำรวจที่ซุ่มดูเพื่อเข้าจับกุมจำเลยที่ 1 กับพวก ที่ร่วมกันกระทำความผิดก็ตาม ก็หาทำให้การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 กับพวก ซึ่งเป็นความผิดสำเร็จแล้ว กลับกลายเป็นเพียงความผิดฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางไม่
การปรับบทความผิดและลงโทษเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาตลอดถึงจำเลยที่ 2 ด้วยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔ , ๗ , ๘ , ๑๕ , ๖๖ , ๑๐๒ และริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง , ๖๖ วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสี่ตลอดชีวิต ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง , ๖๖ วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๐ , ๘๓ ฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ลงโทษฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ประกอบมาตรา ๕๓ หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยทั้งสี่คนละ ๓๓ ปี ๔ เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ได้ร่วมกันกระทำความผิดรายนี้หรือไม่… พยานหลักฐานของโจทก์ประกอบกันมีน้ำหนักรับฟังได้มั่นคงปราศจากสงสัยว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ที่นำสืบว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเมทแอมเฟตามีนของกลางก็ดี ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเนื่องจากถูกทำร้ายร่างกายก็ดี ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนโดยเจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้แจ้งข้อหาให้ทราบและไม่ได้อ่านข้อความให้ฟังก่อนก็ดี เป็นข้อต่อสู้ที่เลื่อนลอยปราศจากพยานหลักฐานสนับสนุนให้รับฟังเป็นความจริง พยานหลักฐานของจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ไม่สามารถรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ฎีกาของจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ฟังไม่ขึ้น แต่การที่จำเลยที่ ๑ ได้ส่งมอบถุงเมทแอมเฟตามีนของกลางแก่จ่าสิบตำรวจสุเทพตามที่ตกลงซื้อขายกัน และจ่าสิบตำรวจสุเทพได้รับมอบมาแล้วนั้น ถือได้ว่า จำเลยที่ ๑ ได้จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางแก่จ่าสิบตำรวจสุเทพอันเป็นความผิดสำเร็จแล้ว แม้ต่อมาจ่าสิบตำรวจสุเทพจะตรวจนับพบว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางยังขาดจำนวนตามที่ตกลงกันไว้และได้ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางให้จำเลยที่ ๑ ถือไว้ โดยทำทีที่จะนับเงินให้ตามจำนวนราคาเมทแอมเฟตามีนของกลางที่จำเลยที่ ๑ บอก ก็เพื่อถ่วงเวลาหาโอกาสส่งสัญญาณให้เจ้าพนักงานตำรวจที่ซุ่มดูอยู่เข้าจับกุมจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ที่ร่วมกันกระทำความผิดกับจำเลยที่ ๑ ก็ตาม ก็หาทำให้การกระทำของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ซึ่งเป็นความผิดสำเร็จแล้ว กลับกลายเป็นเพียงความผิดฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย แต่โจทก์มิได้ฎีกาขอให้เพิ่มเติมโทษ จึงไม่อาจลงโทษให้หนักไปกว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้ แต่เห็นสมควรปรับบทลงโทษเสียให้ถูกต้อง
และเนื่องจากการปรับบทลงโทษเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี แม้จำเลยที่ ๒ ไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาตลอดถึงจำเลยที่ ๒ ด้วยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๓ ประกอบมาตรา ๒๒๕
อนึ่ง แม้ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาจะได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๘ และมาตรา ๑๙ ยกเลิกความในมาตรา ๑๕ และมาตรา ๖๖ แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่คดีนี้กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณจึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยทั้งสี่
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง ๖๖ วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share