แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เมื่อครบกำหนด 2 ปี นับแต่วันลงนามในสัญญาเช่าพื้นที่ในที่ดินของโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ยังมิได้ติดตั้งอู่ลอยในพื้นที่ที่กำหนดไว้ตามสัญญา จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิริบเงินจากหลักประกันตามสัญญาได้ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ด้วย แต่หลักประกันตามหนังสือสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 2 ที่นำมามอบแก่โจทก์เป็นการวางไว้ล่วงหน้าเพื่อความเสียหายในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญา เข้าลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ถ้าสูงเกินส่วน ศาลลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2533 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าพื้นที่ในที่ดินของโจทก์ เนื้อที่ 312 ไร่ 1 งาน 45 ตารางวา เพื่อดำเนินการโครงการอู่เรือแหลมฉบังมีกำหนดระยะเวลาเช่า 30 ปี นับแต่วันลงนามในสัญญา ซึ่งมีข้อตกลงในข้อ 2.3 ว่าภายใน 2 ปี นับแต่วันลงนามในสัญญาจำเลยที่ 1 ต้องจัดให้มีโรงงานและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้บริการซ่อมเรือเดินทะเล โดยซ่อมทำตัวเรือใต้แนวน้ำ (Under Water Line) จำเลยที่ 1นำหลักประกันเป็นหนังสือสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 2 เลขที่ พพ.121/2533 ในวงเงิน 10,000,000 บาท มามอบให้แก่โจทก์เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว สัญญาค้ำประกันดังกล่าวมีอายุประกันถึงวันที่จำเลยที่ 1 พ้นความรับผิดตามสัญญาโจทก์จะคืนให้เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขครบถ้วนแล้ว หากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา 2 ปี โจทก์จะริบเงินจากหลักประกัน หากโจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาหรือใช้เวลาเกินกำหนด โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าได้ทันที หลังจากครบกำหนดเวลา 2 ปี นับแต่วันลงนามในสัญญาเช่าแล้ว ต่อมาวันที่ 21 ธันวาคม2535 จำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือถึงโจทก์ขอรับหนังสือสัญญาค้ำประกันคืนโดยแจ้งโจทก์ว่าได้ปฏิบัติตามสัญญาครบถ้วนแล้ว คือการจัดให้มีโรงงานและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้บริการซ่อมเรือเดินทะเลโดยซ่อมทำตัวเรือใต้แนวน้ำตามแผนการดำเนินงานระยะที่ 1 ซึ่งรวมถึงการติดตั้งอู่ลอยด้วยแล้ว เมื่อโจทก์รับหนังสือดังกล่าวโจทก์ตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบการทำงานของจำเลยที่ 1 ว่าปฏิบัติตามสัญญาถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ คณะทำงานของโจทก์ดังกล่าวพิจารณาและตรวจสอบแล้วพบว่าจำเลยที่ 1 จัดหาอู่ลอยตามสัญญาแล้วแต่จำเลยที่ 1 ยังมิได้ทำการติดตั้งอู่ลอยในพื้นที่ที่สามารถให้อู่ลอยจมลงในบริเวณที่กำหนดในแบบแปลนและยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้บริการซ่อมเรือเดินทะเล เป็นต้นว่าหลักยึดอู่ลอยและบ่อที่มีความลึกที่อู่ลอยต้องจมเพื่อให้สามารถซ่อมเรือใต้แนวน้ำได้ ถือว่าจำเลยที่ 1 มิได้ดำเนินการติดตั้งอู่ลอยและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้บริการซ่อมเรือเดินทะเลโดยซ่อมทำตัวเรือใต้แนวน้ำให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาของสัญญา โจทก์จึงใช้สิทธิริบเงินจากหลักประกันตามสัญญา จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระเงินประกันจำนวน10,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,125,000 บาท ให้แก่โจทก์ และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์ด้วยโจทก์มีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยทั้งสองแล้วจำเลยทั้งสองไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 11,125,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 10,000,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า การจัดให้มีบ่อเพื่อให้อู่ลอยจมลงได้ก็ดีหลักยึดอู่ลอยก็ดี มิได้เป็นสิ่งที่จำเลยที่ จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในแผนงานระยะที่ 1 เพราะเจตนาในสัญญาได้กำหนดให้จำเลยที่ 1 จัดให้มีโรงงานและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้บริการซ่อมเรือเดินทะเลโดยซ่อมทำตัวเรือใต้แนวน้ำได้ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ดำเนินการไปแล้ว ทั้งในสัญญาเช่ามิได้บังคับว่าการให้บริการซ่อมทำตัวเรือเดินทะเลใต้แนวน้ำนั้นจะต้องซ่อมด้วยวิธีใด และจะต้องซ่อม ณ ที่ใด ข้อกล่าวอ้างของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนเจตนาของสัญญาขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ตามสัญญาเช่าข้อ 2.3 โจทก์ประสงค์จะให้จำเลยที่ 1 มีความสามารถดำเนินการให้บริการซ่อมทำตัวเรือใต้แนวน้ำได้ภายในกำหนดเวลาเท่านั้น ข้อสัญญามิได้ระบุไว้ชัดแจ้งว่าผู้เช่าต้องดำเนินการดังกล่าวอย่างถาวรภายในสถานที่เช่า จำเลยที่ 1 สามารถซ่อมทำตัวเรือใต้แนวน้ำได้ภายใน 2 ปี แม้จะมิได้ทำการซ่อมในบริเวณสถานที่เช่า การที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขภายในกำหนดเวลาจึงเป็นการไม่ชอบ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2533 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าพื้นที่เพื่อดำเนินการโครงการอู่เรือแหลมฉบัง ณ บริเวณแหลมฉบัง ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ 312 ไร่ 1 งาน 45 ตารางวา มีกำหนดเวลา 30 ปี นับแต่วันลงนามในสัญญาตามสัญญาเอกสารหมาย จ.1 จำเลยที่ 1 นำหนังสือสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 2 มามอบให้แก่โจทก์เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา เป็นจำนวนเงิน 10,000,000 บาท โดยหากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดตามสัญญาโจทก์จะริบเงินประกันทั้งหมดมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าพื้นที่เพื่อดำเนินการโครงการอู่เรือแหลมฉบังตามสัญญาและแผนการดำเนินงานแนบท้ายสัญญาเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 โดยไม่ได้ติดตั้งอู่ลอยหรือไม่ โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 1 ได้ดำเนินการตามแผนงานในสัญญาในกรณีอื่นหมดแล้ว แต่ยังมิได้ดำเนินการตามแผนงานเอกสารแนบท้ายสัญญาหมาย จ.2 ข้อ 4 เพียงข้อเดียว คือการจัดหาและติดตั้งอู่ลอย สำหรับการติดตั้งอู่ลอยให้ใช้ดำเนินการได้นั้นจะต้องมีการขุดพื้นที่ให้เป็นบ่อที่มีความลึกจนสามารถให้อู่ลอยจมลงไปได้ เมื่อทำให้อู่ลอยจมลงแล้วจึงนำเรือเข้าไปในอู่ลอยจากนั้นก็สูบน้ำออกจากอู่ลอยเพื่อให้อู่ลอยน้ำขึ้นเพื่อยกเรือขึ้นมาทำการซ่อม เมื่อซ่อมเสร็จแล้วก็ทำให้อู่ลอยจมลงเพื่อปล่อยเรือลงน้ำ โดยจะต้องมีตอหม้อและเสายึดอู่ลอยไม่ให้เคลื่อนที่ในการขึ้นลงด้วย จำเลยที่ 1 จัดหาอู่ลอยมาพร้อมแล้ว แต่ยังมิได้ดำเนินการติดตั้งตามวิธีดังกล่าวภายในพื้นที่ที่กำหนดและภายในระยะเวลาตามสัญญาในข้อนี้จำเลยที่ 1 นำสืบว่าไม่มีข้อบังคับในสัญญาให้จำเลยที่ 1ต้องดำเนินการสร้างอู่ลอย จำเลยที่ 1 สามารถซ่อมทำเรือใต้แนวน้ำจำนวน 2 ลำ โดยไม่ต้องใช้อู่ลอยแต่อย่างใด เห็นว่า แม้ตามสัญญาเช่า ข้อ 2.3 จะระบุเพียงว่า “ผู้เช่าจะต้องจัดให้มีโรงงานและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้บริการซ่อมเรือเดินทะเล โดยซ่อมทำตัวเรือใต้แนวน้ำ(Under Water Line) ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันลงนามในสัญญา”ก็ตาม แต่ก็มีเอกสารแนบท้ายสัญญา ฉบับที่ 1 กำหนดแผนการดำเนินงานโครงการอู่เรือแหลมฉบังเอกสารหมาย จ.2 ในข้อ 4 ว่า จะต้องมีการจัดหาและติดตั้งอู่ลอย และฉบับที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.6 เป็นแผนผังแสดงพื้นที่บริเวณที่ให้เช่า เอกสารแนบท้ายสัญญาดังกล่าวตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 11 ให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาที่จำเลยที่ 1 ผู้เช่าจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าสามารถซ่อมทำเรือใต้แนวน้ำโดยมิต้องใช้อู่ลอยนั้นก็เพียงเป็นข้อแสดงให้เห็นว่าการซ่อมทำเรือใต้แนวน้ำสามารถทำได้หลายวิธีซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการติดตั้งอู่ลอยตามสัญญา โดยเฉพาะพยานจำเลยที่ 1 คือ นายสุธรรม จิตรานุเคราะห์กรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 กับนายโกวิทย์ กุวานนท์ อดีตกรรมการบริหารบริษัทจำเลยที่ 1 ต่างเบิกความทำนองเดียวกันยอมรับว่า สาเหตุที่ไม่ได้นำอู่ลอยมาติดตั้งยังพื้นที่ตามที่ระบุไว้ในแบบแปลนท้ายสัญญาก็เพราะพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพัฒนาที่ดินเนื่องจากเป็นดินทรายต้องนำดินมาถม การทำพิธีเปิดอู่ลอยจึงได้กระทำในพื้นที่อีกด้านหนึ่งเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2535 ต่อมาอีกประมาณ 6 เดือน จำเลยที่ 1 จึงได้ลากจูงอู่ลอยไปจอดไว้ยังพื้นที่ที่กำหนดไว้ในสัญญาอันเป็นที่จอดถาวร คำพยานของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นการเจือสมกับทางนำสืบของโจทก์ ประการสำคัญเป็นข้อที่แสดงให้เห็นชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1 ทราบดีว่าการติดตั้งอู่ลอยเพื่อให้ใช้ดำเนินการได้นั้นจะต้องกระทำอย่างไรและจุดที่กำหนดให้ติดตั้งอู่ลอยตามสัญญาอยู่ตรงที่ใด พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักให้รับฟังข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อครบกำหนด 2 ปี นับแต่วันลงนามในสัญญาเช่าแล้ว คือวันที่ 18 ธันวาคม 2535 จำเลยที่ 1 ยังมิได้ติดตั้งอู่ลอยในพื้นที่ที่กำหนดไว้ตามสัญญา จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิริบเงินจากหลักประกันตามสัญญาได้ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ด้วย อย่างไรก็ตามหลักประกันตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย ล.25 ของจำเลยที่ 2 ที่นำมามอบให้แก่โจทก์เป็นการวางไว้ล่วงหน้าเพื่อความเสียหายในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญา เข้าลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ดังนั้น ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ในข้อนี้ ได้ความว่า หลังจากพ้นกำหนดตามสัญญาเช่าจำเลยที่ 1 ย้ายอู่ลอยไปติดตั้งในพื้นที่ที่กำหนดไว้ตามสัญญาแล้ว ซึ่งเป็นเวลาต่อมาประมาณ 6 เดือน และอู่ลอยก็สามารถดำเนินการได้ ทั้งโจทก์มิได้นำสืบในเรื่องความเสียหายให้ชัดแจ้งว่าโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างไรบ้าง จึงเห็นว่าเบี้ยปรับที่กำหนดไว้ตามสัญญาเป็นจำนวนถึง 10,000,000 บาท นั้นสูงเกินส่วน เห็นสมควรกำหนดให้เพียง 2,000,000บาท ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษากลับว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,000,000บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์