คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1128/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 5,30,32 บัญญัติ ความผิดและบทลงโทษฐานทำสุรากับฐานมีสุราไว้ในครอบครองไว้คนละมาตราจึงเป็นความผิดต่างกรรมกัน ต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ข้อหาทำสุราและข้อหามีสุราไว้ในครอบครองในคราวเดียวกัน แม้จำเลยจะทำทั้งสุรากลั่นและสุราแช่และมีทั้งสุรากลั่นและ สุราแช่ ในแต่ละข้อหาก็เป็นความผิดกรรมเดียวกัน ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในชั้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็ยกขึ้นแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ โจทก์บรรยายฟ้องว่ารถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์สินที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิด เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง จึงต้องฟังว่ารถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์สินที่ได้ใช้ในการกระทำความผิด ซึ่งศาลมีอำนาจริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33การที่ ศาลอุทธรณ์ฟังว่ารถยนต์ของกลางไม่อาจเป็นทรัพย์สินที่ได้ใช้ หรือมีไว้ใช้ในการกระทำความผิดตามลักษณะของความผิดที่โจทก์ ฟ้องได้นั้น เป็นการฟังข้อเท็จจริงที่ผิดไปจากคำรับสารภาพของจำเลย เป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติสุราฯ มาตรา 4,5, 17, 30, 31, 32, 45 จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานมีภาชนะและเครื่องกลั่นสุรา ฐานทำสุราแช่ ฐานมีสุราแช่ไว้ในครอบครอง ฐานทำสุรากลั่นฐานมีสุรากลั่นไว้ในความครอบครอง และฐานนำสุราแช่และสุรากลั่นที่ทำขึ้นออกขาย ให้เรียงกระทงลงโทษรวมจำคุก 45 วัน และปรับ1,100 บาท เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขัง ริบของกลาง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานทำสุราแช่และมีสุราแช่ไว้ในครอบครองให้ลงโทษฐานมีสุราแช่ไว้ในครอบครองซึ่งเป็นบทหนักความผิดฐานทำสุรากลั่นและมีสุรากลั่นไว้ในครอบครอง ให้ลงโทษฐานทำสุรากลั่น ซึ่งเป็นบทหนัก รวมแล้วจำคุก 15 วัน ปรับ500 บาท โทษจำคุกให้กักขังแทน รถยนต์ของกลางไม่ริบ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยทำสุราแช่กับทำสุรากลั่นโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นเป็นความผิดกรรมเดียวกับการมีไว้ในครอบครองซึ่งสุราแช่สุรากลั่นที่ทำขึ้นโดยฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่เห็นว่าพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 มาตรา5, 30, 32 บัญญัติความผิดและบทลงโทษฐานทำสุราโดยไม่ได้รับอนุญาต กับการมีไว้ในครอบครองซึ่งสุราที่รู้ว่าทำขึ้นโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ไว้คนละมาตรากัน ดังนั้นการที่จำเลยทำสุราโดยไม่ได้รับอนุญาตกับการมีไว้ในครอบครองซึ่งสุรานั้น เห็นได้ชัดว่าเป็นความผิดต่างกรรมกัน ต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น แต่ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยที่ 1 ในข้อหาทำสุรากลั่นทำสุราแช่เป็นสองกรรมและข้อหามีสุรากลั่นมีสุราแช่ไว้ในครอบครองเป็นสองกรรมเช่นกันนั้น ข้อหาทำสุราในคราวเดียวกันแม้จำเลยที่ 1 จะทำทั้งสุรากลั่นและสุราแช่ก็เป็นความผิดกรรมเดียว ข้อหามีสุราไว้ในครอบครองในคราวเดียวกัน แม้จำเลยที่ 1 จะมีทั้งสุรากลั่นและสุราแช่ก็เป็นความผิดกรรมเดียวเช่นกัน ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในชั้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็ยกขึ้นแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้
ส่วนรถยนต์ของกลางนั้น โจทก์บรรยายฟ้องไว้ว่ารถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์สินที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิด เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง จึงต้องฟังว่ารถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์สินที่ได้ใช้ในการกระทำความผิด ซึ่งศาลมีอำนาจริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 การที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่ารถยนต์ของกลางไม่อาจเป็นทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตามลักษณะของความผิดที่โจทก์ฟ้องได้นั้นเป็นการฟังข้อเท็จจริงที่ผิดไปจากคำสารภาพของจำเลยที่ 1 เป็นการไม่ชอบ ฎีกาโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติสุราพ.ศ. 2493 มาตรา 5, 30, 32 ที่แก้ไขแล้ว ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91 ลงโทษฐานทำสุรากลั่นสุราแช่จำคุก 1 เดือน ฐานมีสุรากลั่น สุราแช่ไว้ในครอบครองปรับ 1,000 บาท จำเลยที่ 1ให้การรับสารภาพเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 15 วัน ปรับ 500 บาทเมื่อรวมกับโทษฐานมีภาชนะและเครื่องกลั่นสุราและฐานขายสุราที่ทำขึ้นแล้ว เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 45 วัน และปรับ 500 บาทให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23และริบรถยนต์ของกลางด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share