คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5297/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ.2518มาตรา102เป็นการให้สิทธิลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานลาเพื่อไปดำเนินกิจการสหภาพแรงงานและไปร่วมประชุมตามที่ทางราชการกำหนดได้จึงต้องหมายถึงการไปร่วมประชุมในเรื่องที่เกี่ยวกับสหภาพแรงงานที่ทางราชการกำหนดขึ้นและต้องเป็นสหภาพแรงงานที่ลูกจ้างดังกล่าวสังกัดอยู่เท่านั้นมิใช่สหภาพแรงงานใดก็ได้โดยไม่มีขอบเขตจำกัดมิฉะนั้นลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานก็จะอ้างสิทธิไปร่วมประชุมในเรื่องที่ทางราชการกำหนดได้ทุกเรื่องหากกฎหมายประสงค์จะให้สิทธิลูกจ้างไปประชุมในเรื่องอื่นก็จะต้องบัญญัติไว้ดังนั้นการที่ส. ไปร่วมประชุมในฐานะอนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์เกี่ยวกับกรณีลูกจ้างบริษัทว.ยื่นคำร้องกล่าวหาว่าถูกนายจ้างกระทำการอันไม่เป็นธรรมซึ่งไม่เกี่ยวกับสหภาพแรงงานโจทก์ที่ส. สังกัดอยู่ถือได้ว่าเป็นการดำเนินการเป็นส่วนตัวหาใช่เป็นการร่วมประชุมตามที่ทางราชการกำหนดไม่จึงไม่ก่อให้ส.เกิดสิทธิลาไปร่วมประชุมตามนัยมาตรา102จึงถือไม่ได้ว่าวันที่ส. ลาไปร่วมประชุมคณะอนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดังกรณีข้างต้นรวม8วันเป็นวันทำงานเมื่อส. เป็นลูกจ้างรายวันและไม่ได้ทำงานในวันดังกล่าวจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันลาทั้ง8วันนั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 6 ธันวาคม 2537 ในเรื่องการจ่ายเงินเบี้ยขยันการปรับค่าจ้างประจำปี และการลาไปดำเนินการเกี่ยวกับสหภาพแรงงาน กล่าวคือจำเลยไม่จ่ายเงินเบี้ยขยันในเดือนสิงหาคม2538 แต่นางกวินทรา รังสิตโสภณ และนางสาวมาลี รัตนะสมาชิกของโจทก์จำนวน 145 บาท และ 290 บาท ตามลำดับ กับไม่ปรับค่าจ้างประจำปีตามอัตราที่เพิ่มของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และตามอายุงานให้แก่สมาชิกของโจทก์รวม 37 ราย ตามรายชื่อเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 และไม่ยอมจ่ายค่าจ้างสำหรับวันลาที่นายสุคนธ์ สถิตดำรงสกุล ลาเพื่อไปดำเนินการเกี่ยวกับสหภาพแรงงานโดยเข้าร่วมประชุมตามที่ทางราชการกำหนดระหว่างวันที่ 4 สิงหาคม 2538 ถึงเดือนตุลาคม 2538 รวม 8 วัน เป็นเงิน1,160 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเบี้ยขยันแก่นางกวินทรา รังสิตโสภณและนางสาวมาลี รัตนะ สมาชิกของโจทก์ จำนวน 145 บาท และ290 บาท ตามลำดับ ปรับค่าจ้างให้แก่สมาชิกโจทก์ตามบัญชีรายชื่อเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 โดยปรับจากเดิมเพิ่มอีกคนละ 10 บาทและปรับตามอายุงานอีกปีละ 1 บาท ย้อนหลังตั้งแต่วันที่1 กรกฎาคม 2538 และให้จ่ายค่าจ้างแก่นายสุคนธ์ สถิตดำรงสกุลสมาชิกของโจทก์ที่ลาไปประชุมสัมมนาตามหนังสือทางราชการรวม 8 วันเป็นเงิน 1,160 บาท
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่ได้รับมอบอำนาจจากสมาชิกของโจทก์ นางกวินทรา รังสิตโสภณ และนางสาวมาลี รัตนะได้ลากิจ ลาป่วย และขาดงาน จึงไม่มีสิทธิได้รับเบี้ยขยันจำเลยยินยอมปรับค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่รัฐบาลประกาศปรับเพิ่มขึ้น ส่วนการปรับอัตราค่าจ้างตามอายุงานนั้น สมาชิกของโจทก์ตามรายชื่อเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 ได้ขอลากิจ ลาป่วยและขาดงานเกินกำหนดที่ระบุไว้ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจึงไม่มีสิทธิได้รับการปรับค่าจ้างเพิ่มตามอายุงาน ทั้งการปรับค่าจ้างจะปรับในเดือนธันวาคมของทุกปี ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดระยะเวลาที่จะปรับ ส่วนกรณีนายสุคนธ์ สถิตดำรงสกุล ที่ไปร่วมประชุมสัมมนาตามที่ทางราชการกำหนดนั้นไม่ใช่เป็นการไปดำเนินกิจการของสหภาพแรงงานที่ตนเป็นกรรมการอยู่ ทั้งต้องแจ้งการลาล่วงหน้าและได้รับอนุมัติจากจำเลยก่อน แต่นายสุคนธ์ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบและข้อตกลง จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยปรับค่าจ้างให้แก่สมาชิกโจทก์ตามบัญชีรายชื่อเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 เว้นแต่นางว่านไฟ เพชรรัตน์ โดยปรับเพิ่มจากเดิมอีกคนละวันละ 10 บาทและปรับตามอายุงานของพนักงานลำดับที่ 9, 10, 12, 13, 15, 20ถึง 24, 28, 29, 32 และ 33 โดยปรับเพิ่มอีกวันละ 10 บาท 8 บาท9 บาท 9 บาท 18 บาท 20 บาท 23 บาท 7 บาท 8 บาท 6 บาท 3 บาท2 บาท 4 บาท และ 4 บาท ตามลำดับ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2538คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่นายสุคนธ์ สถิตดำรงสกุล สมาชิกโจทก์ลางานไปร่วมประชุมคณะอนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตามหนังสือเชิญประชุมของสำนักงานคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ กรณีลูกจ้างบริษัทวิเชียรเท็กซ์ไทล์ อินดัสตรี จำกัด ร้องกล่าวหาว่านายจ้างกระทำการอันไม่เป็นธรรม รวม 8 วันนั้น เป็นการใช้สิทธิลาไปเพื่อประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับสหภาพแรงงานตามบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 6 ธันวาคม 2537 และพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 102 หรือไม่ พิเคราะห์แล้วบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ข้อ 7 มีข้อความว่า ในกรณีที่กรรมการสหภาพแรงงานฯ สมาชิกสหภาพแรงงานฯ ลาไปเพื่ออบรมสัมมนาหรือเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับสหภาพแรงงานฯ บริษัทฯอนุมัติให้ลาได้โดยมีหนังสือทางราชการมาแสดงให้บริษัทฯ ทราบทุกครั้ง โดยยึดถือตามมาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518และพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 102 บัญญัติว่าลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานมีสิทธิลาเพื่อไปดำเนินกิจการสหภาพแรงงานในฐานะผู้แทนลูกจ้างในการเจรจา การไกล่เกลี่ยและการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน และมีสิทธิลาเพื่อไปร่วมประชุมตามที่ทางราชการกำหนดได้ ทั้งนี้ ให้ลูกจ้างดังกล่าวแจ้งให้นายจ้างทราบล่วงหน้าถึงเหตุที่ลาโดยชัดแจ้ง พร้อมทั้งแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้องถ้ามี และให้ถือว่าวันลาของลูกจ้างนั้นเป็นวันทำงานเห็นว่า ตามบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 102 เป็นการให้สิทธิลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานลาเพื่อไปดำเนินกิจการสหภาพแรงงานและไปร่วมประชุมตามที่ทางราชการกำหนดได้ จึงต้องหมายถึงการไปร่วมประชุมในเรื่องที่เกี่ยวกับสหภาพแรงงานที่ทางราชการกำหนดขึ้นและต้องเป็นสหภาพแรงงานที่ลูกจ้างดังกล่าวสังกัดอยู่เท่านั้น มิใช่สหภาพแรงงานใดก็ได้โดยไม่มีขอบเขตจำกัดมิฉะนั้นลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานก็จะอ้างสิทธิไปร่วมประชุมในเรื่องที่ทางราชการกำหนดได้ทุกเรื่อง หากกฎหมายประสงค์จะให้สิทธิลูกจ้างไปประชุมในเรื่องอื่นก็จะต้องบัญญัติไว้ดังนั้น การที่นายสุคนธ์ไปร่วมประชุมในฐานะอนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์เกี่ยวกับกรณีลูกจ้างบริษัทวิเชียรเท็กซ์ไทล์อันดัสตรี จำกัด ยื่นคำร้องกล่าวหาว่าถูกนายจ้างกระทำการอันไม่เป็นธรรม ซึ่งไม่เกี่ยวกับสหภาพแรงงานโจทก์ที่นายสุคนธ์สังกัดอยู่ ถือได้ว่าเป็นการดำเนินการเป็นส่วนตัว หาใช่เป็นการร่วมประชุมตามที่ทางราชการกำหนดไม่จึงไม่ก่อให้นายสุคนธ์เกิดสิทธิลาไปร่วมประชุมตามนัย มาตรา 102แต่อย่างใด ด้วยเหตุดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าวันที่นายสุคนธ์ลาไปร่วมประชุมคณะอนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดังกรณีข้างต้นรวม 8 วัน เป็นวันทำงาน เมื่อนายสุคนธ์เป็นลูกจ้างรายวันและไม่ได้ทำงานในวันดังกล่าว นายสุคนธ์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันลาทั้ง 8 วันนั้น จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าจ้างแก่นายสุคนธ์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ในส่วนนี้ชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share