คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5296/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กิจการของจำเลยในการให้บริการรับส่งเอกสารและพัสดุภัณฑ์ด่วนพิเศษจะดำเนินการอยู่ได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับความเชื่อถือของลูกค้าในการให้บริการของจำเลยที่จะต้องจัดการนำส่งเอกสารและพัสดุภัณฑ์ให้แก่ลูกค้าอย่างรวดเร็วและถูกต้องปรากฏว่าเอกสารของลูกค้าจำเลยส่งมาถึงจำเลยตั้งแต่วันที่25กรกฎาคม2538พนักงานแยกเอกสารได้นำเอกสารดังกล่าวไปใส่ในช่องเอกสารของโจทก์แล้วแต่โจทก์ละเลยไม่นำเอกสารไปส่งให้แก่ลูกค้าจำเลยจนเป็นเหตุให้ลูกค้าต้องโทรศัพท์ทวงถามเอกสารจากจำเลยในวันที่29กรกฎาคม2538จึงได้มีการตรวจค้นพบเอกสารอยู่ในกระเป๋าใส่เอกสารประจำตัวของโจทก์ซึ่งทิ้งไว้ที่บริษัทจำเลยพฤติการณ์การกระทำของโจทก์ย่อมส่งผลกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือของลูกค้าที่มีแก่บริการรับส่งเอกสารของจำเลยเป็นอย่างยิ่งถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อ70ข้อ96และข้อ99.6กรณีร้ายแรงจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ47(4)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2536 จำเลยจ้างโจทก์ทำงานหน้าที่รับส่งเอกสาร ต่อมาวันที่ 2 สิงหาคม 2538 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด ไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ ก่อนถูกเลิกจ้างโจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 7,150 บาท ครบกำหนดจ่ายค้าจ้างทุกวันที่25 ของเดือน ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า12,869 บาท และค่าชดเชย 21,450 บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรงโดยละเลยไม่นำเอกสารไปส่งให้แก่ลูกค้าของจำเลยตามหน้าที่ จนกระทั่งลูกค้าของจำเลยต้องโทรศัพท์มาทวงถามการกระทำของโจทก์ทำให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการรับส่งเอกสารและพัสดุด่วนพิเศษต้องได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงเพราะลูกค้าขาดความเชื่อถือทางการค้าการกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นความผิดต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย หมวดที่ 7 ข้อ 70 และเป็นการกระทำอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไป จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 21,450 บาทแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลย อุทธรณ์ ต่อ ศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การที่โจทก์ละเลยไม่นำเอกสารไปส่งให้แก่ลูกค้าจำเลยซึ่งเป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์ของกิจการจำเลยโดยตรงที่ประกอบกิจการรับส่งเอกสารและพัสดุภัณฑ์ด่วนพิเศษให้แก่ลูกค้าลูกค้าต้องขาดความเชื่อถือจำเลยและหันไปใช้บริการส่งเอกสารของรัฐหรือบริษัทอื่นที่ให้บริการในราคาถูกกว่าหรือเท่ากับราคาของจำเลย แต่มีความรวดเร็วและน่าเชื่อถือมากกว่าจำเลยจะถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ ปัญหานี้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยประกอบกิจการให้บริการรับส่งเอกสารและพัสดุภัณฑ์ด่วนพิเศษ และโจทก์มีหน้าที่โดยตรงในการรับส่งเอกสารดังกล่าวให้แก่ลูกค้าของจำเลยที่ใช้บริการนี้ เมื่อวันที่25 กรกฎาคม 2538 จำเลยได้รับเอกสารจากประเทศแคนาดาเพื่อให้จัดส่งแก่นายพิชัย ซึ่งอยู่ที่บริษัทเซ็นทรัลเจมส์ จำกัดพนักงานแยกเอกสารได้นำเอกสารดังกล่าวไปใส่ในช่องเอกสารของโจทก์พร้อมให้โจทก์นำส่งแก่นายพิชัยแล้ว แต่โจทก์ไม่นำส่ง จนกระทั่งวันที่ 29 กรกฎาคม 2538 พนักงานของบริษัทเซ็นทรัลเจมส์ จำกัดได้โทรศัพท์ทวงถามเอกสารดังกล่าวแก่จำเลย พนักงานของจำเลยค้นหาเอกสารพบอยู่ในกระเป๋าใส่เอกสารประจำตัวของโจทก์ซึ่งโจทก์ทิ้งไว้ที่บริษัทจำเลย สาเหตุที่โจทก์ไม่ได้ส่งเอกสารรายนี้ให้แก่นายพิชัยเพราะโจทก์ไม่ได้ผ่านไปทางบริษัทเซ็นทรัลเจมส์ จำกัด การที่โจทก์ละเลยไม่นำเอกสารไปส่งให้แก่ลูกค้าของจำเลยดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยบกพร่องและไม่เอาใจใส่ต่อหน้าที่การงานเท่าที่ควร ทั้งเป็นการกระทำอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต ศาลฎีกาเห็นว่ากิจการของจำเลยในการให้บริการรับส่งเอกสารและพัสดุภัณฑ์ด่วนพิเศษจะดำเนินการอยู่ได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับความเชื่อถือของลูกค้าในการให้บริการของจำเลยที่จะต้องจัดการนำส่งเอกสารและพัสดุภัณฑ์ให้แก่ลูกค้าอย่างรวดเร็วและถูกต้องปรากฏว่าเอกสารของนายพิชัยลูกค้าจำเลยรายนี้ส่งมาถึงจำเลยตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2538 พนักงานแยกเอกสารได้นำเอกสารดังกล่าวไปใส่ในช่องเอกสารของโจทก์แล้ว แต่โจทก์ละเลยไม่นำเอกสารไปส่งให้แก่ลูกค้าจำเลย จนเป็นเหตุให้ลูกค้าต้องโทรศัพท์ทวงถามเอกสารจากจำเลยในวันที่ 29 กรกฎาคม 2538 จึงได้มีการตรวจค้นพบเอกสารอยู่ในกระเป๋าใส่เอกสารประจำตัวของโจทก์ซึ่งทิ้งไว้ที่บริษัทจำเลย พฤติการณ์การกระทำของโจทก์ย่อมส่งผลกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือของลูกค้าที่มีแก่บริการรับส่งเอกสารของจำเลยเป็นอย่างยิ่ง ถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อ 70 ข้อ 96 และข้อ 99.4 กรณีร้ายแรงจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(4)ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share