คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5103/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรียกเอาค่าบำเหน็จนายหน้าโดยที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความเกี่ยวกับนายหน้าไว้เป็นพิเศษแต่อย่างใดจึงต้องใช้อายุความทั่วไปซึ่งมีกำหนด10ปี สัญญาจะให้ค่านายหน้าแก่โจทก์มีสองจำนวนจำนวนแรกคือร้อยละ5ของราคาไร่ละ160,000บาทกับอีกจำนวนหนึ่งถ้าโจทก์ขายได้เกินกว่านี้ส่วนที่เกินนั้นเป็นของโจทก์เมื่อโจทก์ชี้ช่องให้จำเลยผู้จะขายได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับผู้จะซื้อแล้วถือได้ว่าได้มีการทำสัญญากันเป็นผลสำเร็จเนื่องแต่ผลแห่งการที่โจทก์เป็นนายหน้าชี้ช่องหรือจัดการแล้วแม้ว่าผู้จะซื้อผิดนัดไม่มารับโอนที่ดินจนเป็นเหตุให้จำเลยริบมัดจำก็ไม่เป็นผลให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิดส่วนข้อความที่ว่าส่วนที่เกินกว่านี้จะเป็นของนายหน้าผู้เดียวนั้นเป็นข้อตกลงพิเศษอีกส่วนหนึ่งแยกจากกันได้กับข้อตกลงที่ให้บำเหน็จร้อยละ5ค่าบำเหน็จส่วนนี้ย่อมมีความหมายว่าหากมีการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดอันเป็นผลจากที่โจทก์เป็นนายหน้าชี้ช่องหรือจัดการเมื่อจำเลยกับผู้จะซื้อไม่มีการซื้อขายกันจำเลยก็ไม่ต้องรับผิดจ่ายส่วนที่เกินแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ตกลงให้โจทก์เป็นนายหน้าขายที่ดินผู้จะซื้อวางมัดจำไว้ แต่ผู้จะซื้อผิดนัดไม่ชำระเงินส่วนที่เหลือจำเลยริบเงินมัดจำโจทก์จึงมีสิทธิได้ค่านายหน้าร้อยละ 5 จากเงินค่ามัดจำที่จำเลยริบไว้ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน25,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยตกลงให้โจทก์เป็นนายหน้าขายที่ดินจริง แต่การซื้อขายไม่สำเร็จ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่านายหน้าโจทก์ฟ้องคดีเมื่อล่วงพ้นกำหนด 2 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 25,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องเรียกเอาค่าบำเหน็จนายหน้าโดยที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความเกี่ยวกับนายหน้าไว้เป็นพิเศษแต่อย่างใดจึงต้องใช้อายุความทั่วไป ซึ่งมีกำหนด 10 ปีที่จำเลยฎีกาว่ามีอายุความ 2 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/34(1) และ (7) นั้นฟังไม่ขึ้น คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความสัญญาจะให้ค่านายหน้าแก่โจทก์มีสองจำนวน จำนวนแรกคือร้อยละ 5 ของราคาไร่ละ 160,000 บาท กับอีกจำนวนหนึ่งถ้าโจทก์ขายได้เกินกว่านี้ส่วนที่เกินนั้นเป็นของโจทก์ เมื่อโจทก์ได้ชี้ช่องให้จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินดังกล่าวกับนางเสงี่ยมผู้จะซื้อแล้วในราคาไร่ละ 200,000 บาท ถือได้ว่าได้มีการทำสัญญากันเป็นผลสำเร็จ เนื่องแต่ผลแห่งการที่โจทก์เป็นนายหน้าชี้ช่องหรือจัดการแล้ว แม้ว่าผู้จะซื้อผิดนัดไม่มารับโอนที่ดินจนเป็นเหตุให้จำเลยริบมัดจำก็ไม่เป็นผลให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิด ส่วนข้อความที่ว่าส่วนที่เกินกว่านี้จะเป็นของนายหน้าผู้เดียวนั้นเป็นข้อตกลงพิเศษอีกส่วนหนึ่งแยกจากกันได้กับข้อตกลงที่ให้บำเหน็จร้อยละ 5 ค่าบำเหน็จส่วนนี้ย่อมมีความหมายว่าหากมีการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดอันเป็นผลจากที่โจทก์เป็นนายหน้าชี้ช่องหรือจัดการเมื่อจำเลยกับผู้จะซื้อไม่มีการซื้อขายกัน จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดจ่ายส่วนที่เกินแก่โจทก์
พิพากษายืน

Share