คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4054/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยให้การปฏิเสธฟ้องของโจทก์ว่าโจทก์เป็นหญิงมีสามีแต่โจทก์ไม่ได้แนบหนังสือให้ความยินยอมมาท้ายคำฟ้อง ฟ้องของโจทก์ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายโดยมิได้อ้างเหตุแห่งการนี้ว่าที่พิพาทเป็นสินสมรส จึงไม่มีปัญหาที่จะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1479 จำเลยจะอ้างข้อสันนิษฐานตามมาตรา 1475 วรรคท้ายมาใช้โดยจำเลยมิได้ให้การไว้โดยชัดแจ้งหาได้ไม่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 182 มิได้บังคับให้มีการชี้สองสถานทุกคดีไป เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วก็ย่อมมีอำนาจงดชี้สองสถานและงดสืบพยานโจทก์จำเลยได้ ไม่เป็นการขัดต่อกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่พิพาท และเรียกค่าเสียหาย

จำเลยให้การว่า นางสอิ้ง ภูมิสวัสดิ์ มารดาจำเลย ผู้เช่าที่พิพาทจากโจทก์มีข้อตกลงกับโจทก์เป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่า และสิทธิตามสัญญาต่างตอบแทนตกทอดเป็นมรดกแก่จำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้อง และฟ้องไม่สมบูรณ์ เพราะโจทก์เป็นหญิงมีสามีแต่ไม่ได้แนบหนังสือให้ความยินยอมมาท้ายคำฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงสั่งงดสืบพยานแล้วพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากที่พิพาท และชดใช้ค่าเสียหาย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่หญิงมีสามีฟ้องคดีโดยต้องมีหนังสือให้ความยินยอมของสามีเป็นกรณีเฉพาะการฟ้องคดีเกี่ยวกับสินสมรสเท่านั้น เพราะสามีและภริยาเป็นผู้จัดการสินสมรสร่วมกัน แต่ถ้าเป็นสินส่วนตัวแล้วภริยาย่อมฟ้องคดีได้โดยลำพัง จำเลยให้การปฏิเสธฟ้องของโจทก์ว่าโจทก์เป็นหญิงมีสามี แต่โจทก์ไม่ได้แนบหนังสือให้ความยินยอมมาท้ายคำฟ้อง ฟ้องของโจทก์ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย โดยมิได้อ้างเหตุแห่งการนี้ว่าที่พิพาทเป็นสินสมรส ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าไม่มีปัญหาที่จะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1479 จึงถูกต้องแล้ว จำเลยจะอ้างข้อสันนิษฐานตามมาตรา 1474 วรรคท้ายมาใช้โดยจำเลยมิได้ให้การไว้โดยชัดแจ้งหาได้ไม่

และคดีจะมีการชี้สองสถานได้ก็ต่อเมื่อคู่ความทั้งสองฝ่ายยื่นคำขอให้ชี้สองสถาน หรือถ้าศาลเห็นว่าการชี้สองสถานจะกระทำให้การพิจารณาคดีง่ายเข้ามิใช่บังคับให้มีการชี้สองสถานทุกคดีไป คดีนี้ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงงดชี้สองสถานและงดสืบพยานโจทก์จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าศาลชั้นต้นมีอำนาจกระทำได้ไม่เป็นการขัดต่อกฎหมายจึงถูกต้องแล้ว

พิพากษายืน

Share