คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3923/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 31 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า ‘เมื่อได้มีการแจ้งข้อเรียกร้องตามมาตรา 13 แล้ว ถ้าข้อเรียกร้องนั้นอยู่ในระหว่างการเจรจา การไกล่เกลี่ย หรือ การชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานตามมาตรา 13 ถึงมาตรา 29 ห้ามมิให้ นายจ้างเลิกจ้างหรือโยกย้ายหน้าที่การงานลูกจ้างผู้แทนลูกจ้างกรรมการ อนุกรรมการ หรือสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือกรรมการหรือ อนุกรรมการสหพันธ์แรงงานซึ่งเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง’ การที่โจทก์ บรรยายฟ้องว่าจำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างประจำ โดยไม่เป็นธรรม ไร้เหตุผลในระหว่างการเจรจาข้อเรียกร้องซึ่งโจทก์ ได้ยื่นข้อเรียกร้องไว้ต่อจำเลยตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 นั้น เป็นการบรรยายการกระทำผิดของจำเลยทั้งสอง ครบองค์ประกอบความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว ส่วนการกระทำ ของจำเลยทั้งสองเป็นกรณีไม่เป็นธรรมหรือไร้เหตุผลหรือไม่ ไม่ใช่องค์ประกอบของความผิดนั้นฉะนั้นโจทก์จะบรรยายฟ้องไว้หรือไม่ก็ตาม ไม่ทำให้ฟ้องของโจทก์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมและไร้เหตุผลในระหว่างการเจรจาข้อเรียกร้องซึ่งโจทก์ได้ยื่นไว้ต่อจำเลย ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๓๑, ๑๓๖ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล จึงประทับรับฟ้องไว้พิจารณา
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ครั้นวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงสั่งงดสืบพยาน
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมหรือไร้เหตุผล แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่า จำเลยกระทำผิดอย่างไรซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมหรือไร้เหตุผล ฟ้องของโจทก์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘ (๕) พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายการกระทำผิดของจำเลยครบถ้วนตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๓๑ แล้ว จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๓๑ วรรคหนึ่ง ซึ่งโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดนั้น บัญญัติว่า”เมื่อได้มีการแจ้งข้อเรียกร้องตามมาตรา ๑๓ แล้ว ถ้าข้อเรียกร้องนั้นยังอยู่ในระหว่างการเจรจา การไกล่เกลี่ย หรือการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานตามมาตรา ๑๓ ถึงมาตรา ๒๙ ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างหรือโยกย้ายหน้าที่การงานลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการอนุกรรมการ หรือสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือกรรมการหรืออนุกรรมการสหพันธ์แรงงานซึ่งเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง” การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยมีคำสั่งเลิกจ้าง โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างประจำโดยไม่เป็นธรรม ไร้เหตุผลในระหว่างการเจรจาข้อเรียกร้องซึ่งโจทก์ได้ยื่นข้อเรียกร้องไว้ต่อจำเลยตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ นั้นจึงเป็นการบรรยายการกระทำผิดของจำเลยทั้งสองครบองค์ประกอบความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว ส่วนการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรณีไม่เป็นธรรมหรือไร้เหตุผลหรือไม่ ไม่ใช่องค์ประกอบของความผิด ฉะนั้น โจทก์จะบรรยายฟ้องไว้หรือไม่ก็ตาม ไม่ทำให้ฟ้องของโจทก์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘ (๕)
พิพากษายืน

Share