แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
บริษัทนายจ้างประกาศหยุดพักการผลิตและปิดโรงงานเพราะเงินทุนและวัตถุดิบไม่พอ ไม่ได้อ้างข้อที่คนงานหยุดงาน จึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่นายจ้างจะไม่จ่ายเงินชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงินประกัน 200 บาทแก่โจทก์ ยกข้อหาคืนศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้จำเลยจ่ายเงินชดเชยค่าล่วงเวลา 27,024.50 บาทกับดอกเบี้ย จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติฟังได้ในเบื้องต้นว่าเดิมโจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัทจำเลย โดยเข้าเป็นลูกจ้างเมื่อวันที่ 6 มกราคม2515 ในตำแหน่งวิศวกรควบคุม ค่าจ้างเดือนละ 3,000 บาท เมื่อประมาณพ.ศ. 2516 โจทก์ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการค่าจ้างเดือนละ 3,960 บาทเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2519 คนงานของบริษัทจำเลยนัดหยุดงาน ต่อมาวันที่ 29เดือนเดียวกัน บริษัทจำเลยประกาศหยุดพักการผลิตและปิดโรงงานชั่วคราวโดยไม่มีกำหนดตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2519 และบอกเลิกการจ้างต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตลอดจนคนงานทุกคนของโรงงานทุกระดับชั้นรวมทั้งโจทก์ด้วย ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1 ต่อมาวันที่ 24 มิถุนายน 2519 บริษัทจำเลยประกาศให้พนักงานและคนงานทุกคนไปรายงานตัวที่โรงงานของบริษัทจำเลยระหว่างวันที่ 24 มิถุนายน2519 ถึงวันที่ 10 กรกฎาคม 2519 ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.2 วันที่ 25 มิถุนายน2519 โจทก์ให้ทนายความมีหนังสือแจ้งให้บริษัทจำเลยจ่ายเงินชดเชย เงินประกันและค่าล่วงเวลาให้โจทก์ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2 ต่อมาวันที่ 27 กันยายน2519 บริษัทจำเลยปิดประกาศให้พนักงานและคนงานที่ยังไม่ไปรายงานตัวให้ไปรายงานตัวตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2519 ถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2519 หากพ้นกำหนดแล้วถือว่าสละสิทธิการเข้าทำงานปรากฏตามเอกสารหมาย ล.3 และวันที่ 8 ตุลาคม2519 กระทรวงมหาดไทยประกาศให้นายจ้างซึ่งปิดงานรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานและให้ลูกจ้างซึ่งนัดหยุดงานกลับเข้าทำงานตามปกติภายในวันที่ 15 ตุลาคม2519 ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.4 โจทก์ไปรายงานตัวที่โรงงานของบริษัทจำเลยเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2519 หลังจากพ้นกำหนดที่ประกาศในเอกสารหมาย จ.2แล้ว แต่โจทก์ไม่ได้กลับเข้าทำงานที่บริษัทจำเลยอีก” ฯลฯ
“ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ต้องใช้เงินชดเชยให้โจทก์ โดยอ้างว่าโจทก์ร่วมกับคนงานนัดหยุดงานโดยไม่แจ้งให้บริษัทจำเลยทราบล่วงหน้า 24 ชั่วโมง และละทิ้งหน้าที่ทำให้บริษัทจำเลยเสียหาย เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของบริษัทจำเลย เป็นความผิดตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 47(2) และผิดกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 34(1) และเมื่อโจทก์ลงชื่อรายงานตัวตามประกาศของบริษัทจำเลยตามเอกสารหมาย ล.2 แล้วโจทก์ไม่ไปรายงานตัวเพื่อกลับเข้าทำงานตามที่บริษัทจำเลยออกประกาศตามเอกสารหมาย ล.9 และ ล.10 แสดงว่าโจทก์เจตนาสละสิทธิไม่กลับเข้าทำงานที่บริษัทจำเลยอีกนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าตามประกาศเอกสารหมาย จ.1 จำเลยอ้างเหตุที่จำเลยหยุดพักการผลิตและปิดโรงงาน กับบอกเลิกการจ้างต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตลอดจนคนงานทุกคนและทุกระดับขั้นรวมทั้งโจทก์ด้วยว่า เนื่องจากบริษัทได้ประสบผลจากการขาดทุนเรื่อยมาจนมีหนี้สินล้นพ้นทำให้ขาดเงินทุนหมุนเวียนในการจัดซื้อวัสดุและจ่ายค่าใช้จ่ายประจำเพื่อใช้ในการดำเนินการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะนี้วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตของโรงงานก็ใช้หมดสิ้นแล้วจนไม่สามารถดำเนินการผลิตสินค้าต่อไปได้ ฉะนั้นทางคณะกรรมการบริหารของบริษัทจึงเห็นสมควรให้หยุดพักการผลิตและปิดโรงงานชั่วคราวโดยไม่มีกำหนดจนกว่าเหตุการณ์ทางด้านการเงินจะได้รับการคลี่คลายให้ดีขึ้น บริษัทจำเลยมิได้อ้างข้อที่โจทก์ร่วมกับคนงานนัดหยุดงานโดยไม่บอกให้บริษัทจำเลยทราบล่วงหน้า 24 ชั่วโมง มาเป็นข้ออ้างในการหยุดพักการผลิตและปิดโรงงานกับบอกเลิกการจ้าง ทั้งในประกาศดังกล่าวบริษัทจำเลยยังรับจะใช้เงินชดเชยให้แก่ลูกจ้างของจำเลยที่ถูกบอกเลิกการจ้างรวมทั้งโจทก์ด้วยโดยกล่าวว่า ส่วนเงินชดเชยสำหรับการเลิกจ้างแรงงานนั้น ขณะนี้บริษัทยังไม่มีเงินเพียงพอที่จะจ่าย แต่จะพยายามจ่ายชดเชยให้เท่าที่จะทำได้นอกจากนี้นายชัยสิทธิ์ สัจจะปรเมษฐ์ พยานจำเลยซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการทั่วไปของบริษัทจำเลยยังเบิกความว่า จำเลยมิได้ถือการนัดหยุดงานเป็นหตุเลิกจ้างเหตุเลิกจ้างคนงานของจำเลยนั้นถือเหตุตามประกาศเอกสารหมาย จ.1 จึงฟังได้ว่าที่บริษัทจำเลยเลิกจ้างโจทก์และคนงานอื่น ๆ เนื่องจากบริษัทจำเลยต้องหยุดกิจการเพราะฐานะการเงินไม่ดีมิใช่เลิกจ้างเพราะโจทก์ทำความผิดโดยร่วมกับคนงานอื่นนัดหยุดงานโดยไม่บอกกล่าวให้บริษัทจำเลยทราบล่วงหน้า กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยให้ลูกจ้างดังที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 47ส่วนที่โจทก์ไม่ไปรายงานตัวเพื่อกลับเข้าทำงานตามที่บริษัทจำเลยออกประกาศตามเอกสารหมาย ล.9 และ ล.10 นั้น ไม่เป็นเหตุให้จำเลยหลุดพ้นจากการรับผิดจ่ายเงินชดเชยให้โจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 ซึ่งแก้ไขโดยประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานฉบับลงวันที่ 13 มิถุนายน 2517 ข้อ 1 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าล่วงเวลาเพราะโจทก์เป็นผู้ช่วยผู้จัดการมีหน้าที่ควบคุมคนงาน เป็นตำแหน่งที่มีอำนาจทำการงานแทนนายจ้างและโจทก์ไม่ได้ทำคำขอเบิกค่าล่วงเวลาตามแบบพิมพ์เอกสารหมาย ล.7 ตามระเบียบของบริษัทจำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตำแหน่งที่โจทก์ทำงานในบริษัทจำเลยคือตำแหน่งวิศวกรควบคุมและตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการนั้น ไม่ปรากฏตามทางนำสืบของจำเลยว่าเป็นตำแหน่งเทียบเท่าผู้อำนวยการ ผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายหรือหัวหน้างาน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทำการแทนนายจ้างสำหรับกรณีการจ้าง การลดค่าจ้าง การเลิกจ้าง การให้บำเหน็จ การลงโทษหรือการวินิจฉัยข้อร้องทุกข์ตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16เมษายน 2515 ข้อ 36(1) อย่างใด ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิได้ค่าล่วงเวลาตามประกาศดังกล่าว และโดยที่จำเลยมิได้ฎีกาโต้แย้งข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ว่าโจทก์ได้ทำงานล่วงเวลากับคำนวณเงินค่าล่วงเวลาได้เป็นเงิน 3,268.50 บาท คดีจึงฟังได้ว่าจำเลยต้องจ่ายเงินค่าล่วงเวลาให้โจทก์ตามจำนวนดังกล่าวเมื่อจำเลยมีหน้าที่ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ต้องจ่ายเงินค่าล่วงเวลาแก่โจทก์ จำเลยจะอ้างระเบียบของบริษัทจำเลยที่ว่าโจทก์ไม่เคยทำคำขอเบิกล่วงเวลาตามแบบพิมพ์เอกสารหมาย ล.7 เพื่อให้พ้นความรับผิดในเรื่องนี้หาได้ไม่”
พิพากษายืน