คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 665/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การนั้น ตามกฎหมายเมื่อศาลสั่งอนุญาตขยายระยะเวลาให้แล้ว จึงจะถึงชั้นพิจารณาเกี่ยวกับการสั่งรับหรือสั่งไม่รับคำให้การต่อไป หากศาลสั่งไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลา ก็ไม่ต้องพิจารณาถึงการสั่งรับหรือไม่รับคำให้การต่อไป
คำร้องขอขยายระยะเวลาไม่ใช่คำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 1(5) เพราะคำร้องดังกล่าวนี้ไม่ได้ตั้งประเด็นระหว่างคู่ความตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1(5) ฉะนั้น คำสั่งศาลในกรณีนี้จึงมิใช่คำสั่งไม่รับคำคู่ความ และเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชำระต้นเงินกู้และดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยยื่นคำร้องเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๐๗ ว่าคดีครบกำหนดจำเลยยื่นคำให้การวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๐๗ แต่จำเลยเพิ่งนำคดีมามอบให้ทนายจำเลยวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๐๗ ซึ่งในวันที่ ๔ เดือนเดียวกันทนายจำเลยเดินทางไปกิจธุระต่างจังหวัด และกลับมาถึงกรุงเทพฯ ไม่ทันเวลาราชการ จำเลยขอยื่นคำให้การต่อศาลในวันนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำร้องของจำเลยว่า จำเลยยื่นร้องขอยืดเวลายื่นคำให้การเมื่อพ้นกำหนดแล้ว ไม่อนุญาต และสั่งในคำให้การจำเลยซึ่งติดท้ายคำร้องดังกล่าวนี้ว่า จำเลยยื่นคำให้การเมื่อพ้นกำหนดแล้ว ไม่รับคำให้การจำเลย
ศาลชั้นต้นสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น ขอให้ศาลอุทธรณ์สั่งรับคำร้องของจำเลย โดยขอให้ศาลชั้นต้นไต่สวนว่าจำเลยมีเหตุเพียงใดที่จะฟังว่ายื่นคำให้การไม่ทัน
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยยืดเวลายื่นคำให้การเมื่อสิ้นระยะเวลายื่นคำให้การแล้ว ๓ วัน ทั้งเหตุที่อ้างก็หาใช่เป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยไม่ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่ากรณีที่จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การนั้น ตามกฎหมายเมื่อศาลสั่งอนุญาตขยายระยะเวลาให้แล้ว จึงจะถึงขั้นพิจารณาเกี่ยวกับการสั่งหรือสั่งไม่รับคำให้การต่อไป หากศาลสั่งไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลา ก็ไม่ต้องพิจารณาถึงการสั่งรับหรือไม่รับคำให้การต่อไป ทั้งคำร้องขอขยายระยะเวลาก็ไม่ใช่คำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑(๕) เพราะคำร้องดังกล่าวนี้ไม่ได้ตั้งประเด็นระหว่างคู่ความตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑(๕) ฉะนั้น คำสั่งของศาลในกรณีนี้จึงมิใช่คำสั่งไม่รับคำคู่ความ และเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จำเลยจะอุทธรณ์ ฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นในระหว่างพิจารณาไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๖
พิพากษายืน.

Share