แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 มาตรา 7 ซึ่งต่อมาได้ถูกแก้ไขตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. 2477 มาตรา 3 ก็ดี ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 41 ก็ดี และตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34 ก็ดี จำเลยจะได้ที่วัดไปเป็นของตนก็โดยพระราชบัญญัติทางเดียวเท่านั้น
ฎีกาจำเลยมิได้กล่าวโดยแจ้งชัดว่ากรมการศาสนาไม่มีอำนาจฟ้อง และใบมอบอำนาจใช้ไม่ได้เรียกค่าเสียหายไม่ได้เพราะเหตุใดจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 5/2509)
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกัน
โจทก์ฟ้องเป็นทำนองเดียวกันว่ากรมการศาสนารับมอบอำนาจจากพระครูธรรมลังกาวี เจ้าอาวาสวัดชลธีพฤกษารามให้ฟ้องคดี
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ นางเนียม มารดานางกิมเองจำเลยได้สร้างสำนักสงฆ์ขึ้นวัดหนึ่ง ในที่ดินของนางเนียมโดยมีนามว่าวัดดอนโตนด มีเนื้อที่ ๑๗ ไร่ ๔๘ ตารางวา ต่อมานางเนียมอุทิศที่ดินแปลงนี้บอกถวายพระราชกุศลให้ทางราชการจังหวัดชุมพร และกรมการศาสนาลงทะเบียนไว้เป็นหลักฐาน วัดโจทก์ได้ยึดถือครอบครองโดยสงบและเปิดเผยตลอดมา ต่อมา พ.ศ. ๒๔๖๕ ขุนเจริญมณีพันธ์พี่ชายนางกิมเองจำเลยได้จัดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงทะเบียนวัดโจทก์และเปลี่ยนชื่อวัดเป็นวัดชลธีพฤกษาราม อันเป็นการเปลี่ยนแปลงเขตติดต่อของวัดให้ผิดไปจากทะเบียนเดิม เพื่อเอาที่วัดกลับคืน แล้วขุนเจริญฯ ได้ครอบครองที่พิพาทในคดีแพ่งดำที่ ๑๑๗/๒๕๐๓ เมื่อขุนเจริญฯ ตาย ที่นั้นตกได้แก่นางเริ่มและจำเลยในคดีดำที่ ๑๑๗/๒๕๐๓ นางเริ่มตาย ที่นั้นก็ตกได้กับจำเลยในคดีดำที่ ๑๑๗/๒๕๐๓ จำเลยได้ร่วมกันแย่งการครอบครองในที่พิพาทส่วนที่พิพาทในคดีดำที่ ๑๑๖/๒๕๐๓ ขุนเจริญฯ ให้นางกิมซ้ายเข้าครอบครองตลอดมา จนตกได้กับนางกิมยก นางกิมยกขายที่นั้นให้นางกิมเองจำเลย นางกิมเองจำเลยได้เข้าแย่งครอบครองตลอดมา การที่จำเลยบุกรุกเข้าครอบครองที่พิพาทซึ่งเป็นของวัด เป็นเหตุให้วัดขาดประโยชน์ คือ ที่พิพาทในคดีดำ ที่ ๑๑๖/๒๕๐๓ ขาดประโยชน์เป็นเงินปีละ ๕,๐๐๐ บาท ที่พิพาทในคดีดำที่ ๑๑๗/๒๕๐๓ ขาดประโยชน์เป็นเงินปีละ ๓,๐๐๐ บาท ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่พิพาททั้งสองสำนวนเป็นของวัด
นางกิมเองจำเลยในคดีดำที่ ๑๑๖/๒๕๐๓ ให้การว่า ที่พิพาทเป็นของจำเลยไม่ใช่ของวัด ผลรายได้ในที่พิพาทในคดีดำที่ ๑๑๖/๒๕๐๓ คิดเป็นเงินเพียงปีละ ๒,๕๐๐ บาท โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
จำเลยในคดีดำที่ ๑๑๗/๒๕๐๓ ต่างให้การต่อสู้ว่าที่พิพาทในคดีดำที่ ๑๑๗/๒๕๐๓ เป็นของมารดาจำเลย จำเลยได้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายมานานแล้ว ที่พิพาทมิใช่ของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นไม่เชื่อว่าที่พิพาททั้งสองสำนวนเป็นที่วัดชลธีพฤกษารามพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เชื่อว่าที่พิพาททั้งสองสำนวนเป็นที่วัดชลธีพฤกษาราม พิพากษาว่าที่พิพาททั้งสองสำนวนเป็นของวัดโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง ให้จำเลยในสำนวนคดีดำที่ ๑๕๙๓/๒๕๐๕ (ของศาลอุทธรณ์) ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ปีละ ๒,๕๐๐ บาท กับให้จำเลยในสำนวนคดีดำที่ ๑๕๙๔/๒๕๐๕ (ของศาลอุทธรณ์) ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ปีละ ๕๐๐ บาท ทั้งนี้ เริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๐๒ เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะเลิกเกี่ยวข้องกับที่พิพาท
จำเลยทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาได้ประชุมปรึกษาคดีนี้โดยที่ประชุมใหญ่ เชื่อว่าที่พิพาททั้งสองคดีนี้เป็นที่ของวัด เมื่อฟังว่าที่พิพาททั้งสองคดีเป็นที่ของวัดแล้ว ถึงแม้จำเลยจะเป็นฝ่ายครอบครองโดยวัดโจทก์มิได้เกี่ยวข้องมาช้านานเท่าใดก็ดีหรือได้มีการโอนขายกันต่อ ๆ มา ดังจำเลยนำสืบก็ดี จำเลยก็ไม่มีทางจะได้ที่พิพาทเป็นของตน เพราะตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ มาตรา ๗ ซึ่งต่อมาได้แก้ไขตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๗๗ มาตรา ๓ ก็ดี ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๔๘๔ มาตรา ๔๑ ก็ดี และตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๓๔ ก็ดี จำเลยจะได้ที่วัดไปเป็นของตนได้ก็โดยพระราชบัญญัติทางเดียวเท่านั้น
จำเลยฎีกาว่า กรมการศาสนาไม่มีอำนาจฟ้องและใบมอบอำนาจก็ใช้ไม่ได้ เรียกค่าเสียหายไม่ได้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าฎีกาของจำเลยข้อนี้มิได้กล่าวโดยแจ้งชัดว่ากรมการศาสนาไม่มีอำนาจฟ้อง และใบมอบอำนาจใช้ไม่ได้เรียกค่าเสียหายไม่ได้เพราะเหตุใด ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๔๙
พิพากษายืน