แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ที่ดินพิพาทเดิมเป็นที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติจึงเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน การเข้ายึดถือครอบครองย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีผลให้ราษฎรผู้ครอบครองไม่อาจยกสิทธิใด ๆ ขึ้นโต้แย้งรัฐได้ แต่ในระหว่างราษฎรด้วยกันย่อมยกการยึดถือครอบครองก่อนขึ้นยันคนอื่นที่เข้ามารบกวนได้ การยึดถือครอบครองเช่นนี้สามารถเปลี่ยนมือกันได้ด้วยการส่งมอบการครอบครองให้หรือสละการครอบครองเมื่อโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจาก ช. บิดาจำเลย โจทก์จึงได้มาซึ่งสิทธิในการยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทแต่ผู้ยึดถือครอบครองที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเช่นนี้จะหวงกันผู้อื่นได้แต่ขณะที่ตนยังยึดถือครอบครองอยู่เท่านั้น ดังนั้น การที่โจทก์ให้จำเลยและผู้อื่นเช่าที่ดินพิพาทจึงเป็นการกระทำที่ไม่มีสิทธิเพราะเท่ากับนำที่ดินของรัฐไปให้บุคคลอื่นเช่าโดยรัฐไม่ยินยอมและมีผลเป็นการมอบการยึดถือครอบครองให้จำเลยและผู้เช่าอื่น ทำให้โจทก์ขาดการยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทจำเลยจึงมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า ที่ดินที่ตั้งอยู่ในนิคมสร้างตนเองลำตะคอง หมู่ที่ 4ตำบลคลองม่วง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ฉบับเล่มที่ 94 เลขที่ 4679 ที่ 2047/2527 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2528 และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ทะเบียนเลขที่ 1345 เล่ม 14 ก. หน้า 45 เลขที่ดิน 5หมายเลข 5338 (2) แผ่นที่ 92 เนื้อที่ 44 ไร่ 2 งาน 60 ตารางวา เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และให้จำเลยแก้ชื่อของจำเลยในหนังสือแสดงการทำประโยชน์และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวให้เป็นชื่อของโจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และห้ามมิให้จำเลยพร้อมทั้งบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยได้รับมาจากกรมประชาสงเคราะห์ตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพพ.ศ. 2511 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า เดิมนายชลอบิดาของจำเลยซื้อที่ดินแปลงใหญ่ซึ่งรวมทั้งที่ดินพิพาทมาจากนายเกตุ ไม่ปรากฏนามสกุล ตั้งแต่ปี 2507 ที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำเลยเข้าทำประโยชน์ร่วมกับนายชลอเมื่อปี 2512 ต่อมามีการจัดตั้งนิคมสร้างตนเองลำตะคองขึ้นตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 351 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 และที่ดินพิพาทอยู่ในเขตนิคมดังกล่าวในปี 2525นายชลอขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ หลังจากนั้นนายชลอยังขออาศัยอยู่ต่อมาส่วนจำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.7 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2526จำเลยนำที่ดินพิพาทไปสมัครเข้าเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองลำตะคองในปี 2527โจทก์จึงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทจากจำเลยไว้ ต่อมาวันที่ 25 กุมภาพันธ์2528 นิคมสร้างตนเองลำตะคองออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์สำหรับที่ดินพิพาทให้จำเลย จำเลยได้นำไปขอออกเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้วเมื่อ ปี 2533
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า ที่ดินพิพาทเดิมเป็นที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติจึงเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน การเข้ายึดถือครอบครองย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีผลให้ราษฎรผู้ครอบครองไม่อาจยกสิทธิใด ๆ ขึ้นโต้แย้งรัฐได้ แต่ในระหว่างราษฎรด้วยกันย่อมยกการยึดถือครอบครองก่อนขึ้นยันคนอื่นที่เข้ามารบกวนได้ การยึดถือครอบครองเช่นนี้สามารถเปลี่ยนมือกันได้ด้วยการส่งมอบการครอบครองให้หรือสละการครอบครองได้ เมื่อโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากนายชลอบิดาจำเลย โจทก์จึงได้มาซึ่งสิทธิในการยึดถือครอบครองที่ดินพิพาท แต่ผู้ยึดถือครอบครองที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเช่นนี้จะหวงกันผู้อื่นได้แต่ขณะที่ตนยังยึดถือครอบครองอยู่เท่านั้น ดังนั้นการที่โจทก์ให้จำเลยและผู้อื่นเช่าที่ดินพิพาทจึงเป็นการกระทำที่ไม่มีสิทธิเพราะเท่ากับนำที่ดินของรัฐไปให้บุคคลอื่นเช่าโดยรัฐไม่ยินยอม และมีผลเป็นการมอบการยึดถือครอบครองให้จำเลยและผู้เช่าอื่นทำให้โจทก์ขาดการยึดถือครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยจึงมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์”
พิพากษายืน