คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5281/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 มิได้บัญญัติว่าทางจำเป็นต้องเชื่อมต่อกับทางสาธารณะโดยตรง ความมุ่งหมายสำคัญของมาตราดังกล่าวก็เพื่อให้ที่ดินที่ถูกล้อมอยู่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้เท่านั้นดังนั้นการขอให้เปิดทางจำเป็น ปลายทางดังกล่าวหาจำต้องติดทางสาธารณะเสมอไปไม่ โจทก์ฟ้องขอให้เปิดทางพิพาทโดยอ้างว่าเป็นทางจำเป็นในที่ดินของจำเลยเพื่อผ่านออกไปสู่ที่ดินของ ช. ซึ่งเป็นทางที่ติดกับทางสาธารณะ เมื่อปรากฏว่าโจทก์ไม่สามารถใช้ที่ดินของ ช. ได้เพราะ ช. ไม่ยอมให้ใช้เช่นนี้ ทางพิพาทจึงไม่ใช่ทางจำเป็น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินของโจทก์ตกอยู่ในที่ล้อม ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะขอให้บังคับจำเลยเจ้าของที่ดินทางทิศเหนือเปิดทางเพื่อออกสู่ทางสาธารณะ จำเลยให้การว่า ที่ดินของโจทก์ไม่ได้ตกอยู่ในที่ล้อมมีทางออกสู่คลองสาธารณะ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงซึ่งโจทก์จำเลยมิได้โต้แย้งกันฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อทางราชการได้ตัดทางสาธารณะ คือซอยอ่อนนุช 1 ผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 2175 แล้ว ทำให้ที่ดินแปลงดังกล่าว แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือที่ดินส่วนทางทิศเหนือของซอยอ่อนนุช 1 ยังคงเป็นโฉนดเลขที่ 2175 สำหรับที่ดินส่วนทางด้านทิศใต้ของซอยอ่อนนุช 1 นั้นได้จดทะเบียนแบ่งแยกออกเป็นโฉนดใหม่รวม3 โฉนด คือโฉนดเลขที่ 11625 อยู่ทางด้านทิศตะวันตกและติดกับคลองบางนางจีน ถัดไปเป็นแปลงกลาง คือที่ดินโฉนดเลขที่ 11626และถัดไปทางด้านทิศตะวันออกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 11627 ทางด้านทิศเหนือของที่ดินที่แบ่งแยกแล้วแต่ละแปลงต่างติดกับซอยอ่อนนุช 1สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 11627 นั้น ต่อมาได้ตกเป็นของนายชูศักดิ์และนายชูศักดิ์ได้ทำที่ดินแปลงนี้ทั้งแปลงเป็นถนนเข้าสู่ที่ดินโฉนดเลขที่ 7226 ของตน ซึ่งอยู่ทางด้านทิศใต้ของที่ดินที่แบ่งแยกแล้วทั้ง 3 แปลง ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 11626 ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของทางส่วนบุคคลของนายชูศักดิ์ดังกล่าว ได้ถูกแบ่งแยกออกเป็น 5 โฉนด เมื่อแบ่งแยกแล้วคงเป็นโฉนดที่ 11626 ฉบับเดิม1 แปลง ซึ่งที่ดินแปลงนี้อยู่ทางด้านทิศใต้สุด ถัดขึ้นไปทางด้านทิศเหนือเป็นที่ดินโฉนดที่ 19157 ของจำเลย และถัดขึ้นไปอีกทางด้านทิศเหนือจนถึงซอยอ่อนนุช 1 เป็นที่ดินที่เหลืออีก 3 แปลงทั้งที่ดินโฉนดที่ 11626 ที่แบ่งแยกแล้ว และที่ดินโฉนดที่ 19157ของจำเลยต่างไม่ติดกับทางสาธารณะคือซอยอ่อนนุช 1 เพราะมีที่ดินแบ่งแยกใหม่อีก 3 แปลงดังกล่าวคั่นอยู่แต่จำเลยอาศัยที่ดินโฉนดเลขที่ 11627 ซึ่งเป็นทางส่วนบุคคลของนายชูศักดิ์เป็นทางเข้าออกสู่ซอยอ่อนนุช 1 ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 11626 นั้นไม่สามารถใช้ทางของนายชูศักดิ์ได้เนื่องจากมีรั้วกั้นนางสอางค์ ทองเกิด และนางสาวจรัสศรี พุ่มพวง ผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 11626 ในขณะนั้นได้เป็นโจทก์ฟ้องนายชูศักดิ์เป็นจำเลยขอให้เปิดรั้วที่กั้นเพื่อให้ได้ใช้ทางของนายชูศักดิ์โดยอ้างว่าทางดังกล่าวเป็นทางภาระจำยอมหรือทางจำเป็น ตามคดีหมายเลขแดงที่ 5010/2517 ของศาลชั้นต้น คดีดังกล่าวถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง ต่อมาที่ดินโฉนดเลขที่ 11626 จึงตกมาเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์และโจทก์ได้ฟ้องให้จำเลยเปิดทางจำเป็นตามแผนที่ท้ายฟ้องในคดีนี้เพื่อที่โจทก์จะได้ใช้ที่ดินของนายชูศักดิ์เป็นทางเข้าสู่ทางสาธารณะคือซอยอ่อนนุช 1 คดีคงมีปัญหามาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาว่า ทางที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยเปิดนั้นเป็นทางจำเป็นหรือไม่ โจทก์นำสืบว่า หากจำเลยเปิดทางให้โจทก์ตามฟ้องแล้ว โจทก์ก็สามารถใช้ที่ดินโฉนดที่ 11627 ซึ่งเป็นทางภารจำยอมออกไปสู่ทางสาธารณะคือ ซอยอ่อนนุช 1 ได้
จำเลยนำสืบว่า ที่ดินโฉนดที่ 11627 เป็นทางส่วนบุคคลของนายชูศักดิ์ นายชูศักดิ์ไม่ยินยอมให้โจทก์ใช้ทางดังกล่าวโจทก์เคยมาขอให้จำเลยเปิดทางพิพาท แต่จำเลยเปิดให้ไม่ได้ เนื่องจากนายชูศักดิ์บอกว่าหากจำเลยเปิดทางพิพาทแล้ว จะปิดกั้นไม่ยอมให้จำเลยใช้ถนนของนายชูศักดิ์
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การขอให้เปิดทางจำเป็นนั้น ปลายทางดังกล่าวหาจำต้องติดทางสาธารณะเสมอไปดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาไม่ ทั้งนี้เนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1349ไม่ได้บัญญัติว่าทางจำเป็นต้องเชื่อมต่อกับทางสาธารณะโดยตรงความมุ่งหมายที่สำคัญก็เพื่อให้ที่ดินถูกล้อมอยู่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้เท่านั้น ดังนั้นหากโจทก์สามารถใช้ที่ดินโฉนดที่ 11627ซึ่งเป็นทางของนายชูศักดิ์เป็นทางออกไปสู่ซอยอ่อนนุช 1 ได้แล้วโจทก์ก็ฟ้องขอให้จำเลยเปิดทางจำเป็นคือทางพิพาทได้ แต่เนื่องจากคดีได้ความจากคำเบิกความของตัวโจทก์เองว่า โจทก์เคยไปติดต่อขอเดินผ่านที่ดินดังกล่าวของนายชูศักดิ์แล้ว แต่นายชูศักดิ์ไม่ยินยอม จึงเป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์ไม่สามารถจะใช้ทางนั้นที่โจทก์นำสืบว่าที่ดินโฉนดที่ 11627 ของนายชูศักดิ์เป็นทางภารจำยอม หากจำเลยเปิดทางพิพาทโจทก์ก็สามารถใช้ทางภารจำยอมได้นั้น เห็นว่า แม้จะฟังว่าที่ดินโฉนดที่ 11627 ตกเป็นทางภารจำยอมดังโจทก์อ้าง แต่ก็เป็นทางภารจำยอมของเจ้าของที่ดินแปลงอื่นหาได้ตกเป็นทางภารจำยอมของโจทก์ไม่ทั้งนี้เนื่องจากศาลฎีกาได้พิพากษาในคดีที่นางสอางค์และนางสาวจรัสศรีเป็นโจทก์ฟ้องนายชูศักดิ์เป็นจำเลยว่า ที่ดินโฉนดที่ 11627 ไม่ใช่ทางภารจำยอมเจ้าของที่ดินโฉนดที่ 11626 ดังกล่าวข้างต้น และโจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 11626 มาโดยไม่เคยใช้ทางดังกล่าวเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า แม้จำเลยจะเปิดทางพิพาทให้โจทก์ โจทก์ก็ไม่สามารถใช้ที่ดินโฉนดที่ 11627 ของนายชูศักดิ์ซึ่งอยู่ต่อจากทางพิพาทไปออกทางสาธารณะคือซอยอ่อนนุช 1 ได้ เช่นนี้ ทางพิพาทจึงไม่ใช่ทางจำเป็นที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share