คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1871/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การจัดตั้งกองทุนเงินทดแทนขึ้นตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างโดยทั่วไป เพื่อให้ลูกจ้างได้รับเงินทดแทนโดยมิต้องเสี่ยงกับฐานะการเงินของนายจ้าง โดยลูกจ้างจะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกินอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิหรือประโยชน์ที่ลูกจ้างพึงได้ตามกฎหมายอื่น กรณีลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ซึ่งหากลูกจ้างได้รับเงินทดแทนครบตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 จากนายจ้างแล้ว จึงเท่ากับนายจ้างได้ทดรองจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างนั้นไปก่อน ลูกจ้างย่อมไม่มีสิทธิขอรับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนได้อีก คดีนี้เมื่อโจทก์ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานและห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ผู้รับเหมาช่วงในลำดับถัดขึ้นไปได้รับผิดชอบจ่ายค่าทดแทนตามมาตรา 18 (1) แห่ง พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือนเป็นระยะเวลา 2 เดือน 22 วัน เป็นเงิน 9,167.60 บาท และค่ารักษาพยาบาลในการที่โจทก์เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลปทุมธานีและโรงพยาบาลตำรวจให้แก่โจทก์ โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง อันเป็นการจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกินอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 ซึ่งโจทก์ยอมรับเงินทดแทนดังกล่าวโดยไม่โต้แย้งคัดค้านว่าจำนวนเงินทดแทนที่ได้รับไปแล้วไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 และไม่ปรากฏว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ยินยอมให้โจทก์ขอรับเงินทดแทนที่ได้ทดรองจ่ายไปคืนจากจำเลยที่ 2 โจทก์จึงขอรับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนอีกไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 1 ที่ 153/2554 ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2554 ให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าทดแทนตามมาตรา 18 (1) แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 ร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือน เดือนละ 3,354 บาท เป็นเวลา 2 เดือน 22 วัน เป็นเงิน 9,167.60 บาท และค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 45,000 บาท ตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา ให้เพิกถอนแนวปฏิบัติของจำเลยที่ 2 ตามหนังสือที่ รส 0711/ว 751 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2544 เรื่อง การให้ความคุ้มครองแรงงานต่างด้าวที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ให้จำเลยที่ 2 ออกคำสั่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดและสำนักงานประกันสังคมทุกจังหวัดเพื่อเพิกถอนแนวปฏิบัติตามหนังสือที่ รส 0711/ว 751 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2544 ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา และให้จำเลยที่ 2 ออกคำสั่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีและสำนักงานประกันสังคมจังหวัดปทุมธานีดำเนินการให้นายจ้างโจทก์ยื่นแบบลงทะเบียนจ่ายเงินสมทบและแบบรายการแสดงรายชื่อลูกจ้างตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลาง อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางมีคำวินิจฉัยที่ 6/2555 วินิจฉัยว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า การที่โจทก์ได้รับเงินทดแทนจากนายจ้างแล้ว โจทก์จะมีสิทธิขอรับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนอีกได้หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า คำวินิจฉัยของจำเลยที่ 1 ที่ใช้แนวปฏิบัติของจำเลยที่ 2 ตามหนังสือ รส 0711/ว 751 มาเป็นข้อพิจารณาไม่ให้โจทก์ได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนขัดต่อพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองลูกจ้างทุกคน เมื่อโจทก์เป็นลูกจ้างที่ทำงานให้แก่นายจ้างแล้วประสบอันตรายจากการทำงาน โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน จำเลยที่ 2 ต้องจ่ายเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนให้แก่โจทก์นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างได้รับการรักษาพยาบาลทันทีตามความเหมาะสมแก่อันตรายหรือความเจ็บป่วยนั้น และให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกินอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง และวรรคสอง บัญญัติว่า ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามวรรคหนึ่งโดยไม่ชักช้าเมื่อฝ่ายลูกจ้างแจ้งให้นายจ้างทราบ มาตรา 18 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือสูญหาย ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทนเป็นรายเดือนให้แก่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 แล้วแต่กรณี ดังต่อไปนี้ (1) ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน สำหรับกรณีที่ลูกจ้างไม่สามารถทำงานติดต่อกันได้เกินสามวันไม่ว่าลูกจ้างจะสูญเสียอวัยวะตาม (2) ด้วยหรือไม่ก็ตาม โดยจ่ายตั้งแต่วันแรกที่ลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้ไปจนตลอดระยะเวลาที่ไม่สามารถทำงานได้ แต่ต้องไม่เกินหนึ่งปี มาตรา 25 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การจ่ายเงินทดแทนตามหมวดนี้ ในกรณีที่นายจ้างเป็นผู้มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบ ให้สำนักงานจ่ายเงินทดแทนแก่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 แทนนายจ้างนั้น แต่ถ้านายจ้างได้ทดรองจ่ายเงินทดแทนให้ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธินั้นไปก่อน และเป็นกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่มีคำวินิจฉัยว่าลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิดังกล่าวมีสิทธิได้รับเงินทดแทน ให้นายจ้างขอรับเงินทดแทนที่ได้ทดรองจ่ายไปคืนจากสำนักงานได้ตามระเบียบที่เลขาธิการกำหนด และมาตรา 26 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ให้มีกองทุนเงินทดแทนในสำนักงานประกันสังคมเพื่อจ่ายเป็นเงินทดแทนแก่ลูกจ้างแทนนายจ้างซึ่งมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบตามมาตรา 44 และเป็นค่าใช้จ่ายตามมาตรา 43 เช่นนี้ จะเห็นว่า การจัดตั้งกองทุนเงินทดแทนขึ้นตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างโดยทั่วไป เพื่อให้ลูกจ้างได้รับเงินทดแทนโดยมิต้องเสี่ยงกับฐานะการเงินของนายจ้าง โดยลูกจ้างจะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกินอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิหรือประโยชน์ที่ลูกจ้างพึงได้ตามกฎหมายอื่น กรณีลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ซึ่งหากลูกจ้างได้รับเงินทดแทนครบตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 จากนายจ้างแล้ว จึงเท่ากับนายจ้างได้ทดรองจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างนั้นไปก่อน ลูกจ้างย่อมไม่มีสิทธิขอรับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนได้อีก คดีนี้เมื่อโจทก์ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานและห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ็น.เอส.วี. ซัพพลาย แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง ผู้รับเหมาช่วงในลำดับถัดขึ้นไปได้รับผิดชอบจ่ายค่าทดแทนตามมาตรา 18 (1) แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือนเป็นระยะเวลา 2 เดือน 22 วัน เป็นเงิน 9,167.60 บาท และค่ารักษาพยาบาลในการที่โจทก์เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลปทุมธานีและโรงพยาบาลตำรวจให้แก่โจทก์ โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง อันเป็นการจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกินอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 ซึ่งโจทก์ยอมรับเงินทดแทนดังกล่าวโดยไม่โต้แย้งคัดค้านว่าจำนวนเงินทดแทนที่ได้รับไปแล้วไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 และไม่ปรากฏว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ็น.เอส.วี. ซัพพลาย แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง ยินยอมให้โจทก์ขอรับเงินทดแทนที่ได้ทดรองจ่ายไปคืนจากจำเลยที่ 2 โจทก์จึงขอรับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนอีกไม่ได้ ที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้มีคำวินิจฉัยให้โจทก์มีสิทธิขอรับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนได้อีก และที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่าไม่มีเหตุเพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิขอรับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนแล้วจึงไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่อุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางไม่วินิจฉัยประเด็นพิพาทข้อ 4 ถึงข้อ 6 ให้ครบถ้วนอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีต้องเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน

Share