คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17605/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะที่จำเลยยังไม่มีคำสั่งแต่งตั้งโจทก์ทั้งสองเป็นนักบริหาร 8 หัวหน้าแผนก โจทก์ทั้งสองยังคงเป็นนักบริหาร 7 รองหัวหน้าแผนก ซึ่งมีสิทธิเบิกค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดได้โดยชอบตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย แม้ต่อมาวันที่ 26 มกราคม 2554 จำเลยจะมีคำสั่งแต่งตั้งโจทก์ทั้งสองเป็นนักบริหาร 8 หัวหน้าแผนก โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553 ซึ่งตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวมีสิทธิเบิกเฉพาะเบี้ยเลี้ยงตามอัตราที่ผู้ว่าการของจำเลยกำหนดเท่านั้น โดยไม่มีสิทธิเบิกค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดก็ตาม ก็ย่อมไม่กระทบสิทธิในการเบิกค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดซึ่งโจทก์ทั้งสองมีอยู่ก่อนแล้วและไม่อาจมีผลในทางที่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์ทั้งสองได้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิหักเงินที่โจทก์ทั้งสองเบิกไปเกินกว่าเบี้ยเลี้ยงระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2553 ถึงวันที่ 25 มกราคม 2554 ออกจากค่าจ้างของโจทก์ทั้งสองในเดือนกุมภาพันธ์และเดือนมีนาคม 2554 ได้

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินที่หักไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 เป็นเงิน 16,541.06 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2554 จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,125.60 บาท ที่หักไปในเดือนมีนาคม 2554 เป็นเงิน 10,973.22 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2554 จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 678.12 บาท รวมเป็นเงิน 29,318 บาท แก่โจทก์ที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 27,514.28 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยคืนเงินที่หักไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 เป็นเงิน 36,951.48 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2554 จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 2,517.33 บาท ที่หักไปในเดือนมีนาคม 2554 เป็นเงิน 16,993.13 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2554 จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,050.14 บาท รวมเป็นเงิน 57,512.08 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 53,944.61 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยคืนค่าล่วงเวลาของเดือนกุมภาพันธ์ 2554 เป็นเงิน 16,541.06 บาท และค่าล่วงเวลาของเดือนมีนาคม 2554 เป็นเงิน 10,973.22 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2554 และวันที่ 1 เมษายน 2554 ตามลำดับ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ทั้งนี้ดอกเบี้ยของต้นเงินแต่ละจำนวนนับถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 1,125.60 บาท และ 678.12 บาท และให้จำเลยคืนค่าล่วงเวลาของเดือนกุมภาพันธ์ 2554 เป็นเงิน 36,951.48 บาท และค่าล่วงเวลาของเดือนมีนาคม 2554 เป็นเงิน 16,993.13 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2554 และวันที่ 1 เมษายน 2554 ตามลำดับเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 ทั้งนี้ดอกเบี้ยของต้นเงินแต่ละจำนวนนับถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 2,517.33 บาท และ 1,050.14 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทรัฐวิสาหกิจ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ.2501 โจทก์ทั้งสองเป็นพนักงานของจำเลย อยู่ภายใต้บังคับตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 และประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 จำเลยมีคำสั่งที่ ฝทม.22/2554 แต่งตั้งให้โจทก์ทั้งสองเป็นนักบริหาร 8 หัวหน้าแผนก โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553 การทำงานของพนักงานจำเลยตกอยู่ภายใต้การคุ้มครองแรงงานตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ดังกล่าวซึ่งข้อ 31 วรรคหนึ่ง กำหนดห้ามนายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่เป็นการหักเพื่อ (1) ชำระภาษีเงินได้ตามจำนวนที่ลูกจ้างต้องจ่ายหรือชำระเงินอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ (2) ชำระค่าบำรุงสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ หรือเพื่อชำระเงินอื่นอันเป็นสวัสดิการที่สหภาพแรงงานฯ จัดให้เพื่อประโยชน์ของลูกจ้างฝ่ายเดียว โดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้าง (3) ชำระหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์หรือสหกรณ์อื่นที่มีลักษณะเดียวกันกับสหกรณ์ออมทรัพย์หรือหนี้ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของลูกจ้างฝ่ายเดียว โดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้าง (4) เป็นเงินประกันความเสียหายหรือชดใช้ค่าเสียหายแก่นายจ้าง ซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้าง และฟังข้อเท็จจริงต่อไปว่า เงินที่จำเลยหักไว้จากค่าจ้างของโจทก์ทั้งสองตามปัญหาในคดีนี้ เป็นเงินค่าล่วงเวลาของโจทก์ทั้งสอง โดยจำเลยหักออกจากค่าจ้างของโจทก์ทั้งสองในเดือนกุมภาพันธ์และเดือนมีนาคม 2554 แล้ววินิจฉัยว่า การที่จำเลยหักเงินค่าล่วงเวลาของโจทก์ที่ 1 ในเดือนกุมภาพันธ์ จำนวน 16,541.06 บาท ในเดือนมีนาคม 2554 จำนวน 10,973.22 บาท และหักเงินค่าล่วงเวลาของโจทก์ที่ 2 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 จำนวน 36,951.48 บาท ในเดือนมีนาคม 2554 จำนวน 16,993.13 บาท โดยไม่ปรากฏว่ามีข้อยกเว้นที่จะหักได้ เป็นการไม่ปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 ข้อ 31
มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยมีสิทธิหักเงินจากค่าจ้างของโจทก์ทั้งสองในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 จำนวน 16,541.06 บาท และจำนวน 36,951.48 บาท ในเดือนมีนาคม 2554 จำนวน 10,973.22 บาท และจำนวน 16,993.13 บาท ตามลำดับได้หรือไม่ เห็นว่า ขณะที่จำเลยยังไม่มีคำสั่งแต่งตั้งโจทก์ทั้งสองเป็นนักบริหาร 8 หัวหน้าแผนก โจทก์ทั้งสองยังคงมีสิทธิเบิกค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดได้โดยชอบตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย แม้ต่อมาจำเลยจะมีคำสั่งที่ ฝทม.22/2554 แต่งตั้งโจทก์ทั้งสองเป็นนักบริหาร 8 หัวหน้าแผนก โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553 ก็ย่อมไม่กระทบสิทธิในการเบิกค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดซึ่งโจทก์ทั้งสองมีอยู่ก่อนแล้ว และไม่อาจมีผลในทางที่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์ทั้งสองได้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิหักเงินจากค่าจ้างดังกล่าวของโจทก์ทั้งสอง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share