แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติ ญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ มาตรา 14 บัญญัติห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือหรือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติเป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับระหว่างรัฐกับราษฎร เป็นผลให้ราษฎรที่เข้ายึดถือครอบครองที่ดินไม่ได้สิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายทั้งไม่อาจอ้างสิทธิใด ๆ ใช้ยันรัฐได้ คำพิพากษาของศาลที่พิพากษาว่าที่พิพาทซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเป็นของโจทก์ จึงไม่ถูกต้อง แต่ในระหว่างราษฎรด้วยกันผู้ที่ครอบครองใช้ประโยชน์อยู่ก่อน ย่อมมีสิทธิที่จะไม่ถูกรบกวนโดยบุคคลอื่น เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายครอบครองใช้ประโยชน์ในที่พิพาทอยู่ก่อน แล้วจำเลยเข้าไปแย่งการครอบครอง โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนสิทธิของโจทก์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์สมัครเข้าเป็นสมาชิกของสหกรณ์นิคมปะทิวจำกัด และได้รับอนุญาตให้เข้าทำกินในที่ดินป่าสงวนแห่งชาติเพื่อการเกษตรกรรมป่าปะทิว เนื้อที่ 12 ไร่ 3 งาน 50 ตารางวาจากสหกรณ์ดังกล่าว โจทก์จึงเข้าครอบครองปลูกมะพร้าว มะม่วง ข้าวไร่กระต๊อบในที่ดิน ต่อมาวันที่ 16 พฤศจิกายน 2531 จำเลยเข้าแผ้วถางหญ้าและตัดฟันผลอาสินของโจทก์ เนื้อที่ 12 ไร่ ปลูกยางพาราเพื่อแย่งการครอบครอง ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินโจทก์ต่อไป
จำเลยให้การว่า จำเลยครอบครองที่พิพาทปลูกมะม่วง ระกำและมะพร้าวเรื่อยมา โจทก์ไม่เคยครอบครองที่พิพาท โจทก์มิใช่เจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองในที่พิพาท จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับว่า ที่พิพาทตามแผนที่เอกสารท้ายฟ้องเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องรบกวนการครอบครองของโจทก์
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า ที่พิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติน้ำตกกะเปาะซึ่งมีราษฎรบุกรุกเข้าครอบครองทำประโยชน์ ปี 2517 กรมป่าไม้ได้สำรวจจำนวนผู้บุกรุกแล้วรายงานต่อคณะรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีมีมติให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ดำเนินการจัดสรรให้ผู้บุกรุกในเขตป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าวได้ครอบครองทำประโยชน์ กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงดำเนินการจัดสรรที่ดินโดยจัดตั้งสหกรณ์นิคมปะทิวจำกัด ขึ้น มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์หรือจำเลยมีสิทธิในที่พิพาทดีกว่ากัน โจทก์มีนางพะเนาว์ ทองภูเบศร์ ซึ่งเป็นภรรยาและผู้รับมอบอำนาจโจทก์เป็นพยานว่า โจทก์และพยานเข้าครอบครองที่พิพาทด้วยกัน ปี 2519 โจทก์สมัครเข้าเป็นสมาชิกสหกรณ์นิคมปะทิว จำกัด และชำระค่าหุ้นไว้แล้ว โดยมีคำขอรับอนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยเป็นการชั่วคราว หนังสือเชิญประชุมคัดเลือกสมาชิกสหกรณ์ใบเสร็จรับเงินค่าหุ้น ใบตอบรับคำขอทำกินในป่าสงวนแห่งชาติ ใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียม ใบรับคำร้องตามเอกสารหมาย จ.1, จ.4, จ.5, จ.6, จ.7 และ จ.8 ตามลำดับเป็นพยานโจทก์ ในการเข้าทำประโยชน์พยานปลูกข้าวและมะพร้าว ต่อมาวันที่ 16 พฤศจิกายน 2531 จำเลยบุกรุกถางที่ดินของโจทก์จากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก และโจทก์มีนายปรีชา กิ้นเซี้ยงซึ่งรับราชการตำแหน่งหัวหน้านิคมสหกรณ์ปะทิวเป็นพยานว่าจากการตรวจสอบหลักฐานทางนิคมสหกรณ์ปะทิว ที่พิพาทนั้นมีโจทก์ผู้เดียวเป็นผู้ยื่นคำขอรับอนุญาตเข้าทำประโยชน์ถูกต้องตามขั้นตอน ตามเอกสารหมาย จ.1 ที่พิพาทจึงเป็นของโจทก์ กับมีนายหนู เพชรสังข์หนู นายประดิษฐ์ แจ่มจำรัส ซึ่งเป็นสมาชิกสหกรณ์นิคมปะทิว จำกัด และมีนายส้วน นาคอู้ กำนันตำบลทะเลทรัพย์ อำเภอปะทิว เป็นพยานว่าโจทก์ครอบครองที่พิพาทฝ่ายจำเลยมีจำเลยเป็นพยานว่าได้เข้าครอบครองที่พิพาทเมื่อปี 2516ต่อมาปี 2517 ได้ยื่นคำร้องแจ้งการครอบครองไว้ ปี 2520 สมัครเข้าเป็นสมาชิกสหกรณ์นิคมปะทิว จำกัด ตามใบรับคำร้อง หนังสือขอเชิญประชุมคัดเลือกสมาชิกสหกรณ์ ใบเสร็จรับเงินค่าหุ้น เอกสารหมาย ล.1, ล.2, ล.3 ตามลำดับเป็นพยาน ได้ปลูกต้นระกำ ต้นหมากไว้เป็นแนว ขณะที่ป่วยเมื่อปี 2531 โจทก์ปลูกต้นมะพร้าว ต้นกล้วยในที่ดินพิพาท จำเลยได้แจ้งความแต่พนักงานสอบสวนไม่ดำเนินการให้และมีนายวิมล เถื่อนเถาว์ นายบุญฮั้ว ผลคิด สมาชิกสหกรณ์นิคมปะทิว จำกัด นางมัลลิกา เจริญรัตน์ ประธานกรรมการดำเนินงาน เป็นพยานว่า จำเลยเข้าครอบครองที่พิพาท เห็นได้ว่าทั้งโจทก์และจำเลยต่างมีสมาชิกสหกรณ์นิคมปะทิว จำกัด มาเป็นพยานยืนยันว่า โจทก์และจำเลยต่างเข้าครอบครองที่พิพาท และทั้งสองฝ่ายต่างมีเอกสารแสดงถึงการเข้าเป็นสมาชิกสหกรณ์นิคมปะทิวจำกัด ด้วยกัน ที่จำเลยอ้างว่าเข้าครอบครองที่พิพาทเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่มีหลักฐานอย่างอื่นสนับสนุนให้น่าเชื่อว่า จำเลยครอบครองที่พิพาทมีอาณาเขตกว้างยาวเท่าไร และจดที่ดินของใครบ้างเป็นการกล่าวอ้างถึงพื้นดินลอย ๆ แต่โจทก์มีเอกสารหมาย จ.1คำขอรับอนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยเป็นการชั่วคราวมาแสดงเป็นหลักฐานว่าโจทก์เข้าครอบครองที่พิพาทระบุอาณาเขตที่ดินที่ครอบครองถึงความกว้างยาวแต่ละด้าน และแต่ละทิศว่าจดที่ดินของใคร ซึ่งได้ระบุถึงผู้ทำการรังวัดทำแผนที่ว่าเป็นใครสามารถหาตัวผู้ทำได้ และขณะที่ทำการรังวัดกันถ้าจำเลยครอบครองที่พิพาทอยู่จริง ก็น่าจะได้มีการคัดค้านไว้ แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการคัดค้านแต่ประการใด ทั้งนายปรีชาหัวหน้านิคมสหกรณ์ปะทิวซึ่งเป็นคนกลางมาเป็นพยานโจทก์ก็ยืนยันว่า คำขอรับอนุญาตสำหรับที่พิพาทมีโจทก์เพียงรายเดียว เห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักดีกว่าพยานจำเลย เชื่อว่าโจทก์เป็นผู้ครอบครองที่พิพาทหาใช่จำเลยไม่ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่พิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 มาตรา 14 บัญญัติห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือหรือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อันเป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับระหว่างรัฐกับราษฎร เป็นผลให้ราษฎรที่เข้ายึดถือครอบครองที่ดินไม่ได้สิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งไม่อาจอ้างสิทธิใด ๆใช้ยันรัฐได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในส่วนที่พิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ จึงไม่ถูกต้อง แต่ในระหว่างราษฎรด้วยกันผู้ที่ครอบครองใช้ประโยชน์อยู่ก่อน ย่อมมีสิทธิที่จะไม่ถูกรบกวนโดยบุคคลอื่น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายครอบครองใช้ประโยชน์ในที่พิพาทอยู่ก่อนแล้ว จำเลยเข้าไปแย่งการครอบครองอันเป็นการรบกวนสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนสิทธิของโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาห้ามจำเลยรบกวนการครอบครองของโจทก์นั้นในส่วนนี้ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์มีสิทธิในที่พิพาทตามแผนที่เอกสารท้ายคำฟ้องดีกว่าจำเลย ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องรบกวนการครอบครองของโจทก์ ยกคำขอที่ให้พิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3