แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยมาทวงหนี้จากผู้เสียหายโดยอ้างว่าเป็นหนี้ค่าอาหารบิดาจำเลย แต่ผู้เสียหายไม่ยอมให้ จำเลยจึงทำร้ายร่างกายผู้เสียหายและใช้อำนาจบังคับโดยพลการเอาเงินของผู้เสียหายไป แม้เงินที่เอาไปจะมีจำนวนเท่าที่ผู้เสียหายเป็นหนี้บิดาจำเลยแต่จำเลยก็ไม่มีสิทธิ์ใดๆ โดยชอบที่จะกระทำเช่นนั้นได้ กรณีถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาเอาเงินของผู้เสียหายไปโดยทุจริต การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์
ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย เมื่อพิจารณาถึงผลการตรวจชันสูตรบาดแผลแล้ว ถือว่าเป็นบาดแผลเล็กน้อยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295 แต่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 391 แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษในความผิดฐานทำร้ายร่างกายตาม ป.อ. มาตรา 295 ก็ตาม แต่เมื่อตามทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 391 โดยการทำร้ายร่างกาย ย่อมรวมถึงการใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามมาตรา 391 ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในการกระทำความผิดตามที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 295, 310, 339 ให้จำเลยใช้เงินจำนวน 550 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 310 วรรคแรก, 339 วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานชิงทรัพย์ จำคุก 5 ปี ฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง จำคุก 1 ปี ฐานทำร้ายร่างกาย จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 6 ปี 6 เดือน จำเลยให้การในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี 4 เดือน ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 440 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็น ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาของจำเลย จำเลยกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายและฐานชิงทรัพย์ตามที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาหรือไม่ พยานโจทก์มีผู้เสียหายเบิกความ วันเกิดเหตุจำเลยถือไม้ยาวประมาณ 1 วา มาทวงหนี้ผู้เสียหายที่เป็นหนี้ค่าอาหารที่กินกับบิดาจำเลย แต่ผู้เสียหายไม่ยอมให้ จำเลยเอาไม้ตีหัวจ่ายน้ำมันจนไม้หักแล้วหันมาพูดกับผู้เสียหายให้ใช้หนี้ที่กินอาหารกับบิดา ผู้เสียหายไม่ยอมให้อีก จำเลยเข้าจับคอเสื้อผู้เสียหายดึงขึ้นมาแล้วตบหน้าหลายครั้ง กระชากผู้เสียหายไปทางหน้าสำนักงานตบหน้าอีกหลายครั้ง แล้วลากผู้เสียหายไปในห้องน้ำตบหน้าอีกหลายครั้งพูดขู่เอาเงินและขังผู้เสียหายไว้ในห้องน้ำ ต่อมาจำเลยเปลี่ยนเครื่องแต่งกายแล้วมาที่ห้องน้ำอีก เอามีดปลอกผลไม้จี้คอผู้เสียหาย พูดขู่ทวงหนี้ค่าอาหารอีก แต่ผู้เสียหายไม่ยอมให้ จำเลยล้วงในกระเป๋ากางเกงเอาเงิน 550 บาท และพูดว่าเงินนี้เป็นเงินใช้หนี้ที่กินอาหารกับบิดาจำเลย แล้วจำเลยตบหน้าผู้เสียหายและขังผู้เสียหายไว้ในห้องน้ำ เห็นว่า ผู้เสียหายได้เบิกความยืนยันถึงการที่ถูกจำเลยใช้กำลังทำร้ายแล้วล้วงเอาเงินของผู้เสียหายไป ซึ่งจำเลยก็ให้การในชั้นเข้ามอบตัวและชั้นสอบสวนยอมรับว่าจำเลยได้ทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย และได้เงินจำนวน 440 บาท จากผู้เสียหายไป ตามบันทึกการมอบตัวผู้ต้องหาและแจ้งข้อกล่าวหาและบันทึกคำให้การผู้ต้องหาโดยมีพันตำรวจโทพศุตม์ พนักงานสอบสวนมาเบิกความยืนยันคำให้การของจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้เสียหายได้เบิกความไปตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนที่ได้ความจากผู้เสียหาย จำเลยมาทวงหนี้จากผู้เสียหายโดยอ้างว่าเป็นหนี้ค่าอาหารบิดาจำเลย แต่ผู้เสียหายไม่ยอมให้ ดังนั้นแม้กรณีน่าจะเป็นเรื่องที่จำเลยต้องการเงินคืนให้บิดาจำเลย เมื่อผู้เสียหายไม่ยอมให้ จำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายและใช้อำนาจบังคับโดยพลการเอาเงินของผู้เสียหายไปในขณะนั้นเท่านั้น แต่จำเลยก็ไม่มีสิทธิใด ๆ โดยชอบที่จะกระทำเช่นนั้นได้ กรณีถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาเอาเงินสดของผู้เสียหายซึ่งศาลล่างทั้งสองฟังว่าเป็นเงินจำนวน 440 บาท ไปโดยทุจริต การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่มีเจตนาทุจริตอยากได้ทรัพย์ของผู้เสียหายและจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจหลังจากเกิดเหตุไม่พบอาวุธมีดปลายแหลมที่ผู้เสียหายกล่าวอ้าง จำเลยจึงมิได้กระทำความผิดฐานชิงทรัพย์นั้นไม่มีเหตุผลให้รับฟัง ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น สำหรับความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ได้ความจากผู้เสียหาย จำเลยทำร้ายผู้เสียหายที่บริเวณลานปั๊มน้ำมัน โดยตบหน้าหลายครั้งและในห้องน้ำอีกหลายครั้ง เมื่อได้พิจารณาถึงผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์แล้วปรากฏว่า ผู้เสียหายมีบาดแผลที่มุมปากด้านในขนาดครึ่งเซนติเมตร และแผลที่คอเป็นรอยแดงยาวประมาณ 2 เซนติเมตร แพทย์มีความเห็นว่า สามารถรักษาให้หายได้ภายใน 7 วัน ถือได้ว่าเป็นบาดแผลเล็กน้อยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 แต่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ก็ตาม แต่เมื่อตามทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 โดยการทำร้ายร่างกาย ย่อมรวมถึงการใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามมาตรา 391 ด้วย ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในการกระทำความผิดตามที่พิจารณาได้ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย และกำหนดโทษให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีได้ ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่นของจำเลยอีก
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 391 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จำคุก 1 เดือน เมื่อรวมกับโทษฐานชิงทรัพย์จำคุก 5 ปี รวมเป็นจำคุก 5 ปี 1 เดือน คำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน 20 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์