คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 308/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พฤติการณ์ของจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ ไปรับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ไปจากความปกครองดูแลของจำเลยที่ 2 และที่ 3 บิดามารดาของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยินยอมอนุญาต น่าเชื่อว่าบิดามารดาของจำเลยที่ 1 ไว้วางใจให้จำเลยที่ 4 ดูแลจำเลยที่ 1 ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ออกไปข้างนอกกับจำเลยที่ 4 ถือได้ว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับดูแลจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์โดยปริยาย กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 430 แห่ง ป.พ.พ. ที่บัญญัติว่า ครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดี ชั่วครั้งคราวก็ดี จำต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิดซึ่งเขาได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้น ๆ มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร
การที่จำเลยที่ 4 เป็นผู้ยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำรถออกไปขับโดยจำเลยที่ 4 ไม่ได้ห้ามปรามทั้งที่จำเลยที่ 4 ทราบดีว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้เยาว์และไม่มีใบอนุญาตขับรถ เป็นการไม่เอาใจใส่ว่าจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์ จะขับรถไปเสี่ยงแก่การเกิดอุบัติเหตุหรือไม่ จำเลยที่ 4 ผู้รับดูแลจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์โดยปริยาย จึงมิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการดูแลจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถไปเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนอันเป็นการละเมิดต่อผู้อื่น จำเลยที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน ป.พ.พ. มาตรา 430

ย่อยาว

คดีทั้งสิบสองสำนวนนี้ เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกับคดีหมายเลขแดงที่ 3624/2556 คดีหมายเลขแดงที่ 570/2557 และคดีหมายเลขแดงที่ 565/2557 ต่อมาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ในคดีหมายเลขแดงที่ 3624/2556 ถอนฟ้อง และตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ในคดีหมายเลขแดงที่ 570/2557 คู่ความมิได้อุทธรณ์ ส่วนคดีหมายเลขแดงที่ 565/2557 ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เรียกโจทก์ในคดีดังกล่าวว่า โจทก์ที่ 20 และเรียกจำเลยทั้งเจ็ดในคดีดังกล่าวว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ตามลำดับนั้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ออกจากสารบบความ และพิพากษายกฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 4 โจทก์ที่ 20 ไม่ได้อุทธรณ์ฎีกา และศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในส่วนของโจทก์ที่ 20 คดีทั้งสามสำนวนจึงถึงที่สุด คงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะคดีสิบสองสำนวนนี้ โดยศาลชั้นต้นเรียกโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 4013/2554 ว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เรียกโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 4014/2554 ว่า โจทก์ที่ 3 และที่ 4 เรียกโจทก์ในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 4015/2554 ว่า โจทก์ที่ 5 เรียกโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 4016/2554 ว่า โจทก์ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 เรียกโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 4018/2554 ว่า โจทก์ที่ 9 ที่ 10 และที่ 11 เรียกโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 4020/2554 ว่า โจทก์ที่ 12 และที่ 13 เรียกโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 4021/2554 ว่า โจทก์ที่ 14 ที่ 15 ที่ 16 และที่ 17 เรียกโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 4022/2554 ว่า โจทก์ที่ 18 และที่ 19 เรียกโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 4024/2554 ว่า โจทก์ที่ 21 และที่ 22 เรียกโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 4027/2554 ว่า โจทก์ที่ 23 และที่ 24 เรียกโจทก์ในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 4028/2554 ว่า โจทก์ที่ 25 เรียกโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 4029/2554 ว่า โจทก์ที่ 26 ที่ 27 และที่ 28 ตามลำดับ กับเรียกจำเลยทั้งเจ็ดทั้งสิบสองสำนวนว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสิบสองสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จำนวน 10,948,734 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 10,311,006 บาท โจทก์ที่ 3 และที่ 4 จำนวน 9,871,847 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 9,296,844 บาท โจทก์ที่ 5 จำนวน 12,251,293 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 11,573,683 บาท โจทก์ที่ 6 จำนวน 2,852,905 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 2,686,753 บาท โจทก์ที่ 7 และที่ 8 จำนวน 753,946 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 710,000 บาท โจทก์ที่ 9 ถึงที่ 11 จำนวน 13,212,630 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 12,448,688 บาท โจทก์ที่ 12 และที่ 13 จำนวน 11,051,483 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 10,407,644 บาท โจทก์ที่ 14 ถึงที่ 17 จำนวน 14,781,222.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 13,920,264.16 บาท โจทก์ที่ 18 และที่ 19 จำนวน 19,430,444.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 18,298,683.68 บาท โจทก์ที่ 20 จำนวน 363,626 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 342,446 บาท โจทก์ที่ 21 และที่ 22 จำนวน 19,041,089.38 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 17,932,007.38 บาท โจทก์ที่ 23 และที่ 24 จำนวน 1,413,807.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 1,331,454 บาท โจทก์ที่ 25 จำนวน 718,023.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 676,215 บาท โจทก์ที่ 26 ถึงที่ 28 จำนวน 3,336,147.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 3,141,822 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 และที่ 7 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ทั้งยี่สิบแปดยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและให้จำหน่ายคดีโจทก์ทั้งยี่สิบแปดในส่วนของจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 1,000,000 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 1,500,000 บาท โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 1,000,000 บาท โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 1,500,000 บาท โจทก์ที่ 5 เป็นเงิน 1,800,000 บาท โจทก์ที่ 6 เป็นเงิน 800,000 บาท โจทก์ที่ 7 เป็นเงิน 10,000 บาท โจทก์ที่ 8 เป็นเงิน 10,000 บาท โจทก์ที่ 9 เป็นเงิน 1,000,000 บาท โจทก์ที่ 10 เป็นเงิน 1,500,000 บาท โจทก์ที่ 11 เป็นเงิน 1,000,000 บาท โจทก์ที่ 12 เป็นเงิน 1,500,000 บาท โจทก์ที่ 13 เป็นเงิน 1,800,000 บาท โจทก์ที่ 14 เป็นเงิน 1,500,000 บาท โจทก์ที่ 15 เป็นเงิน 1,000,000 บาท โจทก์ที่ 16 เป็นเงิน 1,500,000 บาท โจทก์ที่ 17 เป็นเงิน 1,800,000 บาท โจทก์ที่ 18 เป็นเงิน 1,500,000 บาท โจทก์ที่ 19 เป็นเงิน 1,000,000 บาท โจทก์ที่ 20 เป็นเงิน 100,212 บาท โจทก์ที่ 21 เป็นเงิน 1,500,000 บาท โจทก์ที่ 22 เป็นเงิน 1,500,000 บาท โจทก์ที่ 23 เป็นเงิน 400,000 บาท โจทก์ที่ 24 เป็นเงิน 4,000 บาท โจทก์ที่ 25 เป็นเงิน 150,000 บาท โจทก์ที่ 26 เป็นเงิน 256,925 บาท โจทก์ที่ 27 เป็นเงิน 100,000 บาท และโจทก์ที่ 28 เป็นเงิน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ละราย ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งยี่สิบแปด เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์แต่ละสำนวนชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความสำนวนละ 10,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งยี่สิบแปดในส่วนของจำเลยที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งยี่สิบแปดกับจำเลยที่ 4 ให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ที่ 5 และที่ 11 กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์ สำหรับโจทก์ที่ 5 อุทธรณ์โดยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 800,000 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 1,200,000 บาท โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 800,000 บาท โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 1,200,000 บาท โจทก์ที่ 5 เป็นเงิน 1,440,000 บาท โจทก์ที่ 9 เป็นเงิน 800,000 บาท โจทก์ที่ 10 เป็นเงิน 1,200,000 บาท โจทก์ที่ 11 เป็นเงิน 800,000 บาท โจทก์ที่ 12 เป็นเงิน 1,200,000 บาท โจทก์ที่ 13 เป็นเงิน 1,440,000 บาท โจทก์ที่ 14 เป็นเงิน 1,200,000 บาท โจทก์ที่ 15 เป็นเงิน 800,000 บาท โจทก์ที่ 16 เป็นเงิน 1,200,000 บาท โจทก์ที่ 17 เป็นเงิน 800,000 บาท โจทก์ที่ 18 เป็นเงิน 1,200,000 บาท โจทก์ที่ 19 เป็นเงิน 800,000 บาท โจทก์ที่ 21 เป็นเงิน 1,200,000 บาท โจทก์ที่ 22 เป็นเงิน 1,200,000 บาท โจทก์ที่ 25 เป็นเงิน 120,000 บาท โจทก์ที่ 26 เป็นเงิน 226,925 บาท โจทก์ที่ 27 เป็นเงิน 80,000 บาท และโจทก์ที่ 28 เป็นเงิน 120,000 บาท และให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต่อโจทก์ที่ 5 และที่ 11 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ที่ 5 และที่ 11 โดยกำหนดค่าทนายความให้คนละ 5,000 บาท สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ที่โจทก์ที่ 5 ได้รับยกเว้นนั้น ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 นำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์ที่ 5
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ที่ 9 ถึงที่ 19 ที่ 21 ที่ 22 ที่ 25 ถึงที่ 28 และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 9 ที่ 15 ที่ 19 และที่ 25 ถึงที่ 28 จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้ ส่วนโจทก์ที่ 17 ฎีกาโดยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล สำหรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นั้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เฉพาะในส่วนของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 ที่ 9 ถึงที่ 19 และที่ 21 ถึงที่ 23 และไม่รับฎีกาในส่วนของโจทก์ที่ 7 ที่ 8 ที่ 20 และที่ 24 ถึงที่ 28 เพราะต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับในขณะยื่นฟ้อง
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า ขณะเกิดเหตุละเมิดคดีนี้ จำเลยที่ 1 เป็นผู้เยาว์ มีอายุ 16 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 6 เป็นผู้ครอบครองรถยนต์หมายเลขทะเบียน ฎว 8461 กรุงเทพมหานคร และเอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 7 จำเลยที่ 5 สามีจำเลยที่ 6 นำรถยนต์คันดังกล่าวไปให้จำเลยที่ 4 ครอบครอง เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2553 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ฎว 8461 กรุงเทพมหานคร ไปตามทางยกระดับอุตราภิมุขขาเข้าจากดอนเมืองมุ่งหน้าไปดินแดงด้วยความเร็วสูง เมื่อถึงบริเวณใกล้ทางลงบางเขน รถของจำเลยที่ 1 ชนท้ายรถตู้โดยสารหมายเลขทะเบียน 13 – 7795 กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีนางนฤมล เป็นผู้ขับ และมีนางสาวจันจิรา นายปรัชญา นางสาวตรอง นายภิญโญ นางสาวสุดาวดี นายอุกฤษฎ์ นายศาสตรา นายเกียรติมันต์ โจทก์ที่ 6 ที่ 20 ที่ 23 และที่ 26 นั่งโดยสารมาด้วยเมื่อเกิดเหตุเฉี่ยวชนทำให้รถตู้โดยสารเสียหลักไปชนขอบกำแพงคอนกรีตด้านซ้าย เสาไฟฟ้าและเสาป้ายบอกทาง แล้วรถตู้โดยสารตกมาที่พื้นทางลงจากทางยกระดับ ส่วนรถคันที่จำเลยที่ 1 ขับเสียหลักไปชนขอบกำแพงคอนกรีตด้านขวาและหมุนกลับไปชนรถตู้โดยสาร เป็นเหตุให้นางนฤมล นายปรัชญา นางสาวตรอง นายภิญโญ นางสาวสุดาวดี นายอุกฤษฎ์ นายศาสตรา นายเกียรติมันต์ ถึงแก่ความตาย นางสาวจันจิราได้รับบาดเจ็บและต่อมาถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 6 ที่ 20 ที่ 23 และที่ 26 ได้รับบาดเจ็บอันตรายสาหัส และทรัพย์สินของโจทก์ที่ 20 และที่ 23 ได้รับความเสียหาย โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสาวจันจิรา โจทก์ที่ 3 และที่ 4 เป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายปรัชญา โจทก์ที่ 5 เป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสาวตรอง โจทก์ที่ 7 และที่ 8 เป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 6 โจทก์ที่ 9 และที่ 10 เป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายและโจทก์ที่ 11 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายภิญโญ โจทก์ที่ 12 และที่ 13 เป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสาวสุดาวดี โจทก์ที่ 14 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายอุกฤษฎ์ มีโจทก์ที่ 17 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ที่ 15 และที่ 16 เป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายอุกฤษณ์ โจทก์ที่ 18 เป็นผู้รับนายศาสตราเป็นบุตรบุญธรรม โจทก์ที่ 19 เป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายศาสตรา โจทก์ที่ 21 และที่ 22 เป็นมารดาและบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเกียรติมันต์ โจทก์ที่ 24 เป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 23 โจทก์ที่ 25 เป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายและโจทก์ที่ 26 เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางนฤมล มีโจทก์ที่ 27 และที่ 28 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย หลังเกิดเหตุพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญา ศาลในคดีอาญาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความเร็วสูงแล่นแซงรถตู้โดยสาร แล้วรถของจำเลยที่ 1 เสียหลักชนท้ายรถตู้โดยสาร จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายประมาท ให้ลงโทษจำคุกโดยรอการลงโทษไว้ คดีอาญาถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขแดงที่ 23541/2556 จำเลยที่ 7 ผู้รับประกันภัยรถคันที่จำเลยที่ 1 ขับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทของผู้ตายรายละ 200,000 บาท และชำระค่ารักษาพยาบาลนางสาวจันจิราก่อนถึงแก่ความตาย รวมทั้งค่ารักษาพยาบาลโจทก์ที่ 6 ที่ 20 ที่ 23 และที่ 26 ผู้บาดเจ็บ ต่อมาระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 7 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นเงิน 494,346 บาท โจทก์ที่ 3 และที่ 4 เป็นเงิน 556,956 บาท โจทก์ที่ 5 เป็นเงิน 556,956 บาท โจทก์ที่ 6 ถึงที่ 8 เป็นเงิน 334,796 บาท โจทก์ที่ 9 ถึงที่ 11 เป็นเงิน 556,956 บาท โจทก์ที่ 12 และที่ 13 เป็นเงิน 556,956 บาท โจทก์ที่ 14 ถึงที่ 17 เป็นเงิน 556,956 บาท โจทก์ที่ 18 และที่ 19 เป็นเงิน 556,956 บาท โจทก์ที่ 20 เป็นเงิน 50,000 บาท โจทก์ที่ 21 และที่ 22 เป็นเงิน 556,956 บาท โจทก์ที่ 23 และที่ 24 เป็นเงิน 401,037 บาท โจทก์ที่ 25 เป็นเงิน 556,956 บาท และโจทก์ที่ 26 ถึงที่ 28 เป็นเงิน 401,037 บาท โจทก์ทั้งยี่สิบแปดขอถอนฟ้องจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 โดยไม่ติดใจเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 7 ต่อไป
เนื่องจากความปรากฏว่า ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ที่ 6 ถึงที่ 8 กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ซึ่งเป็นคู่ความในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 4016/2554 ของศาลชั้นต้น ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยโจทก์ที่ 6 ถึงที่ 8 ยินยอมรับค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รวมเป็นเงิน 500,000 บาท และได้รับเงินดังกล่าวไปเรียบร้อยแล้ว และโจทก์ที่ 6 ถึงที่ 8 ไม่ติดใจเรียกร้องใดๆ จากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อีกต่อไป ซึ่งศาลชั้นต้นได้บันทึกรายงานกระบวนพิจารณาและส่งสัญญาประนีประนอมยอมความ ฉบับลงวันที่ 20 เมษายน 2561 มายังศาลฎีกาเพื่อพิพากษาตามยอม ศาลฎีกาเห็นว่า ในสำนวนดังกล่าว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกาเพียงฝ่ายเดียว และศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในส่วนของโจทก์ที่ 7 และที่ 8 คดีระหว่างโจทก์ที่ 7 และที่ 8 กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงมิได้ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกา ศาลฎีกาย่อมไม่มีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาตามยอมระหว่างโจทก์ที่ 7 และที่ 8 กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ สำหรับโจทก์ที่ 6 กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นั้น เมื่อโจทก์ที่ 6 กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา และสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมาย ศาลฎีกาจึงพิพากษาให้คดีระหว่างโจทก์ที่ 6 กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น
ส่วนที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกาขอลดจำนวนค่าเสียหายที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 23 นั้น ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชำระค่าเสียหายเป็นค่าทนทุกข์ทรมานของโจทก์ที่ 23 เป็นเงิน 400,000 บาท โจทก์ที่ 23 ไม่ได้อุทธรณ์ ส่วนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์ว่า เมื่อรถตู้โดยสารแล่นมาด้วยความเร็วสูง นางนฤมล ผู้ขับรถตู้โดยสารจึงขับรถด้วยความประมาทเช่นกัน จากพฤติการณ์ที่นางนฤมลมีส่วนประมาทในเหตุละเมิด การกำหนดค่าขาดไร้อุปการะตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงเป็นจำนวนที่สูงเกินควร ซึ่งเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งค่าเสียหายของโจทก์รายอื่น ไม่เกี่ยวข้องกับค่าเสียหายที่เป็นค่าทนทุกข์ทรมานของโจทก์ที่ 23 แต่ในชั้นฎีกาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กลับมาฎีกาขอให้ลดค่าเสียหายของโจทก์ที่ 23 เป็นเงิน 200,000 บาท ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงเป็นฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับในขณะยื่นฟ้อง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า ที่ศาลอุทธรณ์รับฟังว่า นางนฤมล ผู้ขับรถตู้โดยสารมีส่วนประมาท แล้วลดจำนวนค่าขาดไร้อุปการะที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องรับผิดนั้น ชอบแล้วหรือไม่ และสมควรให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชดใช้ค่าเสียหายเพียงใด ในปัญหานี้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ที่ 9 ถึงที่ 19 ที่ 21 ที่ 22 และที่ 25 ถึงที่ 28 ฎีกาว่า ศาลในคดีส่วนอาญาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัส ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาซึ่งถึงที่สุดจึงผูกพันจำเลยที่ 1 ส่วนในเรื่องการมีส่วนประมาทของนางนฤมล คนขับรถตู้โดยสาร ศาลในคดีส่วนอาญาไม่ได้วินิจฉัยไว้ คงมีเพียงพฤติการณ์ในการขับรถของคนขับรถตู้โดยสารเท่านั้น และไม่ได้มีพยานหลักฐานที่พิสูจน์ว่า นางนฤมลขับรถด้วยความประมาท เหตุแห่งความเสียหายจึงเกิดจากการขับรถโดยประมาทของจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียว ผู้ตายเป็นเพียงผู้โดยสารที่นั่งมาในรถตู้ ไม่ได้มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหาย และคดีนี้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การว่า เหตุเกิดจากความประมาทของนางนฤมล จำเลยที่ 2 จะต้องนำสืบพยานหลักฐานตามคำให้การ แต่จำเลยที่ 2 ไม่สืบพยาน จึงไม่มีข้อเท็จจริงให้รับฟังว่า นางนฤมลมีส่วนประมาท ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงในส่วนนี้และกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์แต่ละราย 4 ใน 5 ส่วน จึงคลาดเคลื่อนและขัดต่อกฎหมาย ส่วนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกาว่า เหตุแห่งความเสียหายมิได้เกิดจากจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิดฝ่ายเดียว จำเลยที่ 1 ให้การต่อพนักงานสอบสวนในเรื่องที่รถตู้โดยสารแล่นคร่อมช่องทาง จำเลยที่ 1 กะพริบไฟขอทาง รถตู้โดยสารแล่นเปลี่ยนช่องทางจากขวาสุดมาช่องกึ่งกลาง เมื่อจำเลยที่ 1 เร่งความเร็วเพื่อขับแซงรถตู้โดยสาร ทันใดนั้นรถตู้โดยสารแล่นเบนหัวมาช่องขวาสุด ทำให้จำเลยที่ 1 ตกใจ ห้ามล้อพร้อมบีบแตรและหักพวงมาลัยไปทางซ้าย แต่ตามคำฟ้องในคดีอาญาไม่ปรากฏเรื่องการกะพริบไฟขอทางและหลักฐานรอยห้ามล้อของรถจำเลยที่ 1 ทำให้ไม่ได้มีการพิจารณาข้อเท็จจริงซึ่งจะเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 และในส่วนของค่าเสียหาย ฝ่ายรถตู้โดยสารจะต้องรับผิดมากกว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เนื่องจากเป็นรถโดยสารสาธารณะ ทั้งในขณะเกิดเหตุรถตู้โดยสารแล่นมาด้วยความเร็วสูง และไม่ได้มีเข็มขัดนิรภัยทำให้ผู้โดยสารกระเด็นออกจากรถและเสียชีวิต แต่ผู้โดยสารไม่เรียกร้องค่าเสียหายจากฝ่ายรถตู้ ค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์แต่ละราย จึงต้องลดจำนวนลง นั้น เมื่อแต่ละฝ่ายฎีกาโต้เถียงเรื่องการมีส่วนประมาทของนางนฤมลและจำนวนค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องรับผิด จึงเห็นควรวินิจฉัยฎีกาไปพร้อมกัน เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ในคดีอาญาที่จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องในเหตุครั้งนี้ ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวรับฟังข้อเท็จจริงสรุปความได้ว่า รถของจำเลยที่ 1 เฉี่ยวชนกับรถตู้โดยสาร แล้วรถตู้โดยสารแล่นเข้าปะทะกับเสา cctv ซึ่งเป็นการชนปะทะอย่างรุนแรง เกิดความเสียหายแก่รถตู้โดยสารถึงกับหลังคาโค้งงอ ขณะรถตู้โดยสารเข้าปะทะกับเสา cctv เป็นการเข้าปะทะด้วยความแรง ซึ่งเกิดจากรถตู้โดยสารยังมีความเร็วสูงอยู่มาก พฤติการณ์แห่งคดีส่อแสดงว่า รถทั้งสองคันแล่นด้วยความเร็วสูงมาก การที่รถของจำเลยที่ 1 ซึ่งแล่นตามหลังสามารถแล่นทันและเข้าเฉี่ยวชนกับรถตู้โดยสาร แสดงว่ารถของจำเลยที่ 1 แล่นด้วยความเร็วสูงกว่ารถตู้โดยสาร จำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความเร็วสูงเกินขีดจำกัดความเร็วในทางยกระดับแล่นแซงรถตู้โดยสาร แล้วรถของจำเลยที่ 1 เสียหลักชนท้ายรถตู้โดยสารจนเกิดเหตุขึ้น จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายประมาท จำเลยที่ 1 ต้องผูกพันตามคำพิพากษาคดีส่วนอาญาซึ่งถึงที่สุดดังกล่าว ส่วนเรื่องการมีส่วนประมาทของนางนฤมล ศาลในคดีส่วนอาญามิได้วินิจฉัยไว้ และปัญหาดังกล่าวหาใช่ประเด็นโดยตรงในคดีส่วนอาญาไม่ ที่ศาลในคดีส่วนอาญาให้เหตุผลประกอบคำวินิจฉัยว่า นางนฤมลขับรถตู้โดยสารมาด้วยความเร็วสูงเป็นเพียงแสดงให้เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความเร็วที่สูงมากจนแล่นทันรถตู้โดยสารแล้วรถของจำเลยที่ 1 เสียหลักเฉี่ยวชนรถตู้โดยสารซึ่งแล่นมาด้วยความเร็วสูงเช่นกัน ทำให้รถตู้โดยสารเสียหลักไปปะทะกับเสาริมทางจนเกิดความเสียหายอย่างรุนแรง เป็นการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 1 เฉพาะจำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้กระทำความผิดในเหตุครั้งนี้ คำพิพากษาในคดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มาฎีกาในทำนองว่า คำฟ้องในคดีอาญาไม่ได้กล่าวถึงพฤติการณ์การขับรถที่ไม่เป็นปกติของนางนฤมล ซึ่งหากมีข้อเท็จจริงดังกล่าวก็จะเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 หาได้เป็นสาระแก่คดีไม่ สำหรับข้อโต้เถียงที่ว่า เหตุเกิดจากความประมาทของนางนฤมลนั้น จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้คดีเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ เมื่อฝ่ายโจทก์นำสืบถึงเหตุละเมิดที่เกิดขึ้น ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายขับรถเฉี่ยวชนรถตู้โดยสารก่อให้เกิดอุบัติเหตุอย่างรุนแรง และจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเป็นคดีอาญา ซึ่งศาลชั้นต้นในคดีอาญามีคำพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัส จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มิได้ถามค้านพยานโจทก์เกี่ยวกับพฤติการณ์ในการขับรถตู้โดยสารของนางนฤมล เมื่อถึงวันนัดสืบพยานจำเลย จำเลยที่ 2 ก็ไม่ติดใจสืบพยานบุคคลใดๆ แต่ขอส่งพยานเอกสารและภาพถ่ายพยานวัตถุในสำนวนคดีอาญาประกอบการพิจารณา ซึ่งทนายฝ่ายโจทก์คัดค้าน และศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 ส่งพยานหลักฐานดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานอันใดที่จะแสดงว่านางนฤมลขับรถโดยประมาท ข้อเท็จจริงจึงยังรับฟังไม่ได้ว่า นางนฤมลมีส่วนประมาทในอุบัติเหตุครั้งนี้ การที่ศาลอุทธรณ์นำพฤติการณ์การขับรถตู้โดยสารของนางนฤมลดังที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญามารับฟังว่า นางนฤมลมีส่วนประมาท แล้วลดจำนวนค่าเสียหายในส่วนค่าขาดไร้อุปการะให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รับผิดชดใช้ให้แก่โจทก์แต่ละราย 4 ใน 5 ส่วน จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา เมื่อพิจารณาว่า อุบัติเหตุรุนแรงครั้งนี้เกิดจากการขับรถโดยประมาทของจำเลยที่ 1 ผู้โดยสารที่นั่งในรถตู้โดยสารหาได้มีส่วนทำความผิดก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใดไม่ หากแต่เป็นผู้ได้รับเคราะห์ภัยจากอุบัติเหตุจนต้องเสียชีวิต สำหรับนางนฤมล ผู้ขับรถตู้โดยสารที่ถึงแก่ความตาย ข้อเท็จจริงก็ยังรับฟังไม่ได้ว่า นางนฤมลมีส่วนประมาทด้วย เช่นนี้ จึงไม่มีเหตุที่จะลดจำนวนค่าเสียหายในส่วนค่าขาดไร้อุปการะ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกาว่า ฝ่ายรถตู้โดยสารต้องรับผิดมากกว่าเพราะเป็นรถโดยสารสาธารณะและไม่มีเข็มขัดนิรภัย ก็หาได้มีเหตุผลให้รับฟังไม่ ในเมื่อจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวขับรถโดยประมาทก่อให้เกิดความเสียหาย และค่าขาดไร้อุปการะที่กำหนดให้แก่โจทก์แต่ละรายเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่มีข้ออ้างที่จะขอลดจำนวนค่าเสียหายลงอีก เมื่อเป็นดังที่วินิจฉัยมาข้างต้น การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าขาดไร้อุปการะเต็มจำนวนแล้วลดหย่อนให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รับผิดชดใช้ 4 ใน 5 ส่วน นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย จึงสมควรแก้ไขโดยให้จำเลยที่ 1 ถึง 3 รับผิดในค่าขาดไร้อุปการะเต็มจำนวน ดังนั้น จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 1,000,000 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 1,500,000 บาท โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 1,000,000 บาท โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 1,500,000 บาท โจทก์ที่ 5 เป็นเงิน 1,800,000 บาท โจทก์ที่ 9 เป็นเงิน 1,000,000 บาท โจทก์ที่ 10 เป็นเงิน 1,500,000 บาท โจทก์ที่ 11 เป็นเงิน 1,000,000 บาท โจทก์ที่ 12 เป็นเงิน 1,500,000 บาท โจทก์ที่ 13 เป็นเงิน 1,800,000 บาท โจทก์ที่ 14 เป็นเงิน 1,500,000 บาท โจทก์ที่ 15 เป็นเงิน 1,000,000 บาท โจทก์ที่ 16 เป็นเงิน 1,500,000 บาท โจทก์ที่ 18 เป็นเงิน 1,500,000 บาท โจทก์ที่ 19 เป็นเงิน 1,000,000 บาท โจทก์ที่ 21 เป็นเงิน 1,500,000 บาท โจทก์ที่ 22 เป็นเงิน 1,500,000 บาท โจทก์ที่ 25 เป็นเงิน 150,000 บาท โจทก์ที่ 26 เป็นเงิน 150,000 บาท โจทก์ที่ 27 เป็นเงิน 100,000 บาท และโจทก์ที่ 28 เป็นเงิน 150,000 บาท สำหรับโจทก์ที่ 17 ฎีกาขอให้กำหนดค่าขาดไร้อุปการะเป็นเงิน 1,800,000 บาท ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่คำฟ้องในส่วนของโจทก์ที่ 17 ขอเรียกค่าขาดไร้อุปการะเป็นเงิน 1,243,116.84 บาท เท่านั้น เมื่อค่าขาดไร้อุปการะที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้อง ซึ่งศาลอุทธรณ์แก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยกำหนดค่าขาดไร้อุปการะให้แก่โจทก์ที่ 17 เป็นเงิน 1,000,000 บาท และค่าขาดไร้อุปการะจำนวนดังกล่าวเหมาะสมแล้ว จึงให้เป็นไปตามจำนวนเงินนั้นโดยไม่ต้องลดส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เช่นนี้ ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ที่ 9 ถึงที่ 16 ที่ 18 ที่ 19 ที่ 21 ที่ 22 และที่ 25 ถึงที่ 28 จึงฟังขึ้น และฎีกาของโจทก์ที่ 17 ฟังขึ้นบางส่วน สำหรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า จำเลยที่ 4 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รับผิดต่อโจทก์ที่ 5 และที่ 11 หรือไม่ เพียงใด โดยจำเลยที่ 4 ฎีกาว่า คำฟ้องของโจทก์ที่ 5 และที่ 11 ไม่ได้อ้างว่า จำเลยที่ 4 เป็นบุคคลที่ต้องรับผิดต่อการกระทำละเมิดของผู้อื่นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425, 427, 428, 429 และ 430 แม้การรับฟังข้อเท็จจริงของศาลชั้นต้นเป็นที่ยุติว่า จำเลยที่ 4 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ไปใช้ โดยจำเลยที่ 4 รู้อยู่ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เยาว์และเป็นผู้ไม่ได้รับใบอนุญาตขับขี่ แต่การที่จำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่ง หาใช่การขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นความผิดฐานขับรถโดยประมาทไม่ และความรับผิดทางละเมิดจะต้องเป็นผลโดยตรงหรือเล็งเห็นได้โดยไม่เกินความคาดหมายปกติ แต่จำเลยที่ 4 มิได้เกี่ยวข้องในมูลละเมิด และการที่จำเลยที่ 4 ให้ความยินยอมแก่จำเลยที่ 1 ในการขับรถหาได้มีกฎหมายบัญญัติให้จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดดังเช่นกรณีบิดามารดายินยอมให้ผู้เยาว์ขับรถ เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหาย ย่อมเป็นความรับผิดของจำเลยที่ 1 หาได้เกี่ยวข้องถึงจำเลยที่ 4 เพราะมิใช่ผลโดยตรงหรือเล็งเห็นได้ ทั้งห่างไกลเกินความคาดหมายของบุคคลธรรมดา จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 5 และที่ 11 นั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ที่ 5 และที่ 11 บรรยายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยที่ 4 ว่า จำเลยที่ 4 รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ฎว 8461 กรุงเทพมหานคร ในวันเกิดเหตุ โดยจำเลยที่ 4 ทราบดีอยู่แล้วว่า จำเลยที่ 1 ยังเป็นผู้เยาว์และไม่มีใบอนุญาตขับรถตามกฎหมาย ย่อมต้องตระหนักว่า การที่จำเลยที่ 1 ไม่มีใบอนุญาตขับรถ หากขับรถยนต์อาจเสี่ยงต่อการก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตหรือทรัพย์สินของบุคคลอื่นได้ แต่จำเลยที่ 4 ยังรู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 4 นำรถยนต์ที่ตนครอบครองอยู่ไปขับ ซึ่งหากจำเลยที่ 4 ไม่รู้เห็นยินยอมเช่นนั้น ความเสียหายคงไม่เกิดขึ้น จำเลยที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 1 ด้วย ตามข้ออ้างซึ่งเป็นหลักแห่งข้อหาที่ปรากฏในคำฟ้องจึงเป็นการกล่าวอ้างให้จำเลยที่ 4 รับผิดในการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์ เนื่องจากจำเลยที่ 4 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ผู้เยาว์นำรถยนต์คันเกิดเหตุไปขับ เมื่อพิจารณาตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยเป็นยุติแล้วว่า จำเลยที่ 4 ทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เยาว์และไม่มีใบอนุญาตขับรถและยังยินยอมให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ออกไปจนเกิดเหตุคดีนี้ เห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 มีอายุ 16 ปี ยังไม่ถึงเกณฑ์อายุ 18 ปี ซึ่งเป็นคุณสมบัติของบุคคลที่จะเข้าทดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตขับรถตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 ย่อมถูกจำกัดด้วยการมีอายุเยาว์ยังไม่มีวุฒิภาวะและความรับผิดชอบเพียงพอที่จะขับรถยนต์ได้ แต่จำเลยที่ 1 ยังขืนไปขับรถยนต์ และจำเลยที่ 4 ก็รู้เห็นยินยอมให้ทำเช่นนั้นได้ ซึ่งเป็นการปล่อยปละละเลยให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์จนไปก่อให้เกิดอุบัติเหตุที่กระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลอื่น ประกอบกับฝ่ายโจทก์นำสืบบันทึกคำให้การ ซึ่งจำเลยที่ 4 ได้ให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวนมีใจความว่า จำเลยที่ 4 รู้จักสนิทสนมกับจำเลยที่ 1 มาช่วงหนึ่งแล้ว ซึ่งจำเลยที่ 4 ไปที่บ้านพักของจำเลยที่ 1 ประมาณสัปดาห์ละ 2 ครั้ง และได้พบพูดคุยกับบิดามารดาของจำเลยที่ 1 เป็นบางครั้ง ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 4 เป็นผู้ไปรับจำเลยที่ 1 จากบ้านพัก ซึ่งบิดามารดาของจำเลยที่ 1 อยู่ในบ้านดังกล่าว จำเลยที่ 4 ได้พาจำเลยที่ 1 นั่งรถยนต์หมายเลขทะเบียน ฎว 8461 กรุงเทพมหานคร ไปด้วยกัน จนเมื่อจำเลยที่ 4 ขับรถเข้าไปที่ลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขาลาดพร้าว ระหว่างที่จำเลยที่ 4 ลงจากรถไปหยิบของที่กระโปรงหลังรถ จำเลยที่ 1 สลับที่นั่งจากผู้โดยสารมาเป็นผู้ขับ แล้วขับรถยนต์ออกไปทันที โดยบอกว่าขอยืมรถ เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ออกไปแล้ว จำเลยที่ 4 ไม่ได้โทรศัพท์สอบถามจำเลยที่ 1 ว่าจะขับรถไปที่ใด จำเลยที่ 4 รีบไปหาเพื่อนที่นัดกันไว้ที่ร้านกาแฟ จากนั้นนั่งรถไฟฟ้าไปที่ย่านอโศก แล้วกลับมาที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวลาประมาณ 22 นาฬิกา จึงทราบจากจำเลยที่ 5 ว่า รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับเกิดเหตุเฉี่ยวชน การที่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ใหญ่อายุ 31 ปี ไปรับจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์อายุ 16 ปี จากบ้านพัก โดยอยู่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ 2 และที่ 3 บิดามารดาของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 4 กระทำเช่นนี้มาแล้วหลายครั้ง ทั้งจำเลยที่ 2 ก็ให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวน ว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ขออนุญาตออกจากบ้าน จะมีจำเลยที่ 4 ขับรถยนต์คันเกิดเหตุมารับจำเลยที่ 1 ที่บ้าน โดยจำเลยที่ 4 มารับจำเลยที่ 1 ออกไปจากบ้านหลายครั้งเพื่อไปฝึกงานที่ร้านขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 4 พฤติการณ์ของจำเลยที่ 4 ที่รับตัวจำเลยที่ 1 ไปจากความปกครองดูแลของบิดามารดา โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 บิดามารดาของจำเลยที่ 1 ยินยอมอนุญาต ซึ่งน่าเชื่อว่าบิดามารดาของจำเลยที่ 1 ไว้วางใจให้จำเลยที่ 4 ดูแลจำเลยที่ 1 ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ออกไปข้างนอกกับจำเลยที่ 4 ถือได้ว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับดูแลจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์โดยปริยาย กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 430 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่บัญญัติว่า ครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดี ชั่วครั้งคราวก็ดี จำต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิดซึ่งเขาได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้น ๆ มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร การที่จำเลยที่ 4 เป็นผู้ยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ออกไปขับ โดยจำเลยที่ 4 ทราบดีว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้เยาว์และไม่มีใบอนุญาตขับรถ ในช่วงเวลานั้นจำเลยที่ 4 จะต้องยับยั้งไม่ให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ออกไป โดยห้ามปรามจำเลยที่ 1 ในทันทีหรือต้องรีบโทรศัพท์ติดต่อให้จำเลยที่ 1 นำรถยนต์กลับมาคืนโดยเร็ว แต่จำเลยที่ 4 ก็ไม่ดำเนินการใด ๆ เป็นการไม่เอาใจใส่ว่าจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์ จะขับรถยนต์ไปโดยเสี่ยงแก่การเกิดอุบัติเหตุหรือไม่ จำเลยที่ 4 ผู้รับดูแลจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์โดยปริยาย จึงไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการดูแลจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ไปเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนอันเป็นการละเมิดต่อผู้อื่น เช่นนี้ จำเลยที่ 4 ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 ผู้เยาว์ กระทำละเมิดในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน ตามบทบัญญัติมาตรา 430 ดังกล่าว ซึ่งจำนวนค่าเสียหายที่จำเลยที่ 4 ต้องร่วมรับผิดเป็นจำนวนเดียวกับที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องชำระแก่โจทก์ที่ 5 และที่ 11 หาได้มีเหตุที่จะลดความรับผิดของจำเลยที่ 4 ให้เหลือเพียงบางส่วนไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รับผิดต่อโจทก์ที่ 5 และที่ 11 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ซึ่งจะต้องกำหนดความรับผิดเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ดังนั้นจำเลยที่ 4 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะให้แก่โจทก์ที่ 5 เป็นเงิน 1,800,000 บาท และโจทก์ที่ 11 เป็นเงิน 1,000,000 บาท ฎีกาของจำเลยที่ 4 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาในสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 3624/2556 และสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 570/2557 ของศาลชั้นต้น เรื่องละ 200 บาท มาด้วยนั้น คดีทั้งสองสำนวนดังกล่าวไม่ได้ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกา จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในส่วนของโจทก์ที่ 7 ที่ 8 ที่ 20 และที่ 24 ถึงที่ 28 เพราะต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ศาลชั้นต้นมิได้สั่งคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาของทุนทรัพย์ในส่วนของโจทก์ดังกล่าว จึงไม่ถูกต้องและต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 สำหรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในส่วนของโจทก์ที่ 23 ซึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยนั้น ก็ต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เช่นกัน นอกจากนี้เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ที่ 6 ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จึงเห็นสมควรสั่งคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา 3 ใน 4 ส่วน เป็นเงิน 6,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 151 วรรคสอง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คดีระหว่างโจทก์ที่ 6 กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ฉบับลงวันที่ 20 เมษายน 2561 และให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 1,000,000 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 1,500,000 บาท โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 1,000,000 บาท โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 1,500,000 บาท โจทก์ที่ 5 เป็นเงิน 1,800,000 บาท โจทก์ที่ 9 เป็นเงิน 1,000,000 บาท โจทก์ที่ 10 เป็นเงิน 1,500,000 บาท โจทก์ที่ 11 เป็นเงิน 1,000,000 บาท โจทก์ที่ 12 เป็นเงิน 1,500,000 บาท โจทก์ที่ 13 เป็นเงิน 1,800,000 บาท โจทก์ที่ 14 เป็นเงิน 1,500,000 บาท โจทก์ที่ 15 เป็นเงิน 1,000,000 บาท โจทก์ที่ 16 เป็นเงิน 1,500,000 บาท โจทก์ที่ 17 เป็นเงิน 1,000,000 บาท โจทก์ที่ 18 เป็นเงิน 1,500,000 บาท โจทก์ที่ 19 เป็นเงิน 1,000,000 บาท โจทก์ที่ 21 เป็นเงิน 1,500,000 บาท โจทก์ที่ 22 เป็นเงิน 1,500,000 บาท โจทก์ที่ 25 เป็นเงิน 150,000 บาท โจทก์ที่ 26 เป็นเงิน 256,925 บาท โจทก์ที่ 27 เป็นเงิน 100,000 บาท และโจทก์ที่ 28 เป็นเงิน 150,000 บาท โดยให้จำเลยที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รับผิดต่อโจทก์ที่ 5 และที่ 11 ในจำนวนเงินข้างต้น ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ที่ 9 ถึงที่ 19 ที่ 21 ที่ 22 และที่ 25 ถึงที่ 28 โดยกำหนดค่าทนายความสำนวนละ 5,000 บาท สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาที่โจทก์ที่ 17 ได้รับยกเว้น ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์ที่ 17 เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ที่ 17 ชนะคดีชั้นฎีกา ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ที่ 5 และที่ 11 กับจำเลยที่ 4 ชั้นฎีกาให้เป็นพับ ให้ยกฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในส่วนของโจทก์ที่ 23 คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาในส่วนของโจทก์ที่ 7 ที่ 8 ที่ 20 และที่ 23 ถึงที่ 28 กับค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาในสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 3624/2556 และสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 570/2557 ของศาลชั้นต้น และค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาในส่วนของโจทก์ที่ 6 เป็นเงิน 6,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share