แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คำว่า มีอาวุธปืนตาม พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ มาตรา 4(6) หมายความว่า มีกรรมสิทธิ์หรือมีไว้ในครอบครอง คำว่า ครอบครองมีความหมายตามกฎหมายทั่วไป ดังนั้น การตรวจค้นพบอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนในรถยนต์และบ้านของจำเลยไม่ได้หมายความว่า จำเลยมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครอง ได้ความว่า จำเลยได้ให้ น. เพื่อนของจำเลยอยู่อาศัยและจำเลยมอบรถยนต์คันดังกล่าวไว้ให้รับส่งบุตรของจำเลย น.มีอาชีพรับซ่อมอาวุธปืน ดังนั้นอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางจึงอาจจะเป็นอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่ น. รับไว้เพื่อซ่อมก็เป็นได้ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังไม่พอฟังว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 7, 8 ทวิ, 55, 72, 72 ทวิ, 78 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน(ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2522 มาตรา 6, 8 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน(ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2530 มาตรา 3 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6, 7 กฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2491) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490ข้อ 1 กฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ข้อ 2, 3 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 มาตรา 4 และริบอาวุธปืนรีวอลเวอร์ชนิดประกอบขึ้นเองขนาด .22จำนวน 1 กระบอก ลูกกระสุนปืนไรเพิล ขนาด 7.62 มม. จำนวน 145 ลูกอาวุธปืนเล็กกล แบบ เอ็ม 16 ขนาด .223 จำนวน 1 กระบอก ซองกระสุนปืนเล็กกล แบบ เอ็ม 16 ขนาด .223 จำนวน 3 อัน และกระสุนปืนเล็กกลขนาด .223 จำนวน 50 นัด กระสุนปืนเล็กกล ขนาด 7.62 มม. (นาโต้)จำนวน 160 นัด ด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้ริบอาวุธปืนพกขนาด .22 จำนวน1 กระบอก ลูกกระสุนปืนไรเฟิล ขนาด 7.62 มม. จำนวน 145 ลูก อาวุธปืนเล็กกล แบบ เอ็ม 16 ขนาด .223 จำนวน 1 กระบอก ซองกระสุนปืนเล็กกลแบบเอ็ม 16 จำนวน 3 อัน กระสุนปืนเล็กกล ขนาด .223 จำนวน 50 นัดกระสุนปืนขนาด 7.62 มม. (นาโต้) จำนวน 160 นัด
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 55, 72 วรรคหนึ่งวรรคสาม 72 ทวิ วรรคสอง 78 วรรคหนึ่ง ให้ลงโทษฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน ตามมาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนซึ่งนายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ ตามมาตรา55, 78 วรรคหนึ่ง จำคุก 5 ปี และฐานพาอาวุธปืน ตามมาตรา 8 ทวิวรรคหนึ่ง 72 ทวิ วรรคสอง จำคุก 1 ปี รวมเป็นจำคุก 8 ปี จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปีส่วนของกลางคงให้ริบ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2527 เวลาประมาณ 11 ถึง 12 นาฬิกาเจ้าพนักงานตำรวจได้ตรวจค้นพบอาวุธปืนพกรีวอลเวอร์ ขนาด .22 เป็นอาวุธปืนทำเองภายในประเทศ ไม่มีหมายเลขทะเบียนพร้อมกระสุนปืนจำนวน5 นัด บรรจุอยู่ในรังเพลิงวางอยู่ใต้เบาะที่นั่งคนขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 4ง-2722 กรุงเทพมหานคร ของจำเลยตามรายการที่ 5ของเอกสารหมาย จ.1 และตรวจค้นพบอาวุธปืนยาวเอ็ม 16 จำนวน 1 กระบอกอาวุธปืนยาวอัดลม 2 กระบอก อาวุธปืนยาวลูกซอง 1 กระบอก อาวุธปืนยาววินเชสเตอร์ 1 กระบอก และเครื่องกระสุนปืนหลายร้อยนัดตามรายการที่ 6ถึง 12 และรายการที่ 18 ถึง 26 ของเอกสารหมาย จ.1 ภายในบ้านจำเลยนางสาวจินตนา แก้วกาญจน์ เป็นภรรยาจำเลย คดีมีปัญหาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีพันตำรวจโทไพจิตร อ่องศรี สิบตำรวจโทประพัฒน์ สุขุมะ สิบตำรวจโทสุรชิต คงปัญญา และสิบตำรวจโทวันชัยผาพิมพ์ เป็นพยาน แต่พยานโจทก์เบิกความแตกต่างกัน โดยพันตำรวจโทไพจิตร สิบตำรวจโทประพัฒน์ และสิบตำรวจโทวันชัยเบิกความว่า ชั้นจับกุมจำเลยให้การรับว่าอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนทั้งหมดเป็นของจำเลย แต่สิบตำรวจโทสุรชิตเบิกความว่าได้สอบถามจำเลยในเบื้องต้นจำเลยบอกว่าไม่ใช่อาวุธปืนของจำเลยหาได้รับสารภาพตลอดข้อหาดังที่พันตำรวจโทไพจิตรกับพวกเบิกความไม่ นอกจากนี้ นายกฤษณา จันดี พยานโจทก์เบิกความว่า เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2527 ได้นำอาวุธปืนไปให้เพื่อนของจำเลยซึ่งอยู่ที่บ้านจำเลยที่หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ 1ซ่อม และเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่าเพื่อนของจำเลยที่รับซ่อมอาวุธปืนได้ยินจำเลยเรียกชื่อว่าน้อย นายเจตน์ เสือวรรณศรี พยานโจทก์เบิกความว่าเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2527 ได้มอบอาวุธปืนให้จำเลยนำไปให้เพื่อนของจำเลยซ่อมที่บ้านของจำเลยและเมื่อจำเลยถูกจับกุมพยานได้นำทะเบียนอาวุธปืนไปแสดงต่อเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อขออาวุธปืนคืน แต่เจ้าพนักงานตำรวจบอกว่าต้องยึดไว้เป็นหลักฐานก่อนนายเถกิงศักดิ์ สุวรรณทัต พยานโจทก์ซึ่งมีบ้านอยู่ฝั่งตรงข้ามกับบ้านที่เกิดเหตุเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า เคยเห็นนายเล็กซึ่งอาศัยอยู่ในบ้านของจำเลยขับรถยนต์ของจำเลยรับส่งบุตรของจำเลยนอกจากรถยนต์เก๋งแล้วจำเลยยังมีรถกระบะอีกคันหนึ่ง ส่วนใหญ่จำเลยใช้รถกระบะ ส่วนรถยนต์เก๋งจำเลยจะจอดทิ้งไว้ที่บ้าน หลังเกิดเหตุไม่เห็นนายเล็กที่บ้านจำเลยอีก ทราบว่าช่วงปี พ.ศ. 2525 จำเลยไปทำไร่อยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี เจือสมทางนำสืบของจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยและภรรยามิได้พักอาศัยอยู่ที่บ้านของจำเลยหลังที่เกิดเหตุ แต่ไปทำไร่อยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี และจำเลยได้ให้นายน้อยทองสามสี เช่าอยู่โดยจำเลยได้มอบรถยนต์เก๋งมิตซูบิชิให้ไว้ด้วยเพื่อใช้รับส่งบุตรของจำเลยไปโรงเรียน นายน้อยรับซ่อมอาวุธปืนที่บ้านของจำเลยจนภายหลังเกิดเหตุคดีนี้แล้วยังมีเจ้าของอาวุธปืนที่นำมาซ่อม นำหลักฐานมาขอรับอาวุธปืนคืนอีกด้วย และถึงแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นจับกุมได้อาวุธปืนของกลางจากบ้านจำเลยก็ตาม แต่ก็ได้ความว่านายน้อยผู้ที่มีอาชีพรับซ่อมอาวุธปืนได้มาเช่าและพักอาศัยอยู่ที่บ้านจำเลย ศาลฎีกาเห็นต่อไปว่า คำว่ามีอาวุธปืนตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 4(6) หมายความว่า มีกรรมสิทธิ์หรือมีไว้ในครอบครอง คำว่า ครอบครองหาได้บัญญัติให้มีความหมายเป็นพิเศษอย่างใดไม่ จึงต้องถือว่ามีความหมายตามกฎหมายทั่วไป การตรวจค้นพบอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนตามเอกสารหมาย จ.1 ในรถยนต์และบ้านของจำเลยไม่ได้หมายความว่า จำเลยมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวไว้ในครอบครอง โจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบให้ฟังได้ว่าจำเลยมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองพยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมายังไม่พอฟังว่า ปกติจำเลยใช้รถยนต์เก๋งมิตซูบิชิ และอยู่อาศัยครอบครองในบ้านเกิดเหตุ กลับได้ความว่าจำเลยได้ให้นายน้อยเช่าบ้านของจำเลยอยู่อาศัย และจำเลยมอบรถยนต์เก๋งไว้ให้รับส่งบุตรของจำเลย ทั้งจากที่จำเลยถามค้านพยานโจทก์ก็ได้ความว่า นายน้อยเพื่อนของจำเลยซึ่งเช่าบ้านจำเลยอยู่มีอาชีพรับซ่อมอาวุธปืน ดังนั้นอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางจึงอาจจะเป็นอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่นายน้อยรับไว้เพื่อซ่อมก็เป็นได้ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังไม่พอฟังว่าจำเลยมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครอง และพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนเข้าไปในเมือง หมู่บ้านทางสาธารณะตามฟ้อง จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.