แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2530 ว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาท ครั้นวันที่ 6 มีนาคม 2530 โจทก์นำไปเข้าบัญชีเรียกเก็บเงินธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงิน โจทก์จึงได้นำเช็คไปเข้าบัญชีใหม่อีกเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2530 และได้รับคำปฏิเสธการจ่ายเงินอีกครั้งหนึ่งเช่นนี้ เมื่อธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงินครั้งแรก ถือว่าความผิดได้เกิดขึ้นแล้ว แต่โจทก์มิได้ร้องทุกข์หรือดำเนินคดีภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันดังกล่าว คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเป็นว่าโจทก์รู้ถึงการกระทำผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดในวันที่ 12 มีนาคม 2530 อันเป็นวันที่โจทก์ได้รับคำปฏิเสธการจ่ายเงินในครั้งหลัง จึงหามีผลเปลี่ยนแปลงคดีของโจทก์แต่อย่างใดไม่ ศาลชั้นต้นไม่รับคำขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องของโจทก์และมีคำสั่งให้งดการไต่สวนมูลฟ้อง แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์จึงชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติเช็คฯ มาตรา 3ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปรากฏข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์เองว่าเช็คฉบับพิพาทซึ่งจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายนั้น ในวันที่6 มีนาคม 2530 ธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงิน โจทก์จึงได้นำเช็คไปเข้าบัญชีใหม่อีกครั้งเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2530 และได้รับคำปฏิเสธการจ่ายเงินอีกครั้งหนึ่ง เมื่อปรากฏเช่นนี้ โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2530 จึงมีปัญหาวินิจฉัยก่อนในเบื้องต้นว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ และที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้โจทก์แก้หรือเพิ่มเติมฟ้องนั้นชอบแล้วหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า เมื่อธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามเช็คในวันที่ 6 มีนาคม 2530 นั้น ถือว่าความผิดได้เกิดขึ้นแล้วแต่โจทก์มิได้ร้องทุกข์หรือฟ้องคดีภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันดังกล่าว คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 96 การที่โจทก์นำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงินอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 12 มีนาคม 2530 และได้รับคำปฏิเสธเช่นเดียวกันกับในครั้งแรก มิได้หมายความว่าการกระทำผิดได้เลื่อนมาเกิดในวันที่12 มีนาคม 2530 เพราะหากถือเช่นนั้นย่อมมีผลเป็นการขยายอายุความฟ้องคดี อันเป็นผลร้ายแก่จำเลย ดังนั้น การที่โจทก์มายื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเป็นว่า โจทก์รู้ถึงการกระทำผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดในวันที่ 12 มีนาคม 2530 อันเป็นวันที่โจทก์ได้รับคำปฏิเสธการจ่ายเงินในครั้งหลังนี้ จึงหามีผลเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยแต่อย่างใดไม่ เพราะแม้ศาลจะอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องหรือไม่ก็ตาม ผลในทางกฎหมายย่อมเป็นอย่างเดียวกัน ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาในข้ออื่นของโจทก์ต่อไป”
พิพากษายืน