คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2160/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายอ้างว่าจำเลยให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาการรถไฟแห่งประเทศไทยอันเป็นการผิดสัญญาจ้างและเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยมิใช่เป็นการเลิกจ้าง พิพากษายกฟ้อง คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายอ้างว่าจำเลยให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาการรถไฟฯ เช่นเดียวกับคดีก่อนอันเป็นการผิดสัญญาจ้าง ดังนี้ เหตุที่โจทก์นำมาเป็นมูลฟ้องเรียกค่าเสียหายในคดีนี้จึงเป็นเหตุเดียวกับคดีก่อน เพียงแต่อ้างเหตุแห่งการเรียกค่าเสียหายต่างกันเท่านั้น ฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2522 ต่อมาเมื่อวันที่ 20พฤษภาคม 2525 จำเลยกล่าวหาว่าโจทก์มิได้เร่งรัดดำเนินการให้ลุล่วงไปตามเจตนารมณ์ของคณะกรรมการรถไฟฯ และให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวเป็นการผิดสัญญาจ้าง ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง จำเลยให้การว่า โจทก์บกพร่องหรือหย่อนสมรรถภาพที่จะดำรงตำแหน่งผู้ว่าการฯ คณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยจึงมีมติให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวและให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา จึงไม่มีการเลิกจ้าง โจทก์เคยฟ้องจำเลยต่อศาลโดยอ้างว่าจำเลยผิดสัญญาจ้างและเรียกค่าเสียหายในมูลคดีเดียวกันนี้มาก่อน และศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วให้ยกฟ้องโจทก์ตามคดีหมายเลขแดงที่ 1245/2526 ของศาลแรงงานกลาง ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้ำ แต่จำเลยไม่มีส่วนกระทำให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งดังกล่าว จำเลยไม่ได้ผิดสัญญาจ้าง พิพากษายกฟ้องโจทก์จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “เบื้องแรกจะได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยเสียก่อน จำเลยอุทธรณ์ว่าเหตุอันเป็นมูลที่โจทก์ฟ้องจำเลยในคดีนี้เป็นเหตุอันเป็นมูลคดีเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ 1245/2526 ของศาลแรงงานกลาง เพราะในคดีดังกล่าวนอกจากโจทก์จะฟ้องว่าการที่โจทก์ต้องพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นการเลิกจ้างแล้ว โจทก์ยังฟ้องว่าเป็นการผิดสัญญาหรือฝ่าฝืนมิให้โจทก์ได้ทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานอีกด้วยซึ่งจำเลยก็ได้ให้การต่อสู้ไว้ในคดีดังกล่าวว่าไม่ได้ผิดสัญญาหรือฝ่าฝืนมิให้โจทก์ทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน คดีที่โจทก์ฟ้องจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่าการที่โจทก์ต้องพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นการผิดสัญญาจ้างด้วย เมื่อศาลมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทในข้อนี้ไว้ โจทก์ก็มิได้โต้แย้งหรือคัดค้านแต่ประการใด จึงถือได้ว่าโจทก์สละประเด็นหรือไม่ติดใจให้ศาลวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว การที่โจทก์รื้อฟื้นนำคดีมาฟ้องอีกจึงเป็นฟ้องซ้ำเห็นว่าในสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 1245/2526 ของศาลแรงงานกลางซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยในคดีนี้กับพวกรวม 11 คนเป็นจำเลย โจทก์ได้บรรยายฟ้องในคำฟ้องข้อ 3 ว่า จำเลยที่ 3 ได้เสนอมติของคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทยไปยังจำเลยที่ 4 อ้างว่าจำเลยที่ 3ถึงที่ 8 มีมติให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยและมีคำสั่งแต่งตั้งให้โจทก์ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาการรถไฟแห่งประเทศไทย การที่จำเลยได้ร่วมกันเสนอและมีคำสั่งดังกล่าวนั้นเป็นการให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งตามที่จำเลยที่ 1 ตกลงจ้างโจทก์ในฐานะลูกจ้างประจำตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยของจำเลยที่ 1 มาเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 อันเป็นการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาจ้างและข้อตกลงซึ่งเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเห็นได้ว่ามูลเหตุที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยในสำนวนคดีดังกล่าวก็คือ การที่จำเลยมีมติให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย แล้วมีคำสั่งแต่งตั้งให้โจทก์ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยโจทก์อ้างในคดีนั้นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งตามที่จำเลยตกลงจ้างโจทก์อันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาจ้างและข้อตกลงซึ่งเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทั้งได้เรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยมีมติให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยโดยไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาการรถไฟแห่งประเทศไทยด้วย แต่ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะเห็นว่า การที่จำเลยให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาการรถไฟแห่งประเทศไทยมิใช่เป็นการเลิกจ้าง ส่วนมูลเหตุที่โจทก์นำมาฟ้องใหม่นี้โจทก์อ้างว่าการที่จำเลยให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงานและได้เรียกค่าเสียหายจากการกระทำดังกล่าวของจำเลยมาด้วย ศาลฎีกาเห็นว่า เหตุที่โจทก์นำมาเป็นมูลฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยในคดีนี้กับเหตุที่โจทก์นำไปเป็นมูลฟ้องจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ 1245/2526 เป็นเหตุเดียวกันนั่นเองกล่าวคือเหตุจากการที่จำเลยให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาการรถไฟแห่งประเทศไทยเพียงแต่อ้างเหตุแห่งการเรียกค่าเสียหายต่างกัน คือ คดีก่อนเรียกค่าเสียหายโดยอ้างว่าจำเลยผิดสัญญาและเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมแต่คดีนี้อ้างว่าจำเลยผิดสัญญาจ้าง ซึ่งข้ออ้างเรื่องผิดสัญญาจ้างในคดีนี้โจทก์สามารถอ้างขึ้นในคดีก่อนได้อยู่แล้วและความจริงโจทก์ก็ได้อ้างไว้ในคดีก่อนแล้ว ฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีหมายเลขแดงที่ 1245/2526 ของศาลแรงงานกลางนั่นเอง ถือว่าเป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าว เช่นนี้ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน

Share