แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อโจทก์กับจำเลยที่ 1 เพียงแต่ประกอบพิธีสมรสโดยมิได้มีเจตนาจะสมรสกันตามกฎหมาย เงินที่โจทก์อ้างว่าได้มอบให้แก่ฝ่ายหญิงจึงหาได้ให้ในฐานะเป็นของหมั้นและสินสอดตามกฎหมายไม่ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกคืน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามตกลงให้จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นบุตรสาวอยู่ในความปกครองของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ สมรสกับโจทก์ โดยได้ทำพิธีหมั้นไว้เป็นเงิน ๑,๐๐๐ บาท และในวันที่ทำการสมรสตามประเพณีโจทก์ได้มอบเงินสินสอดจำนวน ๑๗,๕๐๐ บาท ให้แก่จำเลยทั้งสามตามที่จำเลยทั้งสามเรียก นอกจากนี้โจทก์ยังเสียค่าใช้จ่ายในการสมรสเป็นเงิน ๑๕,๐๐๐ บาท แต่หลังจากการสมรสแล้วจำเลยที่ ๑ ไม่ยอมให้โจทก์ร่วมประเวณีและพูดจาเสียดสีเป็นเชิงขับไล่โจทก์ตลอดมา โจทก์ขอให้จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนสมรสกับโจทก์โดยให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ยินยอม จำเลยทั้งสามก็ไม่ทำตามที่ขอ และต่อมาจำเลยที่ ๔ ได้พาจำเลยที่ ๑ ไปอยู่กินฉันสามีภริยาโดยรู้ว่าจำเลยที่ ๑ หมั้นกับโจทก์แล้ว โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาหมั้นและขอคืนเงินหมั้นและสินสอดจากจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ ๑๔ เป็นเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท แต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉย ขอให้บังคับให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ คืนเงินหมั้นและสินสอดจำนวน ๑๘,๕๐๐ บาท กับชำระค่าใช้จ่ายในการจัดงานสมรสจำนวน ๑๕,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๓๓,๕๐๐ บาท ให้จำเลยที่ ๔ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท และให้จำเลยทั้งสี่ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การทำนองเดียวกันว่า งานแต่งงานระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ไม่มีการหมั้น ในวันแต่งงานจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้รับเงินสินสอดจากโจทก์ ๑๔,๐๐๐ บาท ค่าใช้จ่ายในการแต่งงานไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท หลังจากแต่งงานแล้วโจทก์และจำเลยที่ ๑ อยู่กินฉันสามีภรรยากับที่บ้านของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ประมาณ ๒ เดือน โจทก์จึงย้ายออกไปอยู่ที่อื่นเนื่องจากมีปัญหากับจำเลยที่ ๑ ต่อมาจำเลยที่ ๑ ไปทำงานร่วมกับจำเลยที่ ๔ และได้เกิดชอบพอรักใคร่มีสัมพันธ์ฉันสามีภรรยาโดยจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ไม่ทราบ และจำเลยที่ ๔ ก็ไม่ทราบว่าโจทก์กับจำเลยที่ ๑ มีความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยากันมาก่อน โจทก์ไม่เคยขอให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ไปให้ความยินยอมให้จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนสมรสกับโจทก์ และเมื่อโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน จึงไม่ใช่สามีภรรยาตามกฎหมายและไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ ๔ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ร่วมกันคืนเงินหมั้นและสินสอดรวม ๑๘,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์ได้หมั้นกับจำเลยที่ ๑ โดยมอบเงินจำนวน ๑,๐๐๐ บาท ให้แก่ฝ่ายจำเลยเป็นของหมั้น หลังจากหมั้นแล้วโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ได้แต่งงานกันตามประเพณีและได้อยู่กินฉันสามีภรรยาที่บ้านของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ แล้วเกิดทะเลาะกัน โจทก์ได้หนีออกจากบ้านไป ต่อมาโจทก์และจำเลยทั้งสามได้ไปที่ว่าการอำเภอศรีเทพ โจทก์ขอให้จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนสมรสกับตนแต่จำเลยที่ ๑ ไม่ยินยอมซึ่งระยะเวลาจากวันแต่งงานจนถึงวันที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนสมรสนาน ๑ เดือนเศษ ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏจากทางนำสืบของทั้งสองฝ่ายเลยว่าหลังจากโจทก์และจำเลยที่ ๑ ได้ทำพิธีสมรสกันตามประเพณีแล้ว โจทก์ได้เคยขอให้จำเลยที่ ๑ ไปจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ โดยให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ เป็นผู้ให้ความยินยอมเนื่องจากจำเลยที่ ๑ ยังไม่บรรลุนิติภาวะ กลับได้ความจากนายเบิ้ม ศรีอาไพ พยานของโจทก์เองซึ่งเป็นพี่เขยโจทก์ว่า นายเบิ้มเป็นคนแนะนำให้โจทก์พาจำเลยทั้งสามไปอำเภอเพื่อทำการจดทะเบียนสมรส คำแนะนำของนายเบิ้มนี้เป็นเวลาหลังจากที่โจทก์และจำเลยที่ ๑ ได้แต่งงานและอยู่กินด้วยกันแล้ว เป็นเวลานานถึง ๑ เดือนเศษซึ่งแสดงว่าการแต่งงานระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ นี้ มิได้คำนึงถึงเรื่องการจดทะเบียนสมรสเป็นสำคัญ เมื่อโจทก์อยู่กินกับจำเลยที่ ๑ ต่อมาได้เกิดผิดใจกันจนโจทก์ต้องออกจากบ้านไปอยู่ที่อื่น พฤติการณ์ของโจทก์เช่นนี้ เห็นว่า โจทก์ไม่นำพาต่อการที่จะจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ ๑ เหตุที่โจทก์เพิ่งมาขอให้จำเลยที่ ๑ ไปจดทะเบียนสมรสด้วยก็โดยคำแนะนำของนายเบิ้มเมื่อโจทก์กับจำเลยที่ ๑ เพียงแต่ประกอบพิธีสมรสโดยมิได้เจตนาจะสมรสกันตามกฎหมาย เงินที่โจทก์อ้างว่าได้มอบให้แก่ฝ่ายหญิงจึงหาได้ให้ในฐานะเป็นของหมั้นและสินสอดตามกฎหมายไม่ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกคืนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ร่วมกันรับผิดคืนเงินหมั้นและสินสอดแก่โจทก์นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์