คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5265/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ลูกหนี้โอนที่ดินพิพาทให้แก่ ม. เกินกว่า 3 ปี ก่อนมีการฟ้องขอให้ล้มละลายแล้ว ไม่ว่าการโอนจะมีค่าตอบแทนและเป็นการโอนโดยสุจริตหรือไม่ ก็ไม่อาจร้องขอให้เพิกถอนการโอนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114 ได้ และเมื่อที่ดินพิพาทเป็นของ ม. การโอนระหว่าง ม. และ พ. ต่อมาจึงมิใช่การโอนระหว่างลูกหนี้กับ พ. จะขอให้เพิกถอนการโอนตามบทกฎหมายข้างต้นก็ไม่ได้เช่นกัน ข้ออ้างที่ว่า ลูกหนี้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่ ม.เป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้ร่วมคิดกัน มิได้มีเจตนาที่จะผูกพันกันตามเจตนาที่แสดงออกมา การซื้อขายที่ดินจึงเป็นโมฆะกรรมสิทธิ์ในที่ดินยังคงเป็นของลูกหนี้แต่ผู้เดียวนั้น มิใช่เรื่องที่ผู้ร้องยกขึ้นอ้างร้องขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ซึ่งกล่าวแต่เพียงว่าการโอนระหว่างลูกหนี้และ ม. เป็นการโอนโดยไม่สุจริตและไม่มีค่าตอบแทนเท่านั้น จึงเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นกัน ผู้ร้องจะกลับยกประเด็นอื่นขึ้นมากล่าว อ้างในคำร้องคัดค้านคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ได้ เพราะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิได้วินิจฉัยและมีคำสั่งในประเด็นดังกล่าว คำร้องของผู้ร้องในประเด็นนี้จึงขัดต่อมาตรา 146 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483.

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) เด็ดขาดเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2531 ต่อมาผู้ร้องเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้ดำเนินการเพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 769แขวงสัมพันธ์วงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ (สามเพ็ง) กรุงเทพมหานครมีเนื้อที่ 84 ตารางวา ระหว่างนางสาวมณฑา หรือสมจิตต์ บุญศศิวมลผู้โอนและนายพงษ์ศักดิ์ ตามธีรนนท์ ผู้รับโอนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พิจารณาแล้ว มีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องต่อศาลชั้นต้นคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า เดิมลูกหนี้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวโดยซื้อมาในราคา 1,500,000 บาท ต่อมาวันที่6 ตุลาคม 2519 ลูกหนี้ได้จดทะเบียนโอนขายให้แก่นางสาวมณฑา หรือสมจิตต์ บุญศศิวิมล ซึ่งอยู่กินเป็นสามีภรรยากับลูกหนี้โดยมิได้จดทะเบียนสมรสในราคา 380,000 บาท เป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้กันเป็นโมฆะตามกฎหมาย ที่ดินยังเป็นของลูกหนี้หรือลูกหนี้มีกรรมสิทธิ์ร่วมอยู่ด้วย ต่อมาในวันที่ 10 กรกฎาคม 2529 นางสาวมณฑา ได้คบคิดกันฉ้อฉลโอนขายที่ดินแปลงดังกล่าวนี้ให้แก่นายพงษ์ศักดิ์ตามธีรนนท์ ในราคา 2,300,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาจริง ปัจจุบันมีราคาถึง 8,000,000 บาท โดยลูกหนี้มิได้รู้เห็นยินยอมด้วย ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการโอนหรือมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อเพิกถอนการโอนที่ดินแปลงดังกล่าว
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คัดค้านว่า ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าขณะนี้ลูกหนี้จดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงดังกล่าวนี้ให้แก่นางสาวมณฑา บุคคลทั้งสองได้อยู่กินเป็นสามีภรรยากันหรือทำมาหากินร่วมกัน ทั้งการจดทะเบียนโอนขายที่ดินก็ได้กระทำมาแต่ปี พ.ศ. 2519เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่สามารถเพิกถอนการโอนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 11 ได้ เพราะเกินระยะเวลา3 ปีแล้ว นอกจากนี้ การที่ลูกหนี้โอนขายที่ดินให้แก่นางสาวมณฑาในราคาต่ำกว่าราคาที่ซื้อมา โดยไม่มีข้อเท็จจริงใดแสดงให้เห็นว่าลูกหนี้ไม่สุจริต จึงไม่เพียงพอให้รับฟังว่าเป็นการโอนโดยเจตนาลวงบุคคลอื่น ส่วนราคาที่ดินที่นางสาวมณฑา ขายให้แก่นายพงษ์ศักดิ์เป็นเงิน 2,300,000 บาทนั้น เป็นราคาที่สมควรกับสภาพและทำเลของที่ดินแล้ว ขอให้มีคำสั่งยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำร้องของผู้ร้องที่ยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นการขอให้เพิกถอนการโอนตามมาตรา 114แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ซึ่งจะต้องเป็นการโอนภายในระยะเวลา 3 ปี ก่อนมีการขอให้ล้มละลาย เมื่อปรากฏว่าลูกหนี้โอนที่พิพาทให้แก่นางสาวมณฑา ตั้งแต่ พ.ศ. 2519 และผู้ร้องเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลูกหนี้ล้มละลายเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2531นับแต่วันโอนจนถึงวันฟ้องเกินกว่า 3 ปีแล้ว ประกอบกับได้ความว่าลูกหนี้และนางสาวมณฑา มิได้สมรสกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย และได้ความต่อไปเพียงว่าลูกหนี้กับนางสาวมณฑา มีบุตรด้วยกันใน พ.ศ. 2526เท่านั้น ก่อนหน้านั้นจะมีความสัมพันธ์กันอย่างไรหรือไม่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงคงฟังได้เพียงว่าลูกหนี้โอนที่พิพาทให้นางสาวมณฑา ไปกรรมสิทธิ์จึงเป็นของนางสาวมณฑา ส่วนการโอนจะมีค่าตอบแทนและเป็นการโอนโดยสุจริตหรือไม่ไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะเมื่อปรากฏว่าการโอนนั้นเกินกว่า 3 ปี ก่อนมีการฟ้องขอให้ล้มละลายแล้วก็ไม่อาจร้องขอให้ศาลเพิกถอนการโอนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483ได้อยู่แล้ว เมื่อฟังว่าที่พิพาทเป็นของนางสาวมณฑา การโอนระหว่างนางสาวมณฑา และนายพงษ์ศักดิ์ ต่อมาจึงมิใช่การโอนระหว่างลูกหนี้กับนายพงษ์ศักดิ์ จะขอให้เพิกถอนการโอนตามมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ก็ไม่ได้เช่นกัน คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ส่วนที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่อศาลว่า การที่ลูกหนี้โอนกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทให้แก่นางสาวมณฑา เป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้ร่วมคิดกัน มิได้มีเจตนาที่จะผูกพันตามเจตนาที่แสดงออกมา การซื้อขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ กรรมสิทธิ์ในที่ดินยังคงเป็นของลูกหนี้แต่ผู้เดียวนั้นมิใช่เรื่องที่ผู้ร้องยกขึ้นอ้างร้องขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งกล่าวแต่เพียงว่าการโอนระหว่างลูกหนี้และนางสาวมณฑา เป็นการโอนโดยไม่สุจริตและไม่มีค่าตอบแทนเท่านั้น จึงเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นกัน ผู้ร้องจะกลับยกประเด็นอื่นขึ้นมากล่าวอ้างในคำร้องคัดค้านคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ได้ เพราะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิได้วินิจฉัยและมีคำสั่งในประเด็นดังกล่าวคำร้องของผู้ร้องในประเด็นนี้จึงขัดต่อมาตรา 146 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาในประเด็นดังกล่าวจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาคงเห็นพ้องด้วยในผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เท่านั้น
พิพากษายืน.

Share