แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่ดินของผู้ร้องคัดค้านถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลศาลายา อำเภอนครชัยศรี และตำบลบางกระทึก อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม พ.ศ.2509 เพื่อจัดสร้างพุทธมณฑลตามความประสงค์ของรัฐบาล และตามมาตรา 5แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า เงินค่าทดแทนที่จะให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนให้ถือเอาราคาในวันที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองรายสุดท้ายในบริเวณพุทธมณฑลได้มอบอสังหาริมทรัพย์ให้กระทรวงมหาดไทยเข้าครอบครองเป็นเกณฑ์คำนวณทุกราย การจัดสร้างพุทธมณฑลนั้นเป็นโครงการของรัฐบาลกำหนดขึ้นโดยมีความมุ่งหมายที่จะให้เป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญสืบไป ถือว่าเป็นประโยชน์ของรัฐอย่างหนึ่ง รัฐบาลได้แต่งตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นคณะกรรมการจัดสร้างพุทธมณฑล มีหน้าที่จัดสร้างพุทธมณฑลให้เป็นผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาล คณะกรรมการได้ดำเนินการวางโครงการ แผนผัง หารายได้ และจัดซื้อที่ดินเข้าปลูกสร้างสิ่งต่างๆ ตามโครงการ ตลอดจนเสนอรัฐบาลในการแต่งตั้งกรรมการสาขาเพื่อปฏิบัติงานแยกเป็นสัดส่วนไป โดยมีข้าราชการสังกัดต่างกระทรวงกันเป็นประธานคณะกรรมการเหล่านั้นทุกคณะ กิจการที่ดำเนินไปเป็นการกระทำในนามของรัฐบาลที่จัดให้ข้าราชการกระทรวงต่างๆ เข้าดำเนินงานรับผิดชอบคณะกรรมการได้แต่งตั้งกรรมการสาขาขึ้นคณะหนึ่งเรียกว่าคณะกรรมการดำเนินการและประสานงานจัดสร้างพุทธมณฑล มีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานและคณะกรรมการสาขานี้ได้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ขึ้นคณะหนึ่ง มีรองอธิบดีกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย เป็นหัวหน้าคณะ ให้มีหน้าที่ดำเนินการจัดซื้อที่ดินโดยรับช่วงหน้าที่จากคณะกรรมการจัดซื้อที่ดินสร้างพุทธมณฑลชุดก่อนมา และมีหน้าที่จัดสร้างถนน ขุดคูปลูกต้นไม้ในบริเวณพุทธมณฑล เจ้าหน้าที่คณะนี้ได้ดำเนินการจัดซื้อที่ดินและปลูกสร้างสิ่งต่างๆ ตามหน้าที่ตลอดมา อันแสดงว่าการซื้อและเข้าครอบครองที่ดินบริเวณจัดสร้างพุทธมณฑลในส่วนที่ซื้อไว้แล้วเป็นหน้าที่ของข้าราชการกระทรวงมหาดไทยดำเนินการ จึงถือได้ว่าเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยในการรับมอบและเข้าครอบครองที่ดินในบริเวณพุทธมณฑลตามความหมายของมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว โดยไม่จำต้องคำนึงถึงว่ากรมใดจะมีหน้าที่เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินของรัฐแห่งนี้ และเงินที่ใช้จ่ายจะได้มาจากงบประมาณแผ่นดินหรือไม่
เมื่อกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับมอบและเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์ในบริเวณพุทธมณฑลที่คณะกรรมการซื้อมา และราคาซื้อขายรายสุดท้ายก่อนที่เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะแจ้งจำนวนเงินค่าทดแทนให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนทราบ ปรากฏตามทะเบียนของสำนักงานที่ดินว่าเป็นรายที่ บ. ขายให้กรมการศาสนาในราคาไร่ละ 1,500 บาท กรณีจึงกำหนดเงินค่าทดแทนแน่นอนได้ตามราคาที่ดินรายสุดท้ายดังกล่าวการที่พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลศาลายาอำเภอนครชัยศรี และตำบลบางกระทึก อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐมพ.ศ.2509 มาตรา 5 ได้บัญญัติเรื่องเงินค่าทดแทนไว้เป็นพิเศษแล้ว จึงไม่อาจนำบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2497 มาใช้บังคับได้ เมื่อเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้แจ้งให้ผู้ร้องคัดค้านซึ่งมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนไปรับเงินค่าทดแทนซึ่งกำหนดไว้แน่นอนตามกฎหมายแล้ว ผู้ร้องคัดค้านปฏิเสธไม่ยอมรับ เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ย่อมมีสิทธิที่จะวางเงินค่าทดแทนเพื่อมีสิทธิเข้าครอบครองทรัพย์สินนั้นได้ตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2497
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าผู้ร้องเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการเกี่ยวกับการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลศาลายา อำเภอนครชัยศรี และตำบลบางกระทึก อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม พ.ศ. 2509 ผู้ร้องคัดค้านทั้งสี่เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินตามบัญชีและแผนที่ท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งต้องเวนคืนแต่ไม่ยอมรับเงินค่าทดแทน ผู้ร้องจึงขอวางเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินของผู้ร้องคัดค้านต่อศาล จำนวน 39,907.50 บาท 91,950 บาท105,937.50 บาท และ 89,088.75 บาท ตามลำดับ เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้มีสิทธิเข้าครอบครองที่ดิน จัดทำถนนและขุดคูตามโครงการจัดสร้างพุทธมณฑลต่อไป
ผู้ร้องคัดค้านทั้งสี่ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ราคาที่จะถือเป็นเกณฑ์คำนวณค่าทดแทนยังไม่เกิด และราคาที่ผู้ร้องอ้างเป็นเกณฑ์คำนวณมิใช่ราคาตามความเป็นธรรม
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้ยกคำร้องคัดค้านทั้งสี่สำนวนอนุญาตให้ผู้ร้องวางเงินค่าทดแทนได้ตามคำร้อง
ผู้ร้องคัดค้านทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องคัดค้านทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ ผู้ร้องคัดค้านรับว่าที่ดินของผู้ร้องคัดค้านถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลศาลายา อำเภอนครชัยศรี และตำบลบางกระทึก อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม พ.ศ. 2509 จริง คงโต้แย้งมีใจความสำคัญว่า ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวที่บัญญัติว่า “เงินค่าทดแทนที่จะให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนให้ถือเอาราคาในวันที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองรายสุดท้ายในบริเวณพุทธมณฑลได้มอบอสังหาริมทรัพย์ให้กระทรวงมหาดไทยเข้าครอบครองเป็นเกณฑ์คำนวณทุกราย” นั้น ไม่อาจกำหนดค่าทดแทนให้แน่นอนได้เพราะไม่มีที่ดินรายใดที่กระทรวงมหาดไทยได้เข้าครอบครอง ไม่มีเกณฑ์ที่จะนำมาคำนวณเงินค่าทดแทนอันผู้ร้องจะนำมาวางศาล จึงสมควรวินิจฉัยในปัญหาข้อแรกว่ากระทรวงมหาดไทยได้เข้าครอบครองที่ดินรายใดในบริเวณที่จัดสร้างพุทธมณฑลหรือไม่
ในปัญหาข้อนี้ตามพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายเห็นได้ว่า การจัดสร้างพุทธมณฑลเป็นโครงการของรัฐบาลกำหนดขึ้นโดยมีความมุ่งหมายที่จะให้เป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญสืบไป ถือว่าเป็นประโยชน์ของรัฐอย่างหนึ่ง รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ เรียกว่าคณะกรรมการจัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษต่อมาในปี พ.ศ. 2500 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นคณะกรรมการจัดสร้างพุทธมณฑลคณะกรรมการนี้มีหน้าที่จัดสร้างพุทธมณฑลให้เป็นผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาล ได้ดำเนินการวางโครงการแผนผังหารายได้และจัดซื้อที่ดิน เข้าปลูกสร้างสิ่งต่าง ๆ ตามโครงการที่กำหนดไว้ตลอดจนเสนอรัฐบาลในการแต่งตั้งกรรมการสาขาเพื่อปฏิบัติงานแยกเป็นสัดส่วนไป โดยมีข้าราชการสังกัดต่างกระทรวงกันเป็นประธานคณะกรรมการเหล่านั้นทุกคณะ จึงเห็นได้ว่ากิจการที่ดำเนินไปในการจัดสร้างพุทธมณฑลนั้น เป็นการกระทำในนามของรัฐบาลที่จัดให้ข้าราชการกระทรวงต่าง ๆ เข้าดำเนินงานรับผิดชอบ มิใช่ในนามของกระทรวงหนึ่งกระทรวงใดหรือของคณะกรรมการจัดสร้างพุทธมณฑลเองโดยเฉพาะ ดังที่ผู้ร้องคัดค้านฎีกา
สำหรับการจัดซื้อที่ดินและการครอบครองซึ่งหมายถึงการดูแลรักษาบริเวณที่ดินที่จัดสร้างพุทธมณฑลที่คณะกรรมการได้ดำเนินการติดต่อตกลงซื้อไว้แล้วนั้น ปรากฏตามรายงานการประชุมคณะกรรมการจัดสร้างพุทธมณฑลครั้งที่ 17 เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2506 ตามเอกสารหมาย จ.19 ว่า คณะกรรมการได้แต่งตั้งคณะกรรมการสาขาขึ้นคณะหนึ่งเรียกว่าคณะกรรมการดำเนินการและประสานงานจัดสร้างพุทธมณฑล มีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน และคณะกรรมการสาขานี้ได้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ขึ้นคณะหนึ่ง มีรองอธิบดีกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย เป็นหัวหน้าคณะให้มีหน้าที่ดำเนินการจัดซื้อที่ดินโดยรับช่วงหน้าที่จากคณะกรรมการจัดซื้อที่ดินสร้างพุทธมณฑลชุดก่อนมาและมีหน้าที่จัดสร้างถนน ขุดคู ปลูกต้นไม้ในบริเวณพุทธมณฑล ซึ่งตามพยานหลักฐานของโจทก์ปรากฏชัดว่าเจ้าหน้าที่คณะนี้ได้ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดซื้อที่ดินและปลูกสร้างสิ่งต่าง ๆ ตามหน้าที่ตลอดมา ดังนี้ แสดงให้เห็นว่าการซื้อและเข้าครอบครองที่ดินบริเวณจัดสร้างพุทธมณฑลในส่วนที่ซื้อไว้แล้วนั้นเป็นหน้าที่ของข้าราชการกระทรวงมหาดไทยดำเนินการเมื่อการปฏิบัติหน้าที่ของกระทรวงหนึ่งกระทรวงใดย่อมกระทำโดยข้าราชการของกระทรวงนั้น ๆ ก็ถือว่าเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยในการรับมอบและเข้าครอบครองที่ดินในบริเวณพุทธมณฑล ตรงตามความหมายของมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวแล้วโดยไม่จำต้องคำนึงถึงว่า กรมใดจะมีหน้าที่เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินของรัฐแห่งนี้ หรือเงินที่ใช้จ่ายจะได้มาจากงบประมาณแผ่นดินหรือไม่ ดังที่ผู้ร้องคัดค้านกล่าวอ้าง เพราะไม่เกี่ยวกับการรับมอบและการครอบครองที่ดินเหล่านั้น
เมื่อคดีฟังว่ากระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับมอบและเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์ในบริเวณพุทธมณฑลที่คณะกรรมการซื้อมา และราคาที่ซื้อขายรายสุดท้ายก่อนที่เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะแจ้งจำนวนเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนทราบ ก็ปรากฏตามทะเบียนของสำนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐมว่าเป็นรายที่นายบรรจง เจียมบุญศรี ขายให้กรมการศาสนา ราคาไร่ละ 1,500 บาท ซึ่งแม้ผู้ร้องคัดค้านจะอ้างว่ามีการซื้อขายโอนกรรมสิทธิ์กันภายหลังรายที่กล่าวนี้อีกหลายราย แต่ที่ดินทุกรายในบริเวณจัดสร้างพุทธมณฑลก็ขายในราคาไร่ละ 1,500 บาทเช่นเดียวกันหมด ฉะนั้น จะถือการซื้อขายรายใดเป็นเกณฑ์ย่อมไม่ทำให้ผลการคำนวณเงินค่าทดแทนเปลี่ยนแปลงสูงขึ้น กรณีจึงกำหนดเงินค่าทดแทนแน่นอนได้ตามราคาที่ดินรายสุดท้ายดังกล่าว ที่ผู้ร้องคำนวณเงินค่าทดแทนให้ผู้ร้องคัดค้านในราคาไร่ละ 1,500 บาทนั้น ถูกต้องแล้ว
การที่พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลศาลายาอำเภอนครชัยศรี และตำบลบางกระทึก อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐมพ.ศ. 2509 มาตรา 5 ได้บัญญัติเรื่องเงินค่าทดแทนไว้เป็นพิเศษแล้วจึงไม่อาจนำบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 มาใช้บังคับได้คดีไม่มีปัญหาในเรื่องการตกลงราคาตามความเป็นธรรมหรือในเรื่องการตั้งอนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดจำนวนเงินค่าทดแทนตามที่ผู้ร้องคัดค้านอ้าง
คดีปรากฏว่าเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้แจ้งให้ผู้ร้องคัดค้านซึ่งมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนไปรับเงินค่าทดแทนซึ่งกำหนดไว้แน่นอนตามกฎหมายแล้ว ผู้ร้องคัดค้านปฏิเสธไม่ยอมรับ เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ย่อมมีสิทธิที่จะวางเงินค่าทดแทนเพื่อมีสิทธิเข้าครอบครองทรัพย์สินนั้นได้ตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 ฉะนั้นที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ผู้ร้องวางเงินค่าทดแทนตามคำร้องได้นั้น ชอบแล้ว
พิพากษายืน