คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5255/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยจับโจทก์ร่วมไปหน่วงเหนี่ยวกักขังแล้วบังคับให้เขียนจดหมายถึงมารดาโจทก์ร่วม ให้โอนที่ดินจำนองเพื่อชำระหนี้แก่แม่ยายจำเลยหรือจำเลยนั้น จำเลยมีเจตนาเพียงเพื่อจะบังคับให้มารดาโจทก์ร่วมชำระหนี้ โดยจำเลยเชื่อว่ากระทำได้ ดังนั้น ประโยชน์ที่จำเลยเรียกร้องเอาจึงไม่ใช่ค่าไถ่ ตาม ป.อ.มาตรา 1(13).

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309,310, 313, 83, 33 ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309, 310, 313 วรรคแรก อันเป็นกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 313 วรรคแรก ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 15 ปีของกลางริบ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง 310 วรรคแรก การกระทำเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 309 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี ข้อหาอื่นให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยกับพวกร่วมกันจับโจทก์ร่วมไปหน่วงเหนี่ยวกักขังแล้วบังคับให้โจทก์ร่วมเขียนจดหมายถึงนางพันมารดาให้โอนที่ดินที่จำนองให้แก่นางขันแม่ยายจำเลยหรือจำเลยปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยจึงมีแต่เพียงว่า การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 313 หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยจับโจทก์ร่วมไปหน่วงเหนี่ยวกักขังแล้วบังคับให้เขียนจดหมายถึงนางพันมารดา ให้โอนที่ดินที่จำนองเพื่อชำระหนี้แก่นางขันแม่ยายของจำเลยหรือจำเลยนั้น จำเลยมีเจตนาเพียงเพื่อจะบังคับให้มารดาโจทก์ร่วมชำระหนี้แก่แม่ยายจำเลยหรือจำเลย โดยจำเลยซึ่งเป็นบุตรเขยเชื่อว่ากระทำได้ ดังนั้นประโยชน์ที่จำเลยเรียกร้องเอาจึงไม่ใช่ค่าไถ่ตามความหมายในบทนิยามคำว่า “ค่าไถ่” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1(13) การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 313 วรรคแรก…”
พิพากษายืน.

Share