แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ไม่ชำระหนี้ให้จำเลยตามสัญญาซื้อขายกิจการและทรัพย์สินระหว่างโจทก์กับจำเลย แต่สัญญาดังกล่าวไม่มีข้อกำหนดให้สัญญาเลิกกันทันทีในกรณีที่โจทก์ไม่ชำระหนี้จำนวนใดจำนวนหนึ่ง จำเลยจะต้องกำหนดระยะเวลาพอสมควรแล้วบอกกล่าวให้โจทก์ชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นถ้าโจทก์ไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนด จำเลยก็บอกเลิกสัญญาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 แต่จำเลยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 387 สัญญาจึงยังไม่เลิกกัน ต่อมาโจทก์นำแคชเชียร์เช็คไปชำระหนี้ให้จำเลยแต่ไม่พบ จึงไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้โทรศัพท์นัดให้จำเลยพบกับโจทก์ แต่จำเลยไม่มาตามนัด จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ดังนี้ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาได้ และโจทก์จำเลยต้องกลับคืนสู่สถานะ เดิม.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยผิดสัญญาซื้อขายกิจการและทรัพย์สินโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว ขอให้บังคับจำเลยคืนเงิน 150,000 บาทที่ได้รับไปจากโจทก์ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี
จำเลยให้การว่า จำเลยได้รับเงินจากโจทก์เพียง 130,000 บาทจำเลยไม่ต้องคืนเงินดังกล่าว เนื่องจากโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ชำระเงินที่เหลือ จำเลยจึงมีสิทธิริบเงินที่โจทก์ชำระไปแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 130,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 24 เมษายน 2527 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเงินเสร็จให้แก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นตามที่ศาลล่างทั้งสองฟังมาว่า จำเลยทำสัญญาขายกิจการบริษัทเอ็ม.เอ.กำจัดแมลง จำกัด รวมทั้งทรัพย์สินของบริษัทดังกล่าวให้โจทก์ และได้รับเงินมัดจำจากโจทก์จำนวนหนึ่งในปัญหาที่ว่า จำเลยผิดสัญญาซื้อขายและต้องคืนเงินที่ได้รับจากโจทก์เพียงใดหรือไม่นั้น เอกสารหมาย จ.3 ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4666/2527 ของศาลแขวงพระนครใต้เป็นบันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยซึ่งมีใจความสำคัญว่าโจทก์จ่ายเงินให้จำเลยแล้ว110,000 บาท โจทก์จ่ายให้ในวันทำสัญญา 40,000 บาทและหลังจากวันทำสัญญาแล้ว 15 วัน จะต้องจ่ายอีก 50,000 บาท บันทึกดังกล่าวลงวันที่ 6 ธันวาคม 2526 โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่าโจทก์จ่ายเงินให้จำเลยในวันที่ 6 ธันวาคม 2526 เป็นเงิน 40,000 บาท จึงฟังได้ว่าวันที่ 6 ธันวาคม 2526 เป็นวันทำสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเพราะบันทึกระบุข้อความชัดว่าจ่ายในวันทำสัญญา 50,000 บาทวันทำสัญญากับวันทำบันทึกดังกล่าวจึงเป็นวันเดียวกัน หาใช่โจทก์จำเลยตกลงจะทำสัญญากันในวันที่ 12 ธันวาคม 2526 ครั้นถึงวันดังกล่าวจำเลยบิดพริ้วไม่ยอมทำสัญญาดังที่โจทก์กล่าวอ้างไม่เมื่อเป็นดังนี้ข้อความในบันทึกที่ระบุว่าโจทก์จะต้องจ่ายเงินหลังจากวันทำสัญญา 15 วัน อีก 40,000 บาท จึงหมายความว่าโจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินให้จำเลยในวันที่ 21 ธันวาคม 2526 อีก50,000 บาท ดังนั้นเมื่อโจทก์ไม่นำเงิน 50,000 บาท ไปชำระให้จำเลยในวันที่ 21 ธันวาคม 2526 จึงถือว่าโจทก์ไม่ชำระหนี้ให้จำเลยตามสัญญา อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏว่าสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยนี้มีข้อกำหนดให้สัญญาเลิกกันทันทีในกรณีที่โจทก์ไม่ชำระหนี้จำนวนใดจำนวนหนึ่ง ดังนั้น กรณีนี้จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 กล่าวคือ จำเลยจะต้องกำหนดระยะเวลาพอสมควรแล้วบอกกล่าวให้โจทก์ชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้น ถ้าโจทก์ไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนด จำเลยก็บอกเลิกสัญญาได้ ตามข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวแต่ประการใดเลย ทั้งยังไม่เคยบอกเลิกสัญญากับโจทก์ด้วย ดังนั้นในวันที่ 21 ธันวาคม 2526 นั้น สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยยังไม่เลิกกัน ต่อมาวันที่ 27 ธันวาคม 2526 โจทก์นำแคชเชียร์เช็คเอกสารหมาย จ.4 จำนวนเงิน 50,000 บาท ไปชำระให้จำเลยแต่ไม่พบ จึงไปแจ้งความที่สถานีตำรวจนครบาลบางนาตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.4 ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4666/2527 ของศาลแขวงพระนครใต้ ร้อยตำรวจโทดิเรก บุญสนธิพยานโจทก์เบิกความว่า เมื่อพยานรับแจ้งความแล้วได้โทรศัพท์นัดให้จำเลยพบกับโจทก์ที่สถานีตำรวจนครบาลบางนา ในวันรุ่งขึ้น แต่เมื่อถึงกำหนดนัดจำเลยไม่มาตามนัดคงมาแต่โจทก์ เมื่อเป็นดังนี้จึงเห็นได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ให้โจทก์โดยการโอนกิจการและทรัพย์สินตามสัญญาซื้อขายให้โจทก์ทั้งที่โจทก์ชำระราคาแล้วโจทก์จึงบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาตามหนังสือเอกสารหมาย จ.1 แล้ว โจทก์จำเลยจึงต้องกลับคืนสู่สถานะเดิมโดยจำเลยต้องคืนเงินที่ได้รับไปจากโจทก์ทั้งหมดให้โจทก์…”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลเห็นสมควรให้เป็นพับ