คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5252/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องด้วยวาจาซึ่งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงพ.ศ.2499มาตรา19ให้ศาลบันทึกใจความแห่งฟ้องไว้เป็นหลักฐานหาจำต้องบันทึกไว้โดยละเอียดไม่และก่อนศาลบันทึกฟ้องดังกล่าวศาลอาจจะสอบถามโจทก์เกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่างๆที่จำเลยกระทำความผิดได้แต่ก็จะบันทึกไว้เฉพาะข้อความสำคัญส่วนบันทึกการฟ้องด้วยวาจาของโจทก์ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของฟ้องด้วยวาจาของโจทก์เท่านั้นเมื่อพิจารณาใจความที่ศาลบันทึกการฟ้องด้วยวาจาของโจทก์ประกอบกับบันทึกการฟ้องด้วยวาจาที่โจทก์ส่งต่อศาลที่เกี่ยวกับข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติทางหลวงพ.ศ.2535แล้วได้ความว่าเมื่อวันที่22ธันวาคม2537เวลากลางวันจำเลยขับรถยนต์บรรทุกลากจูงและรถพ่วงบรรทุกหินคลุกมีน้ำหนักยานพาหนะหรือน้ำหนักบรรทุกเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดอันเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฎิบัติตามประกาศผู้อำนวยการทางหลวงพิเศษเรื่องห้ามใช้ยานพาหนะโดยที่พยานพาหนะนั้นมีน้ำหนักบรรทุกหรือน้ำหนักลงเพลาเกินกว่าที่ได้กำหนดเดินบนทางหลวงลงวันที่1กันยายน2535ซึ่งเป็นการระบุข้อเท็จจริงที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดแล้วกล่าวคือจำเลยขับรถยนต์บรรทุกมีน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดบนทางหลวงอันเป็นความผิดทั้งได้ระบุสถานที่ที่เกี่ยวข้องพอสมควรที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้และจำเลยก็ให้การรับสารภาพตามฟ้องแสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีหาจำต้องระบุข้อเท็จจริงว่าเป็นทางหลวงสายใดไม่คำฟ้องในข้อหานี้ของโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา158(5)แล้ว โจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นขอให้ไม่รอการลงโทษแก่จำเลยแต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโดยยังมิได้วินิจฉัยปัญหานี้ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2537 เวลากลางวันจำเลยขับรถยนต์บรรทุกชนิดลากจูงและรถพ่วงซึ่งตัวรถลากจูงเป็นรถบรรทุกสิบล้อมีน้ำหนักยานพาหนะรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 21,000 กิโลกรัม ส่วนรถพ่วงชนิดเพลาเดี่ยว ใช้ยางคู่มีน้ำหนักลงเพลาไม่เกิน 18,200 กิโลกรัม รวมน้ำหนักบรรทุกของรถลากจูงและรถพ่วงไม่เกิน 39,200 กิโลกรัม โดยไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนแล้วนำมาใช้ในทางเดินรถ และบรรทุกหินคลุกมีน้ำหนักบรรทุกและน้ำหนักยานพาหนะรวม 64,430 กิโลกรัมเกินกว่ากำหนดไป 25,230 กิโลกรัม อันเป็นการฝ่าฝืน ไม่ปฎิบัติตามกฎหมายและประกาศผู้อำนวยการทางหลวงพิเศษ เรื่องห้ามใช้ยานพาหนะโดยที่ยานพาหนะนั้นมีน้ำหนักบรรทุกหรือน้ำหนักลงเพลาเกินกว่าที่ได้กำหนดเดินบนทางหลวง ลงวันที่ 1 กันยายน2535 เหตุเกิดที่ตำบลไทรโสภา อำเภอพระแสงจังหวัดสุราษฎร์ธานีขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 4, 6,61, 73, 75 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 7, 152ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 63, 73 พระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 152 ฐานขับรถบรรทุกน้ำหนักเกินจำคุก 3 เดือนและปรับ 6,000 บาท ฐานขับรถบรรทุกไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนปรับ 1,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง เฉพาะฐานขับรถบรรทุกไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงปรับ 500 บาท รวมเป็นจำคุก 3 เดือน และปรับ 6,500บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 5 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา29, 30
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษ โดยอัยการพิเศษประจำเขต 8 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 152 เป็นอันยุติแล้วคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 61, 73 ตามฎีกาของโจทก์ว่าคำฟ้องของโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5)หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว คดีนี้โจทก์ฟ้องด้วยวาจาซึ่งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงพ.ศ.2499 มาตรา 19 ให้ศาลบันทึกใจความแห่งฟ้องไว้เป็นหลักฐานหาจำต้องบันทึกไว้โดยละเอียดไม่ และก่อนศาลบันทึกฟ้องดังกล่าวศาลอาจจะสอบถามโจทก์เกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่าง ๆที่จำเลยกระทำความผิดได้ แต่ก็จะบันทึกไว้เฉพาะข้อความสำคัญ ส่วนบันทึกการฟ้องด้วยวาจาของโจทก์ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของฟ้องด้วยวาจาของโจทก์เท่านั้น เมื่อพิจารณาใจความที่ศาลบันทึกการฟ้องด้วยวาจาของโจทก์ประกอบกับบันทึกการฟ้องด้วยวาจาที่โจทก์ส่งต่อศาลที่เกี่ยวกับข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 แล้ว ได้ความว่า เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม2537 เวลากลางวัน จำเลยขับรถยนต์บรรทุกลากจูงและรถพ่วงบรรทุกหินคลุกมีน้ำหนักยานพาหนะหรือน้ำหนักบรรทุกเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดอันเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฎิบัติ ตามประกาศผู้อำนวยการทางหลวงพิเศษ เรื่องห้ามใช้ยานพาหนะโดยที่ยานพาหนะนั้นมีน้ำหนักบรรทุกหรือน้ำหนักลงเพลาเกินกว่าที่ได้กำหนดเดินบนทางหลวง ลงวันที่ 1 กันยายน 2535 ซึ่งเป็นการระบุข้อเท็จจริงที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดแล้ว กล่าวคือ จำเลยขับรถยนต์บรรทุกมีน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดบนทางหลวงอันเป็นความผิด ทั้งได้ระบุสถานที่ที่เกี่ยวข้องพอสมควรที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ และจำเลยก็ให้การรับสารภาพตามฟ้องแสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี หาจำต้องระบุข้อเท็จจริงว่าเป็นทางหลวงสายใดดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยไม่ คำฟ้องในข้อหานี้ของโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158 (5) เมื่อคำฟ้องข้อหานี้ของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายจำเลยย่อมมีความผิดในข้อหานี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่โจทก์ได้อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษแก่จำเลย ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังมิได้วินิจฉัยปัญหานี้ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไปเสียทีเดียว โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยอีกครั้งหนึ่ง พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลยหรือไม่และเห็นว่าที่ศาลชั้นต้นรอการลงโทษให้จำเลยเป็นการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมแล้วแต่เห็นสมควรให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี และเพื่อเป็นการป้องปรามมิให้จำเลยไปกระทำผิดในลักษณะทำนองเดียวกันนี้อีก จึงเห็นสมควรให้คุมความประพฤติจำเลยไว้ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติทางหลวงพ.ศ.2535 มาตรา 61, 73 จำคุก 3 เดือน และปรับ 6,000 บาทรอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 1 ปี และให้คุมความประพฤติของจำเลยโดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือนต่อครั้ง ตลอดระยะเวลาที่รอการลงโทษ และให้จำเลยละเว้นการประพฤติอันใดที่อาจนำไปสู่การกระทำผิดเช่นเดียวกันนี้อีกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 วรรคหนึ่งและวรรคสอง หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share