แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การหมั้นและจะเรียกว่าหมั้นก็ต่อเมื่อฝ่ายชายนำของหมั้นไปมอบให้ฝ่ายหญิง อันเป็นเรื่องที่เข้าใจกันตามธรรมดาและตามประเพณีเมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นฝ่ายนั้นต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1438 โดยที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษ เช่นนี้เมื่อฝ่ายชายเพียงแต่ตกลงว่าจะสมรสโดยไม่มีการหมั้นดังนี้ จึงอยู่นอกขอบเขตที่กฎหมายรับรองหากไม่ปฏิบัติตามที่ตกลงไว้จะเรียกค่าทดแทนหาได้ไม่
การที่ไม่มีประเพณีท้องถิ่นว่าจะต้องมีของหมั้น มิใช่เหตุอันจะพึงยกขึ้นลบล้างบทกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1438 ได้
ย่อยาว
คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นภริยาผู้ใช้อำนาจปกครองและเป็นผู้แทนโจทก์ที่ 2 ซึ่งมีอายุ 17 ปี เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2507 จำเลยที่ 1 ได้มาสู่ขอและทำการหมั้นโจทก์ที่ 2 ให้แก่จำเลยที่ 2 โจทก์ทั้งสองรับหมั้น เรียกค่าสินสอด 2,000 บาท จำเลยตกลงและกำหนดทำการสมรสในวันที่ 12 มีนาคม 2507 ที่บ้านของโจทก์ที่ 1 แต่จำเลยไม่ปรากฏตัวเลย จึงไม่มีการสมรส โจทก์ได้เตรียมสิ่งของอาหาร เครื่องดื่ม เพื่อใช้ในการสมรสรวม 7,178 บาท ทำให้โจทก์ได้รับการเสียหายอับอายขายหน้า ขอให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์7,178 บาท
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้หมั้นหรือไม่ได้นัดหมายว่าจะแต่งงาน จำเลยพูดจาสู่ขอโจทก์ที่ 2 เป็นภริยาจำเลยที่ 2 จริง แต่โจทก์เรียกค่าสินสอด 2,000 บาท จำเลยขอลดเพียง 1,600 บาท โจทก์ไม่ยอมรับ จำเลยจึงไม่ได้นัดแต่งงานกับโจทก์ โจทก์ไม่เสียหายเพราะไม่มีการนัดแต่งงาน ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยผิดสัญญาจะแต่งงานตามฟ้อง ให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์รวม 4,658 บาท
จำเลยอุทธรณ์ว่า ไม่มีการหมั้น และศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายเกินความจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า ไม่ได้ความว่าฝ่ายจำเลยให้ทรัพย์สินอะไรไว้แก่โจทก์ จึงไม่เป็นการหมั้นตามกฎหมาย เมื่อไม่มีการหมั้นก็เรียกค่าทดแทนไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่รับรองตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 676/2487 พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกาว่า กฎหมายไม่ได้บังคับว่าการหมั้นต้องมีของหมั้นไม่มีประเพณีท้องถิ่นที่โจทก์จำเลยอยู่ว่าจะต้องมีของหมั้น จำเลยควรชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการผิดสัญญา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำว่า หมั้น ตามที่เข้าใจกันตามธรรมดาและตามประเพณี จะเรียกว่าหมั้นก็ต่อเมื่อฝ่ายชายนำของหมั้นไปมอบให้ฝ่ายหญิงแล้ว เมื่อมีการหมั้นแล้วถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้น ฝ่ายนั้นต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนตามมาตรา 1438 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษเช่นนี้ การตกลงว่าจะสมรสโดยไม่มีการหมั้น จึงอยู่นอกขอบเขตที่กฎหมายรับรอง หากไม่ปฏิบัติตามที่ตกลงไว้ จึงเรียกค่าทดแทนไม่ได้ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า ไม่มีประเพณีท้องถิ่นที่โจทก์จำเลยอยู่ว่าจะต้องมีของหมั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่ไม่มีประเพณีท้องถิ่นที่โจทก์จำเลยอยู่ว่าจะต้องมีของหมั้น มิใช่เหตุอันจะพึงยกขึ้นลบล้างบทกฎหมายดังกล่าวนั้นได้ พิพากษายืน