คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 524/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ตายมีภริยาชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้วคนหนึ่งต่อมาได้ภริยาน้อยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาอยู่ร่วมด้วยอีกคนหนึ่งดังนี้ ถือว่าภริยาน้อยเข้ามาอยู่ในครอบครัวของผู้ตายในฐานะเป็นบริวารหรือนางบำเรอเท่านั้นจึงหามีสิทธิที่จะเข้ามามีส่วนเป็นเจ้าของรวมในกองทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างผู้ตายกับภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายไม่
การที่สามีเอาที่ดินอันเป็นสินบริคณห์โอนยกให้แก่บุตรโดยเสน่หานั้นเป็นการให้ตามสมควรในทางศีลธรรมอันดี ภริยาจะขอให้เพิกถอนไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ได้สมรสกับนายอ่องตามกฎหมายมา 31 ปีแล้ว อยู่กินกันตลอดมา นายอ่องตายเมื่อ 13 มิถุนายน 2502 โจทก์มีสินเดิมเป็นเงิน 44,050 บาท แต่ได้จำหน่ายไปหมดแล้ว มีสินสมรสตามบัญชีท้ายฟ้องหมาย 2, 3, 4, 5 คิดเป็นเงิน 1,106,027.28 บาท นายอ่องทำพินัยกรรมไว้ 2 ฉบับ คงสมบูรณ์เฉพาะทรัพย์ส่วนของนายอ่องเท่านั้น ไม่ผูกพันสินสมรสส่วนของโจทก์ เพราะโจทก์ไม่รู้เห็นให้ความยินยอม นายอ่องมีภริยาชอบด้วยกฎหมายคือโจทก์คนเดียว เกิดบุตร 5 คน และนายอ่องมีบุตรเกิดกับนางก้ามจำเลยอีก 6 คน ยังไม่บรรลุนิติภาวะ นางก้ามร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกนายอ่อง ศาลอนุญาต ทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องหมายเลข 2 เป็นเงิน 428,827.28 ตกเป็นสินสมรสส่วนของนายอ่องครึ่งหนึ่ง ซึ่งต้องหักใช้สินเดิมให้โจทก์ ค่าทำศพ จ่ายให้ผู้รับมรดกตามคำสั่งในพินัยกรรมคงเหลือ 37,363.64 บาท เงินตามบัญชีท้ายฟ้องหมายเลข 3 เงิน 164,200 บาท เป็นสินสมรสส่วนของนายอ่องครึ่งหนึ่ง 82,100 บาท ทรัพย์ทั้งสองรายการนี้จะต้องแบ่งให้แก่นายฮกหลาย เด็กชายฮกล๊อก เด็กชายหิ่นหลี เท่า ๆ กัน ตามคำสั่งในพินัยกรรม ทรัพย์ท้ายฟ้องหมาย 4 เงิน 18,000 บาท เป็นเงินสมรสของโจทก์ครึ่งหนึ่ง 9,000 บาท จำเลยไม่ยอมแบ่งทรัพย์ท้ายฟ้องหมาย 5 อันดับ 1, 2 เป็นสินสมรส แต่นายอ่องโอนให้แก่บุตรจำเลยโดยเสน่หาโดยโจทก์ไม่รู้เห็นยินยอม ขอให้เพิกถอนเอามาแบ่งให้โจทก์ครึ่งหนึ่งเป็นเงิน 112,500 บาท อันดับ 3, 4, 5, 6, 7 เป็นสินสมรสต้องแบ่งให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง เป็นเงิน 135,000 บาท จึงขอให้ศาลบังคับ

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่ภริยาชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ถูกนายอ่องขับไล่ออกไปอยู่ที่อื่นและทิ้งร้างกันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2486 โจทก์ไม่มีสินเดิม แต่นายอ่องมีทรัพย์หมาย 4, และ 5 ไม่ใช่สินสมรสระหว่างโจทก์กับนายอ่อง เป็นทรัพย์รวมระหว่างนายอ่องกับจำเลยทำมาหาได้ร่วมกัน จำเลยมีส่วนได้คนละครึ่งกับนายอ่อง การแบ่งที่โจทก์อ้างในฟ้องไม่ถูกต้องพินัยกรรมทั้ง 2 ฉบับสมบูรณ์ โจทก์รู้เห็นยินยอมด้วย ทรัพย์ท้ายฟ้องหมายเลข 4 เป็นสินส่วนตัวของจำเลย จำเลยแต่งงานอยู่กินกับนายอ่อง แต่ พ.ศ. 2480 มีสร้อยคอ แหวนเพ็ชร ฯ ทำมาหากินร่วมกับนายอ่อง จำเลยจึงมีสิทธิกันส่วนของจำเลยครึ่งหนึ่งไว้ก่อนแบ่งให้ทายาท ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นเห็นว่า นายอ่องกับโจทก์เป็นสามีภริยาถูกต้องตามกฎหมายลักษณะผัวเมียคลอดมาจนนายอ่องตาย ส่วนนางก้ามมิใช่ภริยาชอบด้วยกฎหมายโจทก์ไม่ได้รู้เห็นยินยอมในการที่นายอ่องทำพินัยกรรมนายอ่องจะทำพินัยกรรมเอาส่วนสินสมรสของโจทก์ไปยกให้คนอื่นหาได้ไม่ทรัพย์หมาย 2, 3, 5 เป็นสินสมรสของโจทก์กับนายอ่อง โจทก์มีสิทธิแบ่งได้เพราะโจทก์มีสินเดิม แต่โจทก์สืบไม่ได้ว่าขายสินเดิมไปราคาเท่าใด จึงหักสินสมรสเติมใช้ให้ไม่ได้ การแบ่งสินสมรสต้องแบ่งตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย คือ ขายได้ 2 ส่วน หญิง 1 ส่วน ส่วนของนายอ่องตกทอดไปยังผู้รับมรดกตามคำสั่งในพินัยกรรมนายอ่อง ทรัพย์หมาย 4 อยู่ในครอบครองนางก้ามจึงตกเป็นของนายก้าม ทรัพย์ท้ายฟ้องหมาย 5อันดับ 1, 2 ยังไม่พอฟังว่าโจทก์มิได้รู้เห็นในการที่นายอ่องทำนิติกรรมโอนให้บุตร พิพากษาให้จำเลยแบ่งทรัพย์หมาย 2, 3 และ 5 อันดับ 3, 4, 5, 6, 7 ออกเป็น 3 ส่วน ให้โจทก์ได้ 1 ส่วน อีก 2 ส่วนเป็นสินสมรสส่วนของนายอ่องหักเป็นค่าทำศพตามพินัยกรรม 30,000 บาท ที่เหลือทั้งหมดตกเป็นของทายาทที่ระบุในพินัยกรรมตามส่วน

โจทก์จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเมื่อโจทก์ไปอยู่กินกับนายอ่อง โจทก์มีเครื่องทองและเงินสดขณะนี้ราคาสี่ห้าหมื่นบาท เวลานี้ไม่มีอะไรเหลือ เพราะใช้จ่ายไปในการอยู่กินกับนายอ่อง จึงชอบที่จะเอาสินสมรสระหว่างโจทก์กับนายอ่องชดใช้สินเดิมของโจทก์เสียก่อนเป็นเงิน 44,050 บาท ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ขอแบ่งสินสมรสคนละครึ่งและทรัพย์หมายเลข 4 เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนายอ่อง กับทรัพย์หมายเลข 5 อันดับ 1, 2 โอนให้บุตรโดยโจทก์ไม่รู้เห็นนั้นฟังไม่ขึ้น ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าทรัพย์หมาย 2, 3, 5 เป็นทรัพย์ร่วมที่นายอ่องกับจำเลยทำมาหาได้ร่วมกัน ขอให้แบ่งให้จำเลยครึ่งหนึ่งก่อนนั้นฟังไม่ขึ้นจึงพิพากษาแก้ให้เอาสินสมรสระหว่างโจทก์กับนายอ่องใช้สินเดิมโจทก์ก่อนเป็นเงิน 44,050 บาท ทรัพย์หมาย 2, 3 และ 5 เฉพาะอันดับ 3, 4, 5, 6, 7 กันไว้เป็นส่วนของจำเลยครึ่งหนึ่งก่อน ที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนายอ่อง โจทก์มีส่วนได้ 1 ใน 3 สินสมรสส่วนของนายอ่องตกได้แก่ผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมของนายอ่องนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ที่โจทก์ฎีกาขอให้แบ่งสินสมรสให้โจทก์ครึ่งหนึ่งฟังไม่ขึ้นเพราะโจทก์กับนายอ่องสมรสกันก่อน พ.ศ. 2477 การแบ่งสินสมรสต้องแบ่งตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย คือ โจทก์ได้ 1 ใน 3 สำหรับทรัพย์หมายเลข 4มีลักษณะเป็นเครื่องประดับกายอยู่ในครอบครองของจำเลย ตามพฤติการณ์ควรฟังว่านายอ่องได้โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยแล้ว กับทรัพย์หมายเลข 5 อันดับ 1, 2 (ที่ดิน 2 โฉนด) นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าทรัพย์นี้เป็นสินบริคณห์ และเป็นสินสมรส สามีมีอำนาจจัดการจำหน่ายสินบริคณห์ได้ และการโอนให้แก่บุตรก็เป็นการให้ตามสมควรในทางศีลธรรมอันดี นายอ่องผู้สามีได้ปฏิบัติการไปโดยชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1473 แล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิให้เพิกถอน ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

สำหรับฎีกาโจทก์เกี่ยวกับทรัพย์หมาย 2, 3 และ 5 อันดับ 3, 4, 5, 6, 7 ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยมีสิทธิกันส่วนครึ่งหนึ่งก่อนนั้นโจทก์เชื่อว่ากฎหมายที่ให้ถือว่าเป็นทรัพย์ร่วมระหว่างสามีภริยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นไม่มี ศาลฎีกาพิเคราะห์ฎีกาโจทก์ข้อนี้แล้ว เห็นว่าหลักที่ศาลฎีกาดำเนินเป็นแนววินิจฉัยตาม ๆ กันมา โดยอาทิ คำพิพากษาฎีกาที่ 303/2488 นั้น พฤติการณ์เป็นเรื่องที่ชายหญิงอยู่ด้วยกันอย่างเป็นคู่ผัวเมีย หากแต่ไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายบังคับ ถึงกระนั้นก็ได้ร่วมทุกข์สุขกัน ร่วมมือร่วมแรงทำมาหาได้สะสมทรัพย์เอาไว้ระหว่างกัน ครั้นชายตายลง ญาติพี่น้องขายอ้างเป็นทายาท จะเอาทรัพย์ที่เขาทำมาหาได้นั้นไปเสียจากหญิงจนสิ้นศาลฎีกาจึงวินิจฉัยข้อกฎหมายเป็นหลักไว้ว่า ทรัพย์ที่ชายหญิงสะสมไว้นั้นเป็นทรัพย์ที่เขาหาได้มาโดยเจตนาจะเป็นเจ้าของร่วมกัน เป็นหลักกฎหมายเรื่องกรรมสิทธิ์ ซึ่งท่านให้สันนิษฐานว่าเจ้าของรวมมีส่วนในทรัพย์คนละเท่า ๆ กันด้วย เหตุนี้จึงถือตามกันมาว่า ชายหญิงอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยา ขาดอยู่เพียงไม่จดทะเบียนสมรสนั้นเขาย่อมมีสิทธิอยู่ในกองทรัพย์สินที่เขาร่วมกันทำมาหาได้สะสมไว้นั้นคนละกึ่ง แต่สำหรับคดีนี้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายอ่องผู้ตายมีโจทก์เป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว แล้วจึงมาได้จำเลยเป็นภริยาน้อยอีกคนหนึ่ง ภายหลังใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 และโดยมิได้จดทะเบียน นายอ่องผู้ตายได้อยู่ร่วมกับโจทก์จำเลยด้วยกันจนกระทั่งนายอ่องตายแม้โจทก์จะอยู่บ้านเลขที่ 68 จำเลยอยู่ห้องเลขที่ 65 แต่ก็ติดต่อกันมีทางเข้าออกถึงกัน ต้องถือว่านายอ่องผู้ตายได้อยู่ร่วมกับโจทก์ซึ่งเป็นภริยาหลวงโดยชอบด้วยกฎหมายจนนายอ่องถึงแก่ความตาย ข้อเท็จจริงดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า จะถือว่าจำเลยผู้เป็นภริยาน้อยซึ่งไม่มีฐานะเป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายอย่างใดเลยนั้น ได้เข้ามามีส่วนเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายอีกคนหนึ่งหาได้ไม่ จำเลยเข้ามาอยู่ในครอบครัวของนายอ่องในฐานะเป็นบริวารหรือนางบำเรอเท่านั้น ฉะนั้นจึงจะถือว่าจำเลยได้เข้ามามีกรรมสิทธิ์ร่วมในกองทรัพย์สินระหว่างนายอ่องกับโจทก์ไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยมีสิทธิกันส่วนของจำเลยครึ่งหนึ่งออกก่อนจากทรัพย์สินอันเป็นสินบริคณห์ระหว่างนายอ่องกับโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น

จึงพิพากษาแก้เฉพาะทรัพย์หมาย 2, 3 และ 5 อันดับ 3, 4, 5, 6, 7 ว่าเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนายอ่องโดยไม่ต้องกันให้จำเลยครึ่งหนึ่งก่อน นอกนั้นให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share