คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5238/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะผู้ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะคันที่ชนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ และขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดต่อโจทก์ โดยจำเลยทั้งสองมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ทั้งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่บัญญัติให้ผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือผู้ครอบครองใช้ประโยชน์ในรถยนต์ต้องรับผิดต่อผู้ถูกกระทำละเมิด จำเลยทั้งสองไม่มีความรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ แม้จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้ หรือยกขึ้นต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 (5) ประกอบมาตรา 246

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 85,056.22 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 85,056.22 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป (ฟ้องวันที่ 21 กรกฎาคม 2557) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเภทบริษัทมหาชนจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการรับประกันวินาศภัย ตามสำเนาหนังสือรับรอง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ตามหนังสือรับรองสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดพัทลุง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โจทก์รับประกันภัยรถยนต์ประเภทชดใช้โดยสิ้นเชิงในรถยนต์ยี่ห้อมิตซูบิชิ รุ่นไทรทัน ป้ายแดง แบบตัวถังดับเบิ้ลแคปของนางสาวศิริวรรณ มีอายุประกันภัย 1 ปี เริ่มต้นวันที่ 22 มีนาคม 2556 สิ้นสุดวันที่ 22 มีนาคม 2557 ตามสำเนาตารางกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รถกระบะ หมายเลขทะเบียน บน 2039 ตรัง ตามสำเนารายการจดทะเบียน กรมการขนส่งทางบก ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ยกปัญหาข้อกฎหมายขึ้นวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง ชอบหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ยกขึ้นวินิจฉัยมิใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้คดีหรือยกขึ้นต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ยกประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นวินิจฉัยจึงไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ถือกรรมสิทธิ์รถกระบะ หมายเลขทะเบียน บน 2039 ตรัง ซึ่งรถกระบะดังกล่าวกระทำละเมิดชนรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย และขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ โดยจำเลยทั้งสองมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์แต่อย่างใด เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรับผิดในเหตุละเมิด จึงต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 5 ละเมิด หมวด 1 ความรับผิดเพื่อละเมิด ซึ่งบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติใดที่บัญญัติให้ผู้ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์หรือผู้ครอบครองใช้ประโยชน์ในรถยนต์ต้องรับผิดต่อผู้ถูกกระทำละเมิด ดังนั้น จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ถือกรรมสิทธิ์รถกระบะจึงไม่มีความรับผิดต่อโจทก์ และจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย เมื่อจำเลยทั้งสองไม่มีความรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง ประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 9 เห็นสมควรก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ แม้จำเลยทั้งสองจะไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้ หรือยกขึ้นต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องโจทก์ จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาประการอื่นของโจทก์ต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share