คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2032/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทระบุว่ากรรมการของโจทก์มี 7 คน ว.เป็นกรรมการคนที่ 4 และ พ. เป็นกรรมการคนที่ 5ซึ่งจำเลยไม่ได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น และใน ข้อ 3 ระบุว่า กรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันโจทก์ได้ คือ บ.ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์หรือกรรมการอื่น 2 คน ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของโจทก์ ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งมอบอำนาจให้ อ.เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีนี้แทน มี พ. และ ว. กรรมการของโจทก์ 2 คน ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของโจทก์ เช่นนี้ ย่อมฟังได้ว่า พ. และ ว.มอบอำนาจให้แก่ อ.ในนามของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
คดีนี้จำเลยได้ให้การต่อสู้ไว้แต่เพียงว่า พ.และ ว.ไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ในขณะฟ้องคดีนี้ และโจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้ อ.ฟ้องคดีนี้เท่านั้น ฎีกาของจำเลยที่ว่า ตามหนังสือมอบอำนาจระบุว่าผู้รับมอบอำนาจคือ พ.และ ว. ไม่ใช่โจทก์ และตราที่ประทับไว้ที่ด้านล่างของหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไม่มีผู้ใดยืนยันว่าเป็นตราสำคัญของโจทก์ตามที่ได้จดทะเบียนไว้ต่อนายทะเบียน จึงมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์และมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับ เพราะยื่นเกินกำหนดเวลาและไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ต่อมาในวันนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 1กันยายน 2537 ซึ่งศาลอนุญาตให้เลื่อนมา โจทก์ยื่นคำร้องขอระบุพยานเพิ่มเติมศาลชั้นต้นยกคำร้องและมีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาในวันเดียวกันว่า ศาลชั้นต้นไม่รับบัญชีระบุพยานโจทก์ ถือว่าโจทก์ไม่ยื่นบัญชีระบุพยานไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบให้เลื่อนไปนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 21 ตุลาคม 2537 ในวันที่ 14 กันยายน 2537โจทก์ยื่นคำร้องว่า มิได้มีเจตนายื่นบัญชีระบุพยานเกินกำหนด แต่เนื่องจากเสมียนทนายไม่นำบัญชีระบุพยานไปยื่นภายในกำหนดตามที่มอบหมาย และทนายความโจทก์เพิ่งทราบเรื่องเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2537 เพราะศาลไม่ให้โจทก์นำพยานเข้าสืบศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง เช่นนี้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอของโจทก์ทั้ง 3ครั้งดังกล่าว ก็เป็นการสั่งตามที่บทบัญญัติมาตรา 88 วรรคหนึ่งและวรรคสอง แห่งป.วิ.พ.ให้อำนาจไว้เป็นขั้นตอนให้ศาลใช้ดุลพินิจสั่งตามที่เห็นสมควร ดังนั้น แม้ศาลจะมีคำสั่งไม่อนุญาตตามมาตรา 88 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง แล้ว ก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะยื่นคำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานโจทก์ตามบทบัญญัติในมาตรา 88 วรรคสี่ซึ่งให้โอกาสคู่ความขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานพร้อมกับยื่นบัญชีระบุพยานก่อนศาลมีคำพิพากษา โดยแสดงเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นบัญชีระบุพยานภายในกำหนดเวลาดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ดังนั้น เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยานลงวันที่ 11 ตุลาคม 2537 จึงเป็นการใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ.มาตรา 88 วรรคสี่นั่นเอง เมื่อได้พิเคราะห์ถึงคำร้องขอระบุบัญชีพยานครั้งก่อนลงวันที่ 14 กันยายน2537 ที่อ้างว่า ทนายความโจทก์มิได้มีเจตนายื่นบัญชีระบุพยานเกินกำหนด แต่เนื่องจากเสมียนทนายไม่นำบัญชีพยานไปยื่นภายในกำหนด และทนายความโจทก์เพิ่งทราบเรื่องในวันที่ 1 กันยายน 2537 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์เพราะศาลมีคำสั่งไม่ให้โจทก์นำพยานเข้าสืบ ประกอบกับคำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานโจทก์ครั้งหลังสุดคือฉบับลงวันที่ 11 ตุลาคม 2537 ซึ่งอ้างเหตุว่า โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกล่วงเลยเวลาที่กฎหมายกำหนดเพียง 3 วัน และในวันนัดชี้สองสถานโจทก์ส่งต้นฉบับเอกสารที่จะอ้างเป็นพยานตามที่ระบุในบัญชีระบุพยานซึ่งศาลได้รับต้นฉบับเอกสารของโจทก์ไว้แล้ว ประกอบคดีนี้จำเลยยื่นคำให้การโดยมิได้ปฏิเสธหนี้ตามฟ้องโจทก์ ทั้งการที่โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ขอศาลอนุญาตนั้น ถือได้ว่าโจทก์มีเหตุอันสมควรที่มิได้ยื่นบัญชีระบุพยานภายในกำหนด ประกอบกับคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์แล้วผิดนัดไม่ชำระค่าสินค้าแก่โจทก์ตามกำหนด และพยานหลักฐานตามบัญชีระบุพยานที่โจทก์อ้าง และขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลเป็นพยานหลักฐานที่จะพิสูจน์เกี่ยวกับการสั่งซื้อสินค้าและการผิดนัดไม่ชำระค่าสินค้าของจำเลยให้แก่โจทก์อันเป็นข้อสำคัญแห่งประเด็นในคดี ดังนั้น เพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นเป็นไปโดยเที่ยงธรรม จึงจำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้น ทั้งพยานฝ่ายจำเลยก็ยังมิได้มีการนำสืบ การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับบัญชีระบุพยานโจทก์จึงไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบแต่อย่างใด คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยาน และสั่งรับบัญชีระบุพยานโจทก์ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2537 จึงชอบด้วย ป.วิ.พ.มาตรา 88วรรคสี่ แล้ว โจทก์มีสิทธินำพยานหลักฐานดังกล่าวเข้าสืบ และศาลชั้นต้นมีอำนาจนำมารับฟังในการพิจารณาและพิพากษาคดีนี้ได้

Share