แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยเอาความเท็จไปร้องกล่าวโทษโจทก์ต่อกำนันและอำเภอครั้นสืบพะยานโจทก์หมดแล้วโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องว่าความเท็จที่จำเลยนำไปแจ้งนั้นจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จดังนี้ เมื่อไม่ปรากฎว่าจำเลยหลงข้อต่ออย่างใดแล้ว กฎหมายมิให้ถือว่าจำเลยเสียเปรียบโจทก์ย่อมขอแก้ได้,พฤตติการณ์ที่ถือว่าเป็นการ+แก้รายละเอียดที่ต้องตกลงในฟ้อง
ย่อยาว
เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยว่าเอาความเท็จไปร้องกล่าวโทษโจทก์ต่อกำนันและกรรมการอำเภอหาว่าโจทก์ลักทรัพย์ ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่าคดีมีมูล หมายเรียกจำเลยมาพิจารณา ครั้นโจทก์สืบพะยานเสร็จแล้วยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องว่าความเท็จที่จำเลยนำไปแจ้งนั้น จำเลยรู้แล้วว่าเป็นเท็จ
ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้แก้ แล้วพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ยืน
ศาลฎีกาพร้อมกันวินิจฉัยว่าตามประมวลวิธีพิจารณาอาญา ม.๑๖๔ อนุญาตว่าการแก้ฐานความผิดหรือรายละเอียดซึ่งต้องแถลงในฟ้องก็ดี เพิ่มเติมฐานความผิดหรือรายละเอียดซึ่งมิได้กล่าวไว้ก็ดีไม่ว่าจะทำในระยะใดระหว่างพิจารณาในศาลชั้นต้น มิให้ถือว่าจำเลยเสียเปรียบเว้นแต่จำเลยหลงข้อต่อสู้ แต่คดีนี้จำเลยมิได้หลงข้อต่อสู้ประการใด โดยจำเลยให้การว่าข้อความที่จำเลยไปร้องเรียนนั้นจำเลยเชื่อว่าเป้นความจริงข้อความที่โจทก์ขอแก้จึงเป็นเพียงรายละเอียดที่มุ่งฐานความผิด ให้กระจ่างชัดเจนขึ้น เมื่อโจทก์ขอแก้ในระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น กฎหมายไม่ให้ถือว่าจำเลยเสียเปรียบ เว้นแต่จะหลงข้อต่อสู้อย่างเดียว จึงพิพากษายกคำพิพากษาศาลล่าง ให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องขอแก้ฟ้องและพิจารณาพิพากษาต่อไป