แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับการ กระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ดังนี้เมื่อพิจารณาบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า คดีพิพาทที่จะอยู่ในอำนาจศาลปกครองนั้น ต้องเป็นคดีพิพาทอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองหรือการดำเนินกิจการทางปกครองหรือการละเลยต่อหน้าที่ในทางปกครอง ส่วนกระบวนการยุติธรรมทางอาญานั้นเป็นขั้นตอนของการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้กระทำความผิดตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้เป็นการเฉพาะเช่น การตรวจค้น การจับกุม สอบสวน ยึดสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิดหรือที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิด เพื่อเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยหรือสั่งคืนสิ่งของที่ได้ยึดไว้ การใช้อำนาจตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้ จึงมิใช่การใช้อำนาจทางปกครอง เพราะเป็นการมุ่งหมายเพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษทางอาญา และศาลที่มีอำนาจเกี่ยวแก่การพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีอาญาได้แก่ศาลยุติธรรม เมื่อการขอคืนของกลางที่เจ้าพนักงานยึดไว้ในคดีอาญาเป็นขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๕ วรรคสาม คำฟ้องของโจทก์ที่ฟ้องโต้แย้งการกระทำของจำเลยทั้งสองที่มีคำสั่งไม่คืนรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางให้แก่โจทก์ จึงเป็นการโต้แย้งการใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งอยู่ในการควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม และแม้ว่าการไม่คืนของกลางจะก่อความเสียหายให้แก่โจทก์ โดยโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหาย อันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยทั้งสองก็ตามก็เป็นการเรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๘๕/๒๕๕๘
วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๘
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลจังหวัดกาญจนบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดกาญจนบุรีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาล ที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๖ นายมงคล วิบูลย์ โจทก์ ยื่นฟ้อง พันตำรวจเอก ฤทธิรงค์ กันยาประสิทธิ์ ที่ ๑ พันตำรวจโท ชาญ บุญคง ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรี เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๘๒๑/๒๕๕๖ ความว่า โจทก์เป็นผู้ต้องหาในสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่ ๔๓/๒๕๕๔ และเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์บรรทุกสิบล้อ คันหมายเลขทะเบียน ๗๐-๓๐๙๔ กาญจนบุรี ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจได้ยึดไว้เป็นของกลางในคดีอาญาดังกล่าว ต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องโจทก์ โจทก์ขอรับรถยนต์ของกลางคืนจากจำเลยทั้งสอง แต่จำเลยทั้งสองไม่คืนรถยนต์ให้ โดยแจ้งให้โจทก์ไปดำเนินการฟ้องคดี ต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งในเรื่องกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ของกลางก่อน ทั้งที่จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ใช้ดุลพินิจในการสั่งคืนของกลาง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๘๕ และตามประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ ๑๕ ว่าด้วยเรื่องของกลางและของส่วนตัวของผู้ต้องหาเป็นการเฉพาะ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองคืนรถยนต์บรรทุกสิบล้อ คันหมายเลขทะเบียน ๗๐-๓๐๙๔ กาญจนบุรี ให้แก่โจทก์กับให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย อันเป็นค่าขาดประโยชน์และค่าซ่อมบำรุงรถ พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
ระหว่างพิจารณา นางศิริพร บุญญะอติชาติ ซึ่งเป็นผู้เสียหายในสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่ ๔๓/๒๕๕๔ ยื่นคำร้องสอดว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาท การที่จำเลยทั้งสอง ไม่คืนรถยนต์แก่โจทก์จึงชอบแล้ว ศาลจังหวัดกาญจนบุรีอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วมในคดีนี้
จำเลยทั้งสองให้การว่า รถยนต์ของกลางในสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่ ๔๓/๒๕๕๔ ผู้เสียหายในคดีอาญา (ผู้ร้องสอดคดีนี้) กับผู้ต้องหาในคดีอาญา (โจทก์คดีนี้) ต่างฝ่ายต่างอ้างความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลาง การที่จำเลยทั้งสองไม่คืนรถยนต์ให้แก่โจทก์ เป็นการปฏิบัติตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรณีมีผู้โต้แย้งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ของกลาง เมื่อศาลมีคำสั่งประการใดจึงจะดำเนินการต่อไปได้ จำเลยทั้งสองได้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ คดีขาดอายุความ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา ๙ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดกาญจนบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อคดีนี้จำเลยทั้งสองในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญายึดรถยนต์ของกลางไว้เป็นพยานหลักฐานในคดีซึ่งต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องและจำเลยทั้งสองใช้ดุลพินิจไม่คืนรถยนต์ของกลางให้แก่โจทก์ก็เป็นการใช้ดุลพินิจอันสืบเนื่องมาจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๘๕ วรรคสาม บัญญัติให้อำนาจไว้ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวให้เจ้าพนักงานมีอำนาจยึดของกลางไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด เมื่อเสร็จคดีให้คืนแก่ผู้ต้องหาหรือแก่ผู้อื่นซึ่งมีสิทธิเรียกร้องขอคืนสิ่งของนั้น การที่จำเลยทั้งสองไม่คืนรถยนต์ของกลางให้แก่โจทก์ โดยอ้างว่าขณะนั้นยังมีกรณีพิพาทกันอยู่ว่าใครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง จึงเป็นการดำเนินการของเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดอำนาจไว้เป็นการเฉพาะ ที่โจทก์กล่าวอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการดำเนินการดังกล่าวของจำเลยทั้งสอง จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่อันสืบเนื่องมาจากการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา อยู่ในอำนาจควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินงานที่เป็นกระบวนการยุติธรรมทางอาญานั้นจะปรากฏในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกฎหมายอื่นซึ่งกำหนดขั้นตอนการดำเนินงานที่นำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดในคดีอาญา เช่นการจับกุม การสอบสวนการเปรียบเทียบปรับ การสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง และการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลยุติธรรม เป็นต้น ถ้าการกระทำนั้นนอกเหนือหรือมิได้กระทำตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกฎหมายอื่นซึ่งกำหนดขั้นตอนการดำเนินงานที่นำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดในคดีอาญา และเป็นการกระทำที่เข้าเกณฑ์เป็นกรณีพิพาทตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ศาลปกครองย่อมมีอำนาจควบคุมตรวจสอบการกระทำนั้นได้ แม้การยึดสิ่งของต่างๆ ของเจ้าพนักงานไว้เป็นพยานหลักฐานในคดีอาญาจะเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา ๘๕ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งในการดำเนินงานที่จะนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดในคดีอาญาก็ตาม แต่เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว การใช้ดุลพินิจของพนักงานสอบสวนในการพิจารณาสั่งคืนหรือไม่คืนสิ่งของที่ยึดไว้ในระหว่างสอบสวน ดังกล่าว จึงมิได้เป็นขั้นตอนการดำเนินงานเพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดอีกต่อไป คดีนี้เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดจากการละเลยต่อหน้าที่ที่ไม่คืนรถยนต์บรรทุกสิบล้อภายหลังคดีถึงที่สุดแล้ว จึงเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวหาว่า จำเลยที่ ๒ ไม่คืนของกลางในคดีที่พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีอาญา ซึ่งเป็นการกระทำนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คดีนี้จึงมิใช่ข้อพิพาทจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ อ้างว่า โจทก์เป็นผู้ต้องหาในสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่ ๔๓/๒๕๕๔ และเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์บรรทุกสิบล้อ ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจได้ยึดไว้เป็นของกลางในคดีอาญาดังกล่าว ต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องโจทก์ โจทก์ขอรับรถยนต์ของกลางคืนจากจำเลยทั้งสอง แต่จำเลยทั้งสองไม่คืนรถยนต์ให้โจทก์ โดยแจ้งให้โจทก์ไปฟ้องคดีต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งในเรื่องกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ของกลางก่อน ทั้งที่จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ใช้ดุลพินิจในการสั่งคืนรถยนต์ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองคืนรถยนต์บรรทุกสิบล้อให้แก่โจทก์และชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยทั้งสองให้การว่า รถยนต์ของกลางในการสอบสวนคดีอาญาที่ ๔๓/๒๕๕๔ ผู้เสียหายในคดีอาญา (ผู้ร้องสอดคดีนี้) กับผู้ต้องหาในคดีอาญา (โจทก์คดีนี้) ต่างฝ่ายต่างอ้างความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลาง การที่จำเลยทั้งสองไม่คืนรถยนต์ให้แก่โจทก์ โดยให้คู่กรณีไปดำเนินการให้ศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับสิทธิในรถยนต์พิพาทเสียก่อนจึงจะดำเนินการต่อไป เป็นการปฏิบัติตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรณีมีผู้โต้แย้งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ของกลาง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ดังนี้เมื่อพิจารณาบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า คดีพิพาทที่จะอยู่ในอำนาจศาลปกครองนั้น ต้องเป็นคดีพิพาทอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองหรือการดำเนินกิจการทางปกครอง หรือการละเลยต่อหน้าที่ในทางปกครอง ส่วนกระบวนการยุติธรรมทางอาญานั้นเป็นขั้นตอนของการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้กระทำความผิดตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้เป็นการเฉพาะ เช่น การตรวจค้น การจับกุม สอบสวน ยึดสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิดหรือที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิด เพื่อเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยหรือสั่งคืนสิ่งของที่ได้ยึดไว้ การใช้อำนาจตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้ จึงมิใช่การใช้อำนาจทางปกครอง เพราะเป็นการมุ่งหมายเพื่อนำตัวผู้กระทำความผิด มาลงโทษทางอาญา และศาลที่มีอำนาจเกี่ยวแก่การพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีอาญาได้แก่ ศาลยุติธรรม เมื่อการขอคืนของกลางที่เจ้าพนักงานยึดไว้ในคดีอาญาเป็นขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๕ วรรคสาม คำฟ้องของโจทก์ที่ฟ้องโต้แย้งการกระทำของจำเลยทั้งสองที่มีคำสั่งไม่คืนรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางให้แก่โจทก์ จึงเป็นการโต้แย้งการใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งอยู่ในการควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม และแม้ว่าการไม่คืนของกลางจะก่อความเสียหายให้แก่โจทก์ โดยโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหาย อันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยทั้งสองก็ตาม ก็เป็นการเรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายมงคล วิบูลย์ โจทก์ พันตำรวจเอก ฤทธิรงค์ กันยาประสิทธิ์ ที่ ๑ พันตำรวจโท ชาญ บุญคง ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ปิยะ ปตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ