คำวินิจฉัยที่ 86/2558

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนยื่นฟ้องเอกชนและหน่วยงานทางปกครอง ว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกันร่วมกันลักโฉนดที่ดินและร่วมกันปลอมลายมือชื่อของโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจพร้อมทั้งปลอมลายมือชื่อภริยาของโจทก์ในหนังสือให้ความยินยอมให้โจทก์ขายที่ดินเพื่อแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าโจทก์ได้ขายที่ดินและทำการจดทะเบียนจำนองที่ดินแปลงพิพาทให้จำเลยที่ ๕ โดยเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๖ เป็นผู้ดำเนินการให้ โดยรู้หรือควรรู้ว่าผู้ที่มาขอจดทะเบียนมิใช่ผู้รับมอบอำนาจ การซื้อขายและการจำนองที่ดินจึงตกเป็นโมฆะ ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนหรือชดใช้เงินตามมูลค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพร้อมดอกเบี้ย เห็นว่า แม้คดีจะมีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการจดทะเบียนรับจำนองที่ดินพิพาทของหน่วยงานทางปกครอง แต่ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ได้ร่วมกันลักโฉนดที่ดินและร่วมกันปลอมลายมือชื่อของโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจหรือไม่เป็นสำคัญ หากได้ความว่าการมอบอำนาจชอบด้วยกฎหมายแล้ว การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมพิพาทย่อมชอบด้วยกฎหมายอันมีผลให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโอนไปเป็นของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ หากการมอบอำนาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมพิพาทก็ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายอันมีผลให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินยังคงเป็นของโจทก์ ข้อพิพาทในคดีนี้เกิดขึ้นจากประเด็นพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกัน คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๘๖/๒๕๕๘

วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๘

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓)

ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่ง โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ นายสุพรม จุลอักษร โจทก์ ยื่นฟ้อง นางสาวสุภาพร ชุ่มดวงใจจิต ที่ ๑ นางสาวหรือพันจ่าอากาศเอกหญิงจินตนา ชุ่มดวงใจจิต ที่ ๒ ร้อยเอกหรือนายประจิน หิรัญงาม ที่ ๓ นายวสันต์ จุลอักษร ที่ ๔ ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) ที่ ๕ กรมที่ดิน ที่ ๖ จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๕๕๔/๒๕๕๗ โดยโจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด เข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลแพ่งอนุญาต ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๖๔๙๗๗ ตำบลคลองถนน อำเภอบางเขน (อำเภอสายไหม) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ประมาณ ๑๖ ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นทาวน์เฮาส์สองชั้น ระหว่างปี ๒๕๕๒ ถึงวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ได้ร่วมกันลักโฉนดที่ดินดังกล่าวไปโดยทุจริต และได้ร่วมกันปลอมลายมือชื่อของโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจ เพื่อแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่า โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๓ ขายที่ดินแปลงดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างในราคา ๕๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ นอกจากนี้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ยังได้ร่วมกันปลอมลายมือชื่อภริยาของโจทก์ในหนังสือให้ความยินยอมให้โจทก์ขายที่ดินดังกล่าวและปลอมลายมือชื่อโจทก์และภริยาในสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านซึ่งใช้ประกอบกับหนังสือมอบอำนาจและหนังสือให้ความยินยอมดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ได้นำโฉนดที่ดิน หนังสือมอบอำนาจ และเอกสารประกอบไปจดทะเบียนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ และในวันเดียวกันจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินดังกล่าวกับจำเลยที่ ๕ โดยเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๖ เป็นผู้ดำเนินการให้ โดยรู้หรือควรรู้ว่าผู้ที่มาขอจดทะเบียนมิใช่ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ ซึ่งถือว่ามิได้ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการเกี่ยวกับการตรวจสอบเอกสารหลักฐานซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่สุจริต หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เนื่องจากโจทก์มิได้รู้เห็นหรือยินยอมให้ขายที่ดิน การซื้อขายและการจำนองที่ดินดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ ขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายและการจดทะเบียนจำนองที่ดินให้โจทก์กลับมาเป็นผู้มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดิน หากจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๕ และที่ ๖ ไม่อาจโอนชื่อในโฉนดที่ดินมาเป็นชื่อโจทก์ได้ขอให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงินตามมูลค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า โจทก์มีเจตนาทำนิติกรรมขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้กับจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นบุตรสะใภ้ โดยมีเอกสารประกอบคือสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของโจทก์และภริยาโจทก์ ทำให้จำเลยที่ ๓ เชื่อว่ามีการมอบอำนาจกันจริงและทำการจดทะเบียนนิติกรรมซื้อขายโดยเจ้าพนักงานที่ดิน จำเลยที่ ๓ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือได้ผลประโยชน์จากจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๕ ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยที่ ๔ ลักโฉนดที่ดินไปใช้ในการปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม เป็นเหตุให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ นำไปจดทะเบียนนิติกรรมจำนอง จำเลยที่ ๕ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มาขอกู้ยืมเพื่อซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จำเลยที่ ๕ ให้กู้ยืมเงินโดยเป็นไปตามวิธีปฏิบัติและประเพณีการค้าของธนาคารพาณิชย์ทั่วไป เมื่อจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ผิดนัดชำระหนี้กู้ยืมจึงฟ้องเป็นคดีและมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๖ ให้การว่า เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๖ กระทำการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโดยชอบด้วยกฎหมาย มิได้กระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ และข้อบังคับอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์แต่อย่างใด คดีโจทก์ขาดอายุความ
จำเลยร่วมให้การว่า จำเลยร่วมและจำเลยที่ ๕ เป็นบุคคลภายนอกที่สุจริตและเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนรับจำนองโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำใดของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องคืนเงินให้โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๖ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ข้อพิพาทในคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีเป็นการโต้แย้งเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ซึ่งการที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ลักเอาโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๖๔๙๗๗ ไปจากโจทก์ และปลอมหนังสือมอบอำนาจและหนังสือให้ความยินยอมในการจดทะเบียนโอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ประกอบกับจำเลยที่ ๕ และจำเลยร่วมจะได้รับความคุ้มครองในฐานะบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนหรือไม่ อันเป็นการพิจารณาถึงความสมบูรณ์ของนิติกรรมที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนเป็นหลัก ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากนิติสัมพันธ์ของบุคคลในทางแพ่งระหว่างเอกชนด้วยกันเอง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า เกณฑ์การพิจารณาในเรื่องเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรมจะต้องพิจารณาเขตอำนาจศาลปกครองเป็นสำคัญ หากคดีใดอยู่ในอำนาจของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น คดีนี้แม้โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๕ ซึ่งเป็นเอกชน โดยมีมูลคดีมาจากการที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ร่วมกันลักโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๖๔๙๗๗ ตำบลคลองถนน อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร ฉบับจริงของโจทก์ไปจากโจทก์ และร่วมกันปลอมลายมือชื่อโจทก์ลงในหนังสือมอบอำนาจและลายมือชื่อภรรยาโจทก์ลงในหนังสือยินยอมการจดทะเบียนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งต่อมามีการจดทะเบียนโอนขายที่ดินของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ และจดทะเบียนจำนองที่ดินไว้กับจำเลยที่ ๕ ก็ตาม แต่คดีนี้ก็หาได้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชนโดยเฉพาะไม่ เนื่องจากประมวลกฎหมายที่ดินได้บัญญัติให้จำเลยที่ ๖ ซึ่งเป็นส่วนราชการมีฐานะเป็นกรม สังกัดกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิในที่ดินของบุคคลและจัดการที่ดินของรัฐโดยการออกหนังสือแสดงสิทธิและมีอำนาจหน้าที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์และมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายที่ดินรวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
สำหรับการทำสัญญาซื้อขายที่ดินและจำนองที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์นั้น แม้จะเป็นเรื่องระหว่างเอกชนกับเอกชน แต่หากมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๕๖ และมาตรา ๗๑๔ ก็จะส่งผลให้นิติกรรมการซื้อขายที่ดินหรือการจำนองที่ดินตกเป็นโมฆะตามนัยมาตรา ๑๕๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยมาตรา ๗๑ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ได้บัญญัติให้เจ้าพนักงานที่ดินเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบกับ มาตรา ๗๔ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินได้ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานที่ดินในการสอบสวนคู่กรณี และเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ หรือส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้ตามความจำเป็น ประกอบการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้แก่คู่กรณี ซึ่งหากปรากฏต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่านิติกรรมที่คู่กรณีนำมาขอจดทะเบียนนั้นเป็นโมฆะกรรม ไม่ต้องจดทะเบียนให้ ทั้งนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗๓ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน อีกทั้ง ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นเจ้าพนักงานที่ดินจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการกำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๔๙๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ การที่เจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาคำขอจดทะเบียนขายที่ดินของจำเลยที่ ๓ และคำขอจดทะเบียนจำนองที่ดินของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ แล้วอนุญาตให้จดทะเบียนนิติกรรมขายและจำนอง จึงเป็นการใช้อำนาจทางปกครองที่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามนัยมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ แม้คดีจะมีประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยถึงความสมบูรณ์ของนิติกรรมก็ตาม แต่ศาลก็ย่อมที่จะต้องพิจารณาและตรวจสอบถึงความสมบูรณ์ของขั้นตอนในการใช้อำนาจในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมรวมไปถึงการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ ด้วย เนื่องจากเป็นขั้นตอนตามที่ประมวลกฎหมายที่ดินได้บัญญัติไว้ ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องเป็นเรื่องที่โจทก์มุ่งประสงค์ให้ศาลตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งจดทะเบียนโอนขายและจดทะเบียนจำนองที่ดิน เพื่อให้ศาลเพิกถอนคำสั่งจดทะเบียนโอนขายและจดทะเบียนจำนองที่ดินซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นสำคัญ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย และละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่เอกชนยื่นฟ้องเอกชนและหน่วยงานทางปกครองว่า โจทก์เป็นเจ้าของโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๖๔๙๗๗ ตำบลคลองถนน อำเภอบางเขน (อำเภอสายไหม) กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ได้ร่วมกันลักโฉนดที่ดินและร่วมกันปลอมลายมือชื่อของโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจและปลอมลายมือชื่อภริยาของโจทก์ในหนังสือให้ความยินยอมให้โจทก์ขายที่ดินเพื่อแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าโจทก์ได้ขายที่ดินและทำการจดทะเบียนจำนองที่ดินแปลงพิพาทให้กับจำเลยที่ ๕ โดยเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๖ เป็นผู้ดำเนินการให้ โดยรู้หรือควรรู้ว่าผู้ที่มาขอจดทะเบียนมิใช่ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ การซื้อขายและการจำนองที่ดินจึงตกเป็นโมฆะ ขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายและการจดทะเบียนจำนองที่ดินให้โจทก์กลับมาเป็นผู้มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดิน หากไม่อาจโอนชื่อในโฉนดที่ดินมาเป็นชื่อโจทก์ได้ขอให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงินตามมูลค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ ๓ ให้การว่า โจทก์มีเจตนาทำนิติกรรมขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้กับจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นบุตรสะใภ้ทำให้จำเลยที่ ๓ เชื่อว่ามีการมอบอำนาจกันจริงและทำการจดทะเบียนนิติกรรมซื้อขายโดยเจ้าพนักงานที่ดิน ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ ๕ ให้การว่า โจทก์ประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ ๕ เป็นบุคคลภายนอกผู้รับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน เมื่อจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ผิดนัดชำระหนี้กู้ยืมได้ฟ้องคดีและมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ ๖ ให้การว่า เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๖ กระทำการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโดยชอบด้วยกฎหมาย มิได้กระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือไม่ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์แต่อย่างใด จำเลยร่วมให้การว่า จำเลยร่วมและจำเลยที่ ๕ เป็นบุคคลภายนอกที่สุจริตและเสียค่าตอบแทนทำการจดทะเบียนรับจำนองโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้คดีจะมีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการจดทะเบียนรับจำนองที่ดินพิพาทของหน่วยงานทางปกครอง แต่ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ได้ร่วมกันลักโฉนดที่ดินและร่วมกันปลอมลายมือชื่อของโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจหรือไม่เป็นสำคัญ หากได้ความว่าการมอบอำนาจชอบด้วยกฎหมายแล้ว การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมพิพาทย่อมชอบด้วยกฎหมายอันมีผลให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโอนไปเป็นของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ หากการมอบอำนาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมพิพาทก็ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายอันมีผลให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินยังคงเป็นของโจทก์ ข้อพิพาทในคดีนี้เกิดขึ้นจากประเด็นพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกัน คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายสุพรม จุลอักษร โจทก์ นางสาวสุภาพร ชุ่มดวงใจจิต ที่ ๑ นางสาวหรือพันจ่าอากาศเอกหญิงจินตนา ชุ่มดวงใจจิต ที่ ๒ ร้อยเอกหรือนายประจิน หิรัญงาม ที่ ๓ นายวสันต์ จุลอักษร ที่ ๔ ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) ที่ ๕ กรมที่ดิน ที่ ๖ จำเลย บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด จำเลยร่วม อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share