คำวินิจฉัยที่ 89/2558

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีนี้ แม้จำเลยทั้งห้าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) จำเลยที่ ๕ ได้ทำการรังวัดที่ดินติดด้านทิศเหนือของที่ดินโจทก์ เพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) โนนหนองนกเน่า โดยมีจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ได้ร่วมกันนำชี้และย้ายหลักเขตที่ดินของโจทก์ แล้วชี้เอาที่ดินของโจทก์บางส่วน รวมเข้าเป็นที่สาธารณประโยชน์โนนหนองนกเน่า ทำให้ที่ดินของโจทก์ส่วนดังกล่าวตกเป็นที่สาธารณประโยชน์ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนการรังวัดที่ดินในส่วนที่เป็นที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยทั้งห้าย้ายหลักเขตที่ดินของโจทก์กลับคืนยังจุดเดิม และคืนที่พิพาทแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ที่ฟ้องคดี ก็เพื่อให้ศาลรับรองและคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ และการที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินที่พิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการโต้แย้งสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๘๙/๒๕๕๘

วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๘

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดรัตนบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองนครราชสีมา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดรัตนบุรีส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๗ นางบัวลา ศรีทอง โจทก์ ยื่นฟ้อง นายบุญฤทธิ์ คูคำ ที่ ๑ นายพัฒน์ วรรณวงศ์ ที่ ๒ นายสำรอง หลักฐาน ที่ ๓ นายทันใจ ร่วมจิตร ที่ ๔ นายคนองเดช งางาม ที่ ๕ จำเลย ต่อศาลจังหวัดรัตนบุรี เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๓๓๙/๒๕๕๗ ความว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๑๗๒๒ ตำบลดอนแรด อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ เนื้อที่ ๑๕ ไร่ ๑ งาน ๑๓ ตารางวา โจทก์ได้ทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๑ ตำบลดอนแรด อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ส่วนจำเลยที่ ๕ เป็นเจ้าพนักงานรังวัดที่ดิน สำนักงานที่ดินจังหวัดสุรินทร์ สาขารัตนบุรี เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๗ จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ นำจำเลยที่ ๕ ทำการรังวัดที่ดินติดด้านทิศเหนือของที่ดินโจทก์ เพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) โนนหนองนกเน่า ตำบลดอนแรด อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ได้ร่วมกันนำชี้และย้ายหลักเขตที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือลงมาทางใต้ประมาณ ๒๐ เมตร แล้วชี้เอาที่ดินของโจทก์เนื้อที่ประมาณ ๓ ไร่ รวมเข้าเป็นที่สาธารณประโยชน์โนนหนองนกเน่า ทำให้ที่ดินของโจทก์ส่วนดังกล่าวตกเป็นที่สาธารณประโยชน์ โจทก์คัดค้านต่อจำเลยทั้งห้าแล้วแต่จำเลยทั้งห้าไม่ฟังคำคัดค้านของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนการรังวัดที่ดินเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ที่สาธารณประโยชน์โนนหนองนกเน่าในส่วนที่เป็นที่ดินของโจทก์ และให้จำเลยทั้งห้าย้ายหลักเขตที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ ๑๗๒๒ ของโจทก์กลับคืนยังจุดเดิม
จำเลยทั้งห้าให้การว่า การรังวัดที่ดินพิพาทอยู่ในขั้นตอนการแจ้งเจ้าของที่ดินข้างเคียงให้มาระวังชี้แนวเขต แต่โจทก์มาฟ้องเป็นคดีนี้อันเป็นการข้ามขั้นตอน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เมื่อจำเลยที่ ๕ ตรวจสอบแนวเขตแผนที่แล้วพบว่าหลักเขตที่ดินหมายเลข ร๓ – ๔๗๒๗ มีการเคลื่อนย้ายตำแหน่งจากจุดที่ถูกต้อง คณะกรรมการจึงได้นำหลักเขตที่ดินมาปักไว้ตรงตามตำแหน่งระยะแผนที่เดิมโดยโจทก์ไม่ได้คัดค้าน จำเลยทั้งห้าได้นำรังวัดตามเอกสารแผนที่ทางราชการ ไม่ได้มีเจตนากลั่นแกล้งผู้หนึ่งผู้ใด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งห้ายื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดรัตนบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ ๑ ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เมื่อพิจารณาอำนาจหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๗ เห็นได้ว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ เป็นบุคคลที่ปฏิบัติงานในสังกัดกรมการปกครอง มีฐานะเป็นกรมในระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ และเป็นหน่วยงานทางปกครอง โดยอยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของนายอำเภอ ซึ่งเป็นข้าราชการ ส่วนจำเลยที่ ๕ เป็นนายช่างรังวัด ปฏิบัติงานสังกัดสำนักงานที่ดินจังหวัดสุรินทร์ สาขารัตนบุรี อันเป็นหน่วยงานในสังกัดกรมที่ดิน จำเลยทั้งห้าจึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อย่างไรก็ตามคดีนี้ปรากฏว่า โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันนำชี้และย้ายหลักเขตที่ดินของโจทก์ เป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ตกเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ป่าโนนหนองนกเน่า เนื้อที่ประมาณ ๓ ไร่ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ซึ่งหากพิจารณาเนื้อหาตามคำฟ้อง แม้จะเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐทำละเมิดต่อโจทก์ก็ตาม แต่ความมุ่งหมายแท้จริงของโจทก์ที่ฟ้องคดีต่อศาล ก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองและคุ้มครองสิทธิในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ มิได้มุ่งโดยตรงต่อข้อพิพาทอันเกิดจากการกระทำในตำแหน่งหน้าที่หรือการปฏิบัติหน้าที่ในราชการของจำเลยทั้งห้า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาเพิกถอนการรังวัดที่ดินพิพาทของจำเลยทั้งห้า และให้จำเลยทั้งห้าย้ายหลักเขตที่ดินกลับไปยังจุดเดิมตามคำขอของโจทก์ ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ผลแห่งคำพิพากษาย่อมกระทบกระเทือนต่อสิทธิในที่ดินของโจทก์เป็นสำคัญ ประเด็นแห่งคดีส่วนนี้จึงเป็นกรณีมีข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินโดยต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ประกอบประมวลกฎหมายที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ส่วนปัญหาว่าการที่จำเลยทั้งห้าร่วมกันทำการรังวัดและย้ายหลักเขตที่ดินรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ โดยโจทก์คัดค้านต่อจำเลยทั้งห้าแล้ว แต่จำเลยทั้งห้าไม่ฟังข้อคัดค้าน เป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่ คงเป็นประเด็นสืบเนื่องมาจากข้อต่อสู้ตามคำให้การของจำเลยทั้งห้าที่ว่า ขณะจำเลยทั้งห้าและบุคคลที่เกี่ยวข้องร่วมกันทำการรังวัดที่ดินพิพาทตรวจพบว่า หลักเขตที่ดินหมายเลข ร๓ – ๔๗๒๗ มีการเคลื่อนย้ายตำแหน่ง ผู้ร่วมรังวัดจึงได้นำหลักเขตนั้นไปปักไว้ตรงจุดเดิม อันเป็นขั้นตอนเพื่อนำไปสู่ข้ออ้างว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่สาธารณประโยชน์นั่นเอง จึงเป็นประเด็นเกี่ยวเนื่องกันและมีมูลความแห่งคดีเป็นอย่างเดียวกันกับประเด็นสิทธิในที่ดิน ดังนั้น อำนาจการพิจารณาพิพากษาคดีในประเด็นดังกล่าวจึงเป็นของศาลยุติธรรม คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ ๑ ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ โดยเป็นบุคคลที่อยู่ในกำกับดูแลของนายอำเภอรัตนบุรีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และจำเลยที่ ๕ เป็นข้าราชการ ปฏิบัติงานที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสุรินทร์ สาขารัตนบุรี สังกัดกรมที่ดิน จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๕ จึงมีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยที่มูลเหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแรดมีความประสงค์จะขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ป่าโนนหนองนกเน่า นายอำเภอรัตนบุรีจึงมีหนังสือให้สำนักงานที่ดิน จังหวัดสุรินทร์ จัดเจ้าหน้าที่ไปทำการรังวัดสอบแนวเขตที่สาธารณประโยชน์ป่าโนนหนองนกเน่า และมอบให้ผู้ใหญ่บ้านในท้องที่ร่วมกับนายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแรดเป็นผู้นำทำการรังวัดระวังชี้แนวเขตและลงชื่อรับรองแนวเขตที่สาธารณประโยชน์ โดยเมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๗ จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากนายอำเภอรัตนบุรี และจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ได้นำจำเลยที่ ๕ ซึ่งเป็นช่างรังวัดทำการรังวัดที่ดินติดด้านทิศเหนือของโจทก์เพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) โนนหนองนกเน่า โดยจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ได้ร่วมกันนำชี้และย้ายหลักเขตที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือลงมาทางใต้ ประมาณ ๒๐ เมตร แล้วชี้เอาที่ดินของโจทก์เนื้อที่ประมาณ ๓ ไร่ เป็นส่วนหนึ่งของที่สาธารณประโยชน์ข้างต้น โจทก์คัดค้านกรณีดังกล่าวต่อจำเลยทั้งห้าแล้ว แต่จำเลยทั้งห้าไม่ฟังข้อคัดค้าน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงฟ้องขอให้เพิกถอนการรังวัดที่ดินเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ที่สาธารณประโยชน์โนนหนองนกเน่า ตำบลดอนแรด อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ ในส่วนที่รังวัดรวมเอาที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ ๑๗๒๒ เลขที่ดิน ๗๑ ตำบลดอนแรด อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ เนื้อที่ประมาณ ๓ ไร่ ของโจทก์เข้าไว้ด้วยกัน และให้จำเลยทั้งห้าย้ายหลักเขตที่ดินกลับคืนยังจุดเดิม เมื่อพิจารณาหลักเกณฑ์และวิธีการรังวัดที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันเพื่อจัดให้มี น.ส.ล. สำหรับแสดงเขตไว้เป็นหลักฐานแล้ว เห็นว่า การที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในการกำกับดูแลของนายอำเภอรัตนบุรีและในฐานะผู้รับมอบอำนาจนายอำเภอรัตนบุรีให้นำชี้แนวเขตที่ดินแปลงพิพาท และจำเลยที่ ๕ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติงานในสังกัดกรมที่ดินได้ดำเนินการรังวัดที่ดินแปลงดังกล่าวอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันเพื่อจัดให้มี น.ส.ล. นั้น เป็นการใช้อำนาจทางปกครองและเป็นการดำเนินกิจการทางปกครองตามที่กฎหมายกำหนดอำนาจหน้าที่ไว้ ซึ่งมิได้เป็นการกระทำในฐานะเจ้าของหรือผู้มีสิทธิในที่สาธารณประโยชน์แต่อย่างใด ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องว่าการกระทำของจำเลยทั้งห้าที่ทำการรังวัดเพื่อออก น.ส.ล. ที่ดินสาธารณประโยชน์โนนหนองนกเน่ารุกล้ำที่ดิน น.ส. ๓ ก. ของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย กรณีจึงเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจตามกฎหมายและดำเนินกิจการทางปกครอง อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และแม้คดีนี้ศาลจำต้องวินิจฉัยก่อนว่าที่ดินพิพาทตามที่โจทก์กล่าวอ้างเป็นที่ดินในความครอบครองของโจทก์หรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ก็ตาม แต่ประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดีอันเป็นเพียงประเด็นย่อยประเด็นหนึ่งในคดีเท่านั้น และการพิจารณาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองหรือไม่ แม้จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่การพิจารณาตามบทกฎหมายดังกล่าวมิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับกับคดี หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจเฉพาะศาลหนึ่งศาลใดเท่านั้นที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับกับคดีได้ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับกับคดีได้เช่นกัน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ แม้จำเลยทั้งห้าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๑๗๒๒ ตำบลดอนแรด อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ เนื้อที่ ๑๕ ไร่ ๑ งาน ๑๓ ตารางวา แต่จำเลยที่ ๕ ได้ทำการรังวัดที่ดินติดด้านทิศเหนือของที่ดินโจทก์ เพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) โนนหนองนกเน่า โดยมีจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ได้ร่วมกันนำชี้และย้ายหลักเขตที่ดินของโจทก์ แล้วชี้เอาที่ดินของโจทก์เนื้อที่ประมาณ ๓ ไร่ รวมเข้าเป็นที่สาธารณประโยชน์โนนหนองนกเน่า ทำให้ที่ดินของโจทก์ส่วนดังกล่าวตกเป็นที่สาธารณประโยชน์ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนการรังวัดที่ดินเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ที่สาธารณประโยชน์โนนหนองนกเน่าในส่วนที่เป็นที่ดินของโจทก์เนื้อที่ประมาณ ๓ ไร่ ให้จำเลยทั้งห้าย้ายหลักเขตที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์กลับคืนยังจุดเดิม และคืนที่พิพาทแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ที่ฟ้องคดีต่อศาล ก็เพื่อให้ศาลรับรองและคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ และการที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินที่พิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการโต้แย้งสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางบัวลา ศรีทอง โจทก์ นายบุญฤทธิ์ คูคำ ที่ ๑ นายพัฒน์ วรรณวงศ์ ที่ ๒ นายสำรอง หลักฐาน ที่ ๓ นายทันใจ ร่วมจิตร ที่ ๔ นายคนองเดช งางาม ที่ ๕ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share