คำวินิจฉัยที่ 90/2558

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกันและฟ้องจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานทางปกครองเป็นจำเลยว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) และได้นำไปขอออกโฉนด แต่เจ้าพนักงานออกโฉนดที่ดินให้บางส่วน ส่วนที่ดินบริเวณทิศใต้อีกประมาณ ๑๐ ไร่ มีน้ำท่วมขัง ไม่อาจทำการเดินสำรวจรังวัดได้ ต่อมาจำเลยที่ ๑ ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินโดยนำชี้รังวัดที่ดินทับที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศใต้ส่วนที่เหลือ และจำเลยที่ ๒ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานที่ดิน ได้ออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๑ โดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบหลักเกณฑ์และวิธีการของกรมที่ดิน จำเลยที่ ๑ ให้การว่าได้ที่ดินพิพาทโดยการรับมรดกและขอออกโฉนดที่ดินโดยปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการตามระเบียบกฎหมายครบถ้วน จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การทำนองเดียวกันว่าไม่ได้กระทำละเมิดการออกโฉนดที่ดินเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ในการใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินที่พิพาทหรือจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของที่ดินเป็นสำคัญ แล้วจึงพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๙๐/๒๕๕๘

วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๘

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดไชยา
ระหว่าง
ศาลปกครองนครศรีธรรมราช

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดไชยาโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๗ พันตำรวจโท ทวีชัย อินทร์แก้ว โจทก์ ยื่นฟ้อง นายวรินทร์ เพชรรัตน์ ที่ ๑ นายจำลอง โพธิ์เพชร ที่ ๒ กรมที่ดิน ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลจังหวัดไชยา เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๖๖/๒๕๕๗ ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) เลขที่ ๒๔๕ ตำบลตะกรบ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื้อที่ ๘๘ ไร่ ๑ งาน ๓๖ ตารางวา โดยซื้อที่ดินจากผู้มีชื่อตั้งแต่ปี ๒๕๒๒ และครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินมาโดยตลอด ต่อมาปี ๒๕๕๐ โจทก์ได้นำ น.ส. ๓ เลขที่ ๒๔๕ ไปขอออกโฉนดที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี ภายหลังเจ้าหน้าที่ที่ดินเดินสำรวจทำการรังวัดเพื่อออกโฉนดได้เพียงบางส่วนเป็นเนื้อที่ดินเพียง ๗๗ ไร่ ๓ งาน ๗๐ ตารางวา ส่วนที่ดินบริเวณทิศใต้อีกประมาณ ๑๐ ไร่ มีน้ำท่วมขัง ไม่อาจทำการเดินสำรวจรังวัดได้ เจ้าหน้าที่ผู้ทำการรังวัดได้แจ้งว่าจะมาทำการรังวัดออกโฉนดในภายหลัง โดยโจทก์ยังคงยึดถือครอบครองทำประโยชน์ที่ดินบริเวณดังกล่าวมาโดยตลอด ต่อมาประมาณปลายปี ๒๕๕๕ จำเลยที่ ๑ ได้นำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๒๗๙ ซึ่งมีอาณาเขตทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกจดที่ดินของโจทก์ มายื่นคำขอออกโฉนดที่ดิน โดยนำชี้รังวัดที่ดินทับที่ดิน น.ส. ๓เลขที่ ๒๔๕ ของโจทก์ทางด้านทิศใต้ซึ่งโจทก์ยังไม่ออกโฉนดที่ดิน อันเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและจำเลยที่ ๒ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี สาขาไชยาได้กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๑๐๙๓ ให้แก่จำเลยที่ ๑ ตามการนำชี้รังวัดดังกล่าว โดยแก้ไขรูปที่ดินจำเลยที่ ๑ ให้มีมากกว่าที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๗๙ โดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบหลักเกณฑ์และวิธีการของกรมที่ดิน ซึ่งต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้นำที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๑๐๙๓ ไปแบ่งแยกออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๑๔๒๓ และเลขที่ ๒๑๔๒๖ ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนการรังวัดออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๑๐๙๓ เลขที่ ๒๑๔๒๓ และเลขที่ ๒๑๔๒๖ และพิพากษาว่าที่ดิน ๑๐ ไร่ ที่พิพาทเป็นที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินโจทก์กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ได้ที่ดินพิพาทโดยการรับมรดกมาจากบิดา ซึ่งที่ดินดังกล่าวทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกจดที่ดินโจทก์ โจทก์กล่าวอ้างว่าไม่สามารถทำการรังวัดได้เนื่องจากมีน้ำท่วมขังไม่เป็นความจริง จำเลยที่ ๑ ขอออกโฉนดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๒๗๙ โดยปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการตามระเบียบกฎหมายครบถ้วน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การทำนองเดียวกันว่า ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ การออกโฉนดที่ดินของจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานในสังกัดจำเลยที่ ๓ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและข้อกล่าวอ้างของโจทก์ไม่เป็นความจริง และมิได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลจังหวัดไชยาพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผลตามคำฟ้องโจทก์ไม่ได้เกี่ยวกับการออกคำสั่งของจำเลยที่ ๒ ว่าเป็นการออกกฎ คำสั่งหรือกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่คำฟ้องของโจทก์เป็นการโต้แย้งสิทธิระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ซึ่งศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๒ ออกโฉนดที่ดินให้จำเลยที่ ๑ ตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๑๐๙๓ โดยการแก้ไขรูปที่ดินให้มีเนื้อที่มากกว่าหลักฐานเดิมโดยไม่ได้แจ้งให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงข้างเคียงทราบเหตุที่เปลี่ยนแปลงของรูปที่ดินและจำนวนเนื้อที่ที่จะออกที่ดินเพื่อรับรองแนวเขต และจำเลยที่ ๒ ไม่ได้ตรวจสอบรูปที่ดินเพื่อเทียบเคียงกับระวางแผนที่ที่ดินโดยรอบว่ามีความถูกต้องหรือไม่ เป็นเหตุให้ทับที่ดินของโจทก์ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) เลขที่ ๒๔๕ จำนวนเนื้อที่ ๑๐ ไร่ เป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขคำสั่งของกรมที่ดิน ว่าด้วยการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ขอให้เพิกถอนการออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๑๐๙๓ เลขที่ ๒๑๔๒๓ และเลขที่ ๒๑๔๒๖และร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย คดีจึงมีข้อที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ ๒ ออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๑๐๙๓ ให้แก่จำเลยที่ ๑ เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและการกระทำละเมิดอันเกิดจากคำสั่งทางปกครอง อันเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แม้คดีนี้จะมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินก็ตาม แต่ประเด็นดังกล่าวเป็นเพียงปัญหาข้อเท็จจริงที่ใช้ประกอบการพิจารณาในข้อหาเกี่ยวกับคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐและการกระทำละเมิดอันเกิดจากคำสั่งทางปกครอง และแม้การพิจารณาในเรื่องสิทธิในทรัพย์สินจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปก็ตาม แต่การนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดี ก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครอง มิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใด กำหนดให้เป็นอำนาจของศาลหนึ่งศาลใดที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นมาวินิจฉัยข้อพิพาทของคดีไว้โดยเฉพาะ ดังนั้นศาลปกครองจึงสามารถนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้ในการวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีนี้ได้นอกจากนี้ มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินใดๆ คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติยืนยันให้เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีนี้ได้ เมื่อพิจารณาจากข้อหาหลักแห่งคดีและคำขอของโจทก์ที่ขอให้มีการแก้ไขเยียวยาทางศาล ซึ่งเป็นข้อหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครองและขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครอง ดังนั้นประเด็นเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินมิใช่ประเด็นหลักแห่งคดีแต่อย่างใด คดีนี้จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกันและฟ้องจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานทางปกครองเป็นจำเลย อ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) เลขที่ ๒๔๕ โจทก์ได้นำไปขอออกโฉนดที่ดิน ภายหลังเจ้าหน้าที่ที่ดินเดินสำรวจทำการรังวัดเพื่อออกโฉนดได้เพียงบางส่วน ส่วนที่ดินบริเวณทิศใต้อีกประมาณ ๑๐ ไร่ มีน้ำท่วมขังไม่อาจทำการเดินสำรวจรังวัดได้ โจทก์ยังคงยึดถือครอบครองทำประโยชน์ที่ดินบริเวณดังกล่าว ต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้นำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๒๗๙ มายื่นคำขอออกโฉนดที่ดิน โดยนำชี้รังวัดที่ดินทับที่ดิน น.ส. ๓ เลขที่ ๒๔๕ ของโจทก์ทางด้านทิศใต้ ซึ่งโจทก์ยังไม่ออกโฉนดที่ดิน อันเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและจำเลยที่ ๒ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานที่ดิน ได้กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๑๐๙๓ให้แก่จำเลยที่ ๑ ตามการนำชี้รังวัดดังกล่าว โดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบหลักเกณฑ์และวิธีการของกรมที่ดิน ซึ่งต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้นำที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๑๐๙๓ ไปแบ่งแยกออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๑๔๒๓ และเลขที่ ๒๑๔๒๖ ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนการรังวัดออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๑๐๙๓ เลขที่ ๒๑๔๒๓ และเลขที่ ๒๑๔๒๖ และพิพากษาว่าที่ดิน ๑๐ ไร่ที่พิพาท เป็นที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินโจทก์ จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ได้ที่ดินพิพาทโดยการรับมรดกมาจากบิดา จำเลยที่ ๑ ขอออกโฉนดที่ดิน ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๒๗๙ โดยปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการตามระเบียบกฎหมายครบถ้วน ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การทำนองเดียวกันว่าไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์การออกโฉนดที่ดินของจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานในสังกัดจำเลยที่ ๓ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และข้อกล่าวอ้างของโจทก์ไม่เป็นความจริงและมิได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ในการใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินที่พิพาทหรือจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของที่ดินเป็นสำคัญ แล้วจึงพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง พันตำรวจโท ทวีชัย อินทร์แก้ว โจทก์ นายวรินทร์ เพชรรัตน์ ที่ ๑ นายจำลอง โพธิ์เพชร ที่ ๒ กรมที่ดิน ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share