คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7556/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้ทำสัญญาขายที่พิพาททั้งแปลงให้แก่จำเลยและจำเลยครอบครองยึดถือเพื่อตนแล้ว จำเลยจึงได้สิทธิครอบครองที่พิพาท การที่จำเลยได้สิทธิครอบครองที่พิพาทจึงเป็นผลจากสัญญาซื้อขายที่โจทก์ตกลงขายและส่งมอบการครอบครองให้แก่จำเลย หาใช่จำเลยได้สิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 แต่ประการเดียวไม่ผู้ร้องจึงชอบที่จะกล่าวอ้างได้ว่าที่พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับผู้ร้อง โจทก์ขายให้แก่จำเลยโดยผู้ร้องมิได้ให้ความยินยอม ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยได้สิทธิครอบครองที่พิพาท ให้โจทก์จดทะเบียนโอนแก่จำเลย หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิบังคับคดีตามคำพิพากษาเอาแก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปการที่ผู้ร้องร้องว่าโจทก์นำที่พิพาทซึ่งเป็นสินสมรสไปขายให้แก่จำเลยโดยผู้ร้องมิได้ให้ความยินยอม เท่ากับเป็นการกล่าวอ้างว่าการซื้อขายที่พิพาทไม่ผูกพันที่พิพาทอันเป็นสินสมรสในส่วนของผู้ร้องและนับได้ว่าเป็นสิทธิอื่น ๆ ที่ผู้ร้องอาจขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมาย ซึ่งการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องเข้ามาในคดีได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ขายที่พิพาทให้จำเลยแล้วพิพากษาว่า จำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 178 หมู่ที่ 4 ตำบลน้ำซึมอำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี ให้โจทก์จดทะเบียนโอนที่พิพาทให้จำเลย หากไม่ดำเนินให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนและให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยคดีถึงที่สุด
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นภรรยาโจทก์ ที่พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และผู้ร้อง โจทก์ขายที่พิพาทให้จำเลยโดยผู้ร้องไม่ทราบและไม่ได้ให้ความยินยอมการขายที่พิพาทจึงไม่ผูกพันส่วนที่เป็นของผู้ร้องจำนวนกึ่งหนึ่ง คำพิพากษาของศาลไม่ผูกพันผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าที่พิพาทเป็นของผู้ร้องกึ่งหนึ่ง โดยแบ่งที่พิพาทออกเป็นสองส่วนเท่า ๆ กัน ห้ามจำเลยยุ่งเกี่ยวที่พิพาทส่วนของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1)
ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องว่า การร้องสอดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) จะต้องร้องสอดเข้ามาในระหว่างพิจารณา เมื่อศาลมีคำพิพากษาไปแล้วจะร้องสอดเข้ามาไม่ได้ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องของผู้ร้องไว้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้สิทธิครอบครองในที่พิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 มิใช่ได้สิทธิตามสัญญาซื้อขาย ผู้ร้องไม่มีสิทธิกล่าวอ้างว่า ที่พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับผู้ร้องและโจทก์ขายที่พิพาทให้แก่จำเลย โดยผู้ร้องมิได้ให้ความยินยอมนั้น เห็นว่า ในคดีเดิมศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้ทำสัญญาขายที่พิพาททั้งแปลงให้แก่จำเลย และจำเลยครอบครองยึดถือเพื่อตนแล้ว จำเลยจึงได้สิทธิครอบครองที่พิพาทดังนั้น การที่จำเลยได้สิทธิครอบครองที่พิพาทซึ่งเป็นที่ดิน น.ส.3จึงเป็นผลจากสัญญาซื้อขายที่โจทก์ตกลงขายและส่งมอบการครอบครองให้แก่จำเลยนั่นเองการได้สิทธิครอบครองที่พิพาทของจำเลยย่อมเป็นการได้สิทธิมาตามสัญญาซื้อขาย ดังนั้น ผู้ร้องชอบที่จะกล่าวอ้างได้ว่าที่พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับผู้ร้องโจทก์ขายให้แก่จำเลยโดยผู้ร้องมิได้ให้ความยินยอมได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นที่จำเลยฎีกาต่อมาว่าผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องกล่าวอ้างเข้ามาในคดีนั้นเห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยได้สิทธิครอบครองที่พิพาทให้โจทก์จดทะเบียนโอนแก่จำเลย หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน คดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิบังคับคดีตามคำพิพากษาเอาแก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อไป การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกร้องเข้ามาในชั้นนี้ว่า โจทก์นำที่พิพาทซึ่งเป็นสินสมรสไปขายให้แก่จำเลยโดยผู้ร้องซึ่งเป็นภริยาโจทก์มิได้ให้ความยินยอม เท่ากับเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นว่าการซื้อขายที่พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่ผูกพันที่พิพาทอันเป็นสินสมรสในส่วนของผู้ร้องและนับได้ว่าเป็นสิทธิอื่น ๆ ที่ผู้ร้องอาจขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมาย ซึ่งการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องกล่าวอ้างเข้ามาในคดีนี้ได้ ศาลชั้นต้นชอบที่จะรับคำร้องของผู้ร้องไว้ไต่สวนต่อไป ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยเมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้ว ปัญหาที่ว่าคำร้องของผู้ร้องเป็นคำร้องสอดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1)หรือไม่ จึงไม่เป็นสาระแก่คดีไม่จำต้องวินิจฉัย”
พิพากษายืน

Share