คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10565/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ความผิดฐานเป็นผู้รับใบอนุญาตรวบรวมเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้าโดยไม่ระบุเดือนและปีที่รวบรวม เดือนและปีที่สิ้นอายุการใช้เพาะปลูกหรือใช้ทำพันธุ์ตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ.2518 มาตรา 22 (2) และความผิดฐานรวบรวมเมล็ดพันธุ์เสื่อมคุณภาพตามมาตรา 36 มีเจตนากระทำความผิดที่แตกต่างกัน จึงเป็นคนละกรรมกัน แม้จำเลยยังไม่ได้จำหน่ายเมล็ดพันธ์ที่รวบรวมก็ไม่ทำให้เป็นความผิดกรรมเดียวกัน
เมล็ดพันธุ์เสื่อมคุณภาพที่รวบรวมเป็นข้าวเปลือกเจ้าพันธุ์สุพรรณบุรี 3 จำนวน 72 กิโลกรัม และพันธุ์ชัยนาท 1 อีก 72 กิโลกรัม รวม 144 กิโลกรัม การกระทำของจำเลยทำให้ผลิตผลของพันธุ์พืชไม่ได้มาตรฐานและเป็นการหลอกลวงเกษตรกรให้ได้รับความเสียหายอันเป็นผลเสียหายโดยตรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง จึงไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษจำคุกให้จำเลย ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษให้จึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2552 เวลากลางวัน จำเลยซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตรวบรวมเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้าได้รวบรวมเมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือกเจ้าชื่อพันธุ์สุพรรณบุรี 3 และพันธุ์ชัยนาท 1 เครื่องหมายการค้าตรางูทอง ซึ่งเป็นเมล็ดพันธุ์ควบคุมมีอัตราความงอกร้อยละ 80 ชนิดละ 72 กิโลกรัม โดยไม่ระบุวันที่รวบรวม และวันสิ้นอายุการใช้ทำพันธุ์ และจำเลยได้รวบรวมขายเมล็ดพันธุ์พืชชนิดข้าวเปลือกเจ้า ชื่อพันธุ์สุพรรณบุรี 3 ดังกล่าว ซึ่งเป็นเมล็ดพันธุ์เสื่อมคุณภาพ เหตุเกิดที่ตำบลเขาแก้ว อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ.2518 มาตรา 22 (2), 36, 60, 64
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ.2518 มาตรา 22 (2), 36, 60, 64 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ.2518 มาตรา 22 (2), 60 จำคุก 6 เดือน ฐานความผิดตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ.2518 มาตรา 36, 64 จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 รวมจำคุก 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ความผิดฐานเป็นผู้รับใบอนุญาตรวบรวมเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้าโดยไม่ระบุเดือนและปีที่รวบรวม เดือนและปีที่สิ้นอายุการใช้เพาะปลูกหรือใช้ทำพันธุ์ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ.2518 มาตรา 22 (2) และความผิดฐานรวบรวมเมล็ดพันธุ์เสื่อมคุณภาพตามมาตรา 36 มีเจตนากระทำความผิดที่แตกต่างกัน จึงเป็นคนละกรรมกัน แม้จำเลยยังไม่ได้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ที่รวบรวมดังที่ฎีกาก็ไม่ทำให้เป็นความผิดกรรมเดียวกัน ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า เมล็ดพันธุ์เสื่อมคุณภาพที่รวบรวมเป็นข้าวเปลือกเจ้าพันธุ์สุพรรณบุรี 3 จำนวน 72 กิโลกรัม และพันธุ์ชัยนาท 1 อีก 72 กิโลกรัม รวม 144 กิโลกรัม การกระทำของจำเลยทำให้ผลิตผลของพันธุ์พืชไม่ได้มาตรฐานและเป็นการหลอกลวงเกษตรกรให้ได้รับความเสียหาย อันเป็นผลเสียหายโดยตรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง จึงไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษจำคุกให้จำเลย ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษให้จึงชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตามเห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษจำคุกกระทงละ 6 เดือน ก่อนลดโทษนั้นหนักไป ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่รูปคดี”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยกระทงละ 4 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำคุกกระทงละ 2 เดือน รวม 2 กระทง จำคุก 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share