คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2633-2634/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 296 แต่ความผิดดังกล่าวย่อมรวมถึงการใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตามมาตรา 391 ด้วย ถือได้ว่าความผิดตามฟ้องรวมการกระทำหลายอย่างซึ่งแต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดตามมาตรา 391 ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยทั้งสองในการกระทำตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนแรกที่วิ่งเข้ามาต่อยผู้เสียหาย หลังจากนั้นผู้เสียหายถูกกลุ่มวัยรุ่นพยายามรุมล้อมให้เข้าไปในบริเวณที่มืด แต่ผู้เสียหายวิ่งหนีไปบริเวณสามแยกที่มีแสงสว่างจากไฟฟ้าสาธารณะริมถนน จากนั้นจึงถูกจำเลยที่ 2 กับวัยรุ่นอีกคนหนึ่งวิ่งเข้ามาต่อย พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองและวัยรุ่นอีกคนหนึ่งที่เข้ามาต่อยผู้เสียหายดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าเป็นการตัดสินใจกระทำไปตามลำพังของจำเลยแต่ละคนโดยมิได้คบคิดกัน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิด จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายตาม ป.อ. มาตรา 138 วรรคสอง เท่านั้น จะปรับบทลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 140 วรรคแรก ซึ่งเป็นบทลงโทษผู้กระทำความผิดตามมาตรา 138 วรรคสอง โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปไม่ได้ แม้จำเลยที่ 2 มิได้ฎีกาปัญหานี้ แต่เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ที่มิได้ฎีกาด้วยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์เรียกจำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 2
โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 138, 140, 296
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 138 วรรคสอง, 140 วรรคแรก, 296 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายและโดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สามคนขึ้นไป ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 3 ปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296 แต่ความผิดดังกล่าวย่อมรวมถึงการใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตามมาตรา 391 ด้วย ถือได้ว่าความผิดตามฟ้องรวมการกระทำหลายอย่างซึ่งแต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดตามมาตรา 391 ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยทั้งสองในการกระทำตามที่พิจารณาได้ความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ต่อไปว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายและโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง ประกอบมาตรา 140 วรรคแรก หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนแรกที่วิ่งเข้ามาต่อยผู้เสียหาย หลังจากนั้นผู้เสียหายถูกกลุ่มวัยรุ่นพยายามรุมล้อมให้เข้าไปในบริเวณที่มืดหลังที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลลำไทรหลังเก่า แต่ผู้เสียหายวิ่งหนีไปบริเวณสามแยกที่มีแสงสว่างจากไฟฟ้าสาธารณะริมถนน จากนั้นจึงถูกจำเลยที่ 2 กับวัยรุ่นอีกคนหนึ่งวิ่งเข้ามาต่อย พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองและวัยรุ่นอีกคนหนึ่งที่เข้ามาต่อยผู้เสียหายดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าเป็นการตัดสินใจกระทำไปตามลำพังของจำเลยแต่ละคนโดยมิได้คบคิดกัน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิด จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง เท่านั้น จะปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 140 วรรคแรก ซึ่งเป็นบทลงโทษผู้กระทำความผิดตามมาตรา 138 วรรคสอง โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปตามที่โจทก์ฟ้องไม่ได้ แม้จำเลยที่ 2 มิได้ฎีกาปัญหานี้ แต่เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ที่มิได้ฎีกาด้วยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225 ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องร้ายแรงและไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย แม้จำเลยที่ 1 ไม่เคยถูกจำคุกมาก่อนและมีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัวดังที่กล่าวอ้างในฎีกาก็ตาม แต่ไม่มีเหตุเพียงพอที่จะฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง, 391 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน ทางนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 4 เดือน

Share