คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9988/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 4 ช่วยขับรถจักรยานยนต์พาจำเลยอื่นไปไหนมาไหนด้วยกันตลอดจนกระทั่งมีการปรึกษาปล้นทรัพย์รถแท็กซี่ซึ่งจำเลยที่ 4 ก็ตกลงด้วย และรับว่าจะทำหน้าที่ขับรถจักรยานยนต์ติดตามไปรับเมื่อปล้นทรัพย์เสร็จ เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ขึ้นรถแท็กซี่ไปเพื่อปล้นทรัพย์ จำเลยที่ 4 ก็ขับรถจักรยานยนต์ตามไปถือว่าเป็นการสนับสนุนการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ของจำเลยอื่นแล้ว ส่วนการที่จำเลยที่ 4 ขับรถจักรยานยนต์ล้มและจำเลยอื่นกระทำผิดแผนที่ปล้นทรัพย์เพราะผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสจึงไม่อยู่รอจำเลยที่ 4 โดยวิ่งหลบหนีไปก่อนก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 4 พ้นความรับผิดไปได้เพียงแต่ไม่เป็นความผิดฐานร่วมกับจำเลยอื่นปล้นทรัพย์เท่านั้น คงมีความผิดฐานสนับสนุนการปล้นทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 340, 371 และริบอาวุธมีดของกลาง
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 4 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสาม, 371 จำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา 86 การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส จำคุกคนละ 20 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะ ปรับคนละ 100 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 คนละ 20 ปี ปรับคนละ 100 บาท จำเลยที่ 4 ลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนในความผิดฐานปล้นทรัพย์จำคุก 13 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 4 ให้การเป็นประโยชน์แก่เจ้าพนักงานจนสามารถนำไปสู่การจับจำเลยอื่นและยังนำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา สมควรลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 คนละ 10 ปี ปรับคนละ 50 บาท จำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 6 ปี 8 เดือน ข้อหาอื่นสำหรับจำเลยที่ 2 (ที่ถูก จำเลยที่ 4) ให้ยก จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ริบของกลาง
จำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้เสียหายมีอาชีพขับรถแท็กซี่ วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 24 นาฬิกา ผู้เสียหายขับรถแท็กซี่มาตามถนนสายรังสิต – ปทุมธานี พบจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โบกรถเรียกให้ไปส่งที่วัดเสด็จ เมื่อผู้เสียหายขับรถมาถึงวัดเสด็จจำเลยที่ 1 บอกให้กลับรถแล้วให้ขับเลียบไปตามถนนคลองประปา ซึ่งเป็นถนนขรุขระข้างหนึ่งเป็นป่าหญ้าอีกข้างหนึ่งเป็นคลองประปา ไม่มีไฟฟ้าและบ้านของผู้คน จำเลยที่ 1 บอกให้จอดรถแล้วจำเลยที่ 1 ได้จับศีรษะผู้เสียหายและนำอาวุธมีดมาเชือดที่ลำคอ ผู้เสียหายจึงจับมีดของจำเลยที่ 1 ไว้ จำเลยที่ 1 บอกให้จำเลยที่ 2 แทงผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 จึงชักอาวุธมีดยาวประมาณ 1 ฟุต ออกมาจะแทงผู้เสียหาย ผู้เสียหายจึงใช้มือซ้ายคว้ามีดของจำเลยที่ 2 แล้วรีบเปิดประตูรถลงมาร้องให้คนช่วย จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงลงตามมาโดยถืออาวุธมีดมาคนละ 1 เล่ม ผู้เสียหายกลัวจำเลยทั้งสามจะทำร้ายจึงหยิบกระเป๋าสตางค์ซึ่งมีเงินอยู่ 900 บาท ส่งให้กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไป เมื่อได้กระเป๋าสตางค์แล้วจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 พากันหลบหนี… หลังจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เรียกแท็กซี่แล้วพากันนั่งไปด้วยกัน จำเลยที่ 4 ได้ขับรถจักรยานยนต์ตามไป แต่เมื่อรถแท็กซี่เลี้ยวเข้าถนนเลียบคลองประปารถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 4 เสียหลักล้มลง ทำให้จำเลยที่ 4 ได้รับบาดเจ็บ และตามรถแท็กซี่ไม่ทัน… ที่จำเลยที่ 4 ฎีกาว่าการกระทำของจำเลยที่ 4 ไม่เป็นความผิดฐานสนับสนุนเพราะรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 4 ล้ม และไม่ได้ไปรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 หนีหลังจากปล้นทรัพย์แล้วนั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 4 ช่วยขับรถจักรยานยนต์พาจำเลยอื่นไปไหนมาไหนด้วยกันตลอดจนกระทั่งมีการปรึกษาปล้นทรัพย์รถแท็กซี่ซึ่งจำเลยที่ 4 ก็ตกลงด้วย และรับว่าจะทำหน้าที่ขับรถจักรยานยนต์ติดตามไปรับเมื่อปล้นทรัพย์เสร็จ เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ขึ้นรถแท็กซี่ไปเพื่อปล้นทรัพย์ จำเลยที่ 4 ก็ขับรถจักรยานยนต์ตามไป ถือว่าเป็นการสนับสนุนการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ของจำเลยอื่นแล้ว ส่วนการที่จำเลยที่ 4 ขับรถจักรยานยนต์ล้มและจำเลยอื่นกระทำผิดแผนที่ปล้นทรัพย์เพราะผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสจึงไม่อยู่รอจำเลยที่ 4 โดยวิ่งหลบหนีไปก่อนก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 4 พ้นความรับผิดไปได้เพียงแต่ไม่เป็นความผิดฐานร่วมกับจำเลยอื่นปล้นทรัพย์เท่านั้น คงมีความผิดฐานสนับสนุนการปล้นทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกาของจำเลยที่ 4 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share