แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า โจทก์ทั้งสองยื่นคำแก้อุทธรณ์ พร้อมกับคำแถลงคัดค้านการขอทุเลาการบังคับ ศาลแรงงานกลางสั่งว่า โจทก์ไม่ยื่นคำแก้อุทธรณ์และคำแถลงคัดค้านการขอทุเลาการบังคับภายในกำหนด จึงให้รับไว้เป็นคำแถลงการณ์ ต่อมาทนายโจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งรับคำแก้อุทธรณ์และคำแถลงคัดค้านการขอทุเลาการบังคับศาลแรงงานกลางสั่งว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งดังกล่าว ให้ยกคำร้อง
โจทก์ทั้งสองเห็นว่า การส่งหมายนัด สำเนาอุทธรณ์และสำเนาคำร้องขอทุเลาการบังคับให้ทนายโจทก์ไม่ชอบ เนื่องจากพนักงานไปรษณีย์ไม่ได้ส่งยังภูมิลำเนาหรือสำนักทำการของทนายโจทก์ตามจ่าหน้าซองจดหมายของศาล แต่ส่งไปยังที่สำนักทำการของบุคคลอื่น โดยมีบุคคลอื่นซึ่งมิใช่เป็นตัวแทนหรือเป็นพนักงานของสำนักงานทนายโจทก์เป็นผู้ลงชื่อในใบตอบรับไปรษณีย์ไว้ ทนายโจทก์เพิ่งได้รับหมายนัดสำเนาอุทธรณ์และสำเนาคำร้องขอทุเลาการบังคับเมื่อวันที่ 11มิถุนายน 2533 โปรดมีคำสั่งให้ศาลแรงงานกลางทำการไต่สวนคำร้องสั่งเพิกถอนคำสั่งของศาลแรงงานกลางที่ว่าโจทก์ไม่ยื่นคำแก้อุทธรณ์และคำแถลงคัดค้านภายในกำหนดจึงให้รับเป็นคำแถลงการณ์ และโปรดมีคำสั่งให้รับคำแก้อุทธรณ์และคำแถลงคัดค้านคำร้องขอทุเลาการบังคับของโจทก์ทั้งสองต่อไป
หมายเหตุ จำเลยยื่นคำแก้อุทธรณ์คำสั่ง (อันดับ 81)
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2กลับเข้าทำงานในอัตราค่าจ้างที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ พร้อมกับยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับ (อันดับ66,67)
ทนายโจทก์ทั้งสองได้รับสำเนาอุทธรณ์และสำเนาคำร้องขอทุเลาการบังคับเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2533 และยื่นคำแก้อุทธรณ์พร้อมกับคำแถลงคัดค้านการขอทุเลาการบังคับเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2533ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รับไว้เป็นคำแถลงการณ์ (อันดับ 69,73,72)ต่อมาทนายโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งรับคำแก้อุทธรณ์และคำแถลงคัดค้านการขอทุเลาการบังคับ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องดังกล่าว (อันดับ 75)
โจทก์ทั้งสองจึงยื่นคำร้องอุทธรณ์นี้ (อันดับ 78)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว การที่ศาลแรงงานกลางรับคำร้องลงวันที่ 20มิถุนายน 2533 ของโจทก์ทั้งสองไว้แล้วพิจารณาสั่งว่า ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมนั้น เป็นเรื่องที่ศาลแรงงานกลางไม่เชื่อข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสองอ้างมาในคำร้องนั่นเอง การที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์เพื่อให้ฟังข้อเท็จจริงตามที่โจทก์ทั้งสองอ้างมาในคำร้องดังกล่าวว่าเป็นความจริงนั้น เป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานกลางและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ให้ยกคำร้อง