คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1568/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์มาแถลงข้อหาด้วยวาจาต่อหน้าศาลแรงงานกลางศาลแรงงานกลางสอบถามตามที่จำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม แล้วบันทึกรายการแห่งข้อหาไว้ ตามมาตรา 35แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 โดยในตอนต้นกล่าวถึงการที่โจทก์ถูกจำเลยเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม คำขอบังคับในตอนท้ายกล่าวว่า ให้จำเลยปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยจ่ายค่าชดเชยรวม 14,400บาทนั้น ย่อมเข้าใจได้แล้วว่าโจทก์อ้างว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน นั่นเอง ไม่เป็นฟ้องที่เคลือบคลุม
การฟ้องเรียกค่าชดเชย ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้ จึงต้องถือว่ามีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164
จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจด้วย จึงมิใช่กิจการที่ได้รับยกเว้นมิให้ใช้บังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานและเมื่อโจทก์เป็นผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่จำเลยผู้เป็นนายจ้างเพื่อรับค่าจ้าง และงานนั้นไม่เกี่ยวกับงานบ้านไม่ว่าจำเลยจะเรียกโจทก์ว่าพนักงานหรือเรียกว่าลูกจ้างและจำเลยจะวางข้อบังคับกำหนดระเบียบปฏิบัติงาน และระเบียบการลงโทษ การแต่งตั้ง ถอดถอน เลื่อนชั้น เลื่อนขั้นเงินเดือนของพนักงาน ตลอดจนจัดให้มีกองทุนสงเคราะห์แก่พนักงานไว้อย่างไร ก็ยังต้องถือว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย ตามบทนิยามของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน อยู่นั่นเอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ต่อมาได้มีคำสั่งพักงานและสั่งไล่ออกในเดือนเดียวกัน โดยอ้างว่าโจทก์ได้ร่วมกับพวกลักทรัพย์ของจำเลย โจทก์ถูกฟ้องฐานลักทรัพย์ แต่ศาลทหารกรุงเทพ (ศาลอาญา)พิพากษายกฟ้อง โจทก์ได้ไปติดต่อขอเข้าทำงานอีก จำเลยไม่รับ โจทก์ถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิม และจ่ายค่าชดเชย 14,400 บาท แก่โจทก์

จำเลยให้การว่า คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม เพราะไม่ได้บรรยายว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินโดยอาศัยระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งอะไร โจทก์กระทำทุจริตต่อหน้าที่โดยพยายามลักทรัพย์เป็นการจงใจทำให้จำเลยเสียหาย และฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน และผิดข้อบังคับว่าด้วยระเบียบวินัยและการลงโทษพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย จำเลยได้สอบสวนด้วยความเป็นธรรมและคณะกรรมการได้พิจารณาแล้ว จึงได้ลงโทษไล่โจทก์ออกจากงาน เนื่องจากปรากฏพยานหลักฐานชัดแจ้ง คดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว เพราะไม่ได้ฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยไล่โจทก์ออกหรือนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า คำฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุมนับแต่วันที่โจทก์ถูกไล่ออกจากงานจนถึงวันฟ้องเรียกร้องค่าชดเชยนี้ยังไม่ครบ 10 ปี คดีจึงไม่ขาดอายุความ ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ลักทรัพย์หรือพยายามลักทรัพย์หรือรับของโจรจึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์กระทำการทุจริตต่อหน้าที่ โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยนับถึงวันที่ถูกไล่ออกเป็นเวลาเกินกว่า 3 ปีแล้ว เมื่อจำเลยสั่งไล่ออก ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่ได้กระทำการทุจริตดังที่จำเลยอ้าง จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ ตามข้อ 46(3) ของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 (ที่ถูกฉบับที่ 6 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2521 ข้อ 2 ด้วย) ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิมนั้น ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 10สิงหาคม 2521 ซึ่งโจทก์ถูกไล่ออกนั้น ยังไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ศาลมีอำนาจสั่งเช่นนั้น จึงไม่อาจบังคับให้ได้ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย14,400 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยกเสีย

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์มาแถลงข้อหาด้วยวาจาต่อหน้าศาลแรงงานกลาง ศาลแรงงานกลางสอบถามตามที่จำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมแล้วบันทึกรายการแห่งข้อหาไว้ ตามมาตรา 35แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 ข้อความตามที่บันทึกไว้นั้นในตอนต้นกล่าวถึงการที่โจทก์ถูกจำเลยเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม คำขอบังคับในตอนท้ายกล่าวว่าให้จำเลยปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานโดยจ่ายค่าชดเชยรวม 14,400บาท ดังนี้ย่อมเข้าใจได้แล้วว่าโจทก์อ้างว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานนั่นเอง ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องที่เคลือบคลุม

การฟ้องเรียกค่าชดเชยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานเช่นคดีนี้ ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้ จึงต้องถือว่ามีอายุความ10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164

ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 14 มีความว่า “ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้จะไม่ใช้บังคับทั้งหมดหรือบางส่วนแก่ส่วนราชการหรือกิจการใด ให้เป็นไปตามที่กระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนด” ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 1 มีความว่า “ประกาศนี้มิให้ใช้บังคับแก่ (1) ราชการส่วนกลาง (2) ราชการส่วนภูมิภาค (3) ราชการส่วนท้องถิ่น (4) กิจการอื่นตามที่กระทรวงมหาดไทยจะได้กำหนด” ดังนี้ จึงต้องพิจารณาต่อไปว่า “กิจการอื่น” ดังกล่าวนั้นมีกิจการอันใดบ้าง รวมถึงรัฐวิสาหกิจเช่นจำเลยด้วยหรือไม่ ปรากฏว่ามีประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง กำหนดกิจการที่มิให้ใช้บังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2515 กำหนดกิจการไว้ 2 ประเภท คือ 1. งานเกษตรกรรม ฯลฯ 2. การจ้างงานที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจ ก็เมื่อจำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจด้วย จึงมิใช่กิจการที่ได้รับยกเว้นมิให้ใช้บังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานส่วนที่จำเลยอ้างว่าความผูกพันระหว่างจำเลยกับโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยเป็นความผูกพันกันตามกฎหมายและข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจของกฎหมายนั้น เห็นว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2ได้กำหนดบทนิยามของคำว่า “ลูกจ้าง” ให้หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้างไม่ว่าจะเป็นผู้รับค่าจ้างด้วยตนเองหรือไม่ก็ตามและหมายความรวมถึงลูกจ้างประจำและลูกจ้างชั่วคราว แต่ไม่รวมถึงลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้าน เมื่อโจทก์เป็นผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่จำเลยผู้เป็นนายจ้างเพื่อรับค่าจ้างและงานนั้นไม่เกี่ยวกับงานบ้านไม่ว่าจำเลยจะเรียกโจทก์ว่าพนักงานหรือเรียกว่าลูกจ้าง และจำเลยจะวางข้อบังคับกำหนดระเบียบปฏิบัติงาน และระเบียบการลงโทษ การแต่งตั้ง ถอดถอน เลื่อนชั้น เลื่อนขั้นเงินเดือนของพนักงานตลอดจนจัดให้มีกองทุนสงเคราะห์แก่พนักงานไว้อย่างไร ก็ยังต้องถือว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยตามบทนิยามของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานอยู่นั่นเอง จำเลยจะอ้างอิงข้อนี้มาเป็นเหตุผลว่า จำเลยไม่อยู่ในบังคับของประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานหาได้ไม่

พิพากษายืน

Share