แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ทำให้รถยนต์ของโจทก์ที่เช่าซื้อได้รับความเสียหายทั้งคันจนไม่สามารถซ่อมให้คืนสู่สภาพเดิมได้ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากราคารถยนต์ที่เช่าซื้อมาตามสภาพและราคาขณะเกิดเหตุ ไม่อาจเรียกจากราคาเช่าซื้อรวมถึงเงินดาวน์ที่โจทก์ชำระไปแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 1,532,584 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และชำระค่าขาดประโยชน์วันละ 2,500 บาท นับแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2553 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 3 ชำระเงินค่าเสียหายให้แก่โจทก์ 290,000 บาท โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นอนุญาต จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 จากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 977,084 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2553 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 1,157,617.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า ค่าเสียหายของโจทก์มีเพียงใด จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า รถยนต์ของโจทก์มีราคาขณะเกิดเหตุเพียง 760,000 บาท โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากเงินดาวน์และค่าเช่าซื้อรถยนต์ หลักฐานการชำระเงินค่าติดตั้งเครื่องเสียงและอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ของโจทก์รับฟังไม่ได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดค่าขาดประโยชน์ให้โจทก์สูงเกินความเป็นจริง และโจทก์ได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมาเพียงพอแก่ความเสียหายแล้ว เห็นว่า การกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ทำให้รถยนต์ของโจทก์ที่เช่าซื้อได้รับความเสียหายทั้งคันจนไม่สามารถซ่อมให้คืนสู่สภาพเดิมได้โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายราคารถยนต์ของโจทก์ที่เช่าซื้อมาตามสภาพและราคาขณะเกิดเหตุ โจทก์ไม่อาจเรียกจากราคาเช่าซื้อรวมถึงเงินดาวน์ที่โจทก์ชำระไปแล้ว ข้อเท็จจริงปรากฏตามสัญญาเช่าซื้อว่าขณะเช่าซื้อรถยนต์ของโจทก์มีราคาเงินสด 1,252,336.45 บาท หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อโจทก์ใช้ประโยชน์รถยนต์มาเป็นเวลา 2 ปี 7 เดือน รถยนต์ของโจทก์ย่อมเสื่อมสภาพและราคาไปตามอายุการใช้งาน ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสื่อมราคา 200,000 บาท นับว่าเหมาะสมแล้วส่วนค่าสินไหมทดแทนราคารถยนต์จำนวน 760,000 บาท ที่บริษัทสินมั่นคงประกันภัยจำกัด (มหาชน) ผู้รับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์ชำระมานั้น เป็นค่าสินไหมทดแทนตามความรับผิดแห่งกรมธรรม์ประกันภัย ไม่ได้เป็นการชดใช้ตามราคารถยนต์ที่แท้จริงหรือราคารถยนต์ขณะเกิดเหตุตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กล่าวอ้าง แม้เงินค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวจะเป็นเงินชดใช้ราคารถยนต์ก็ตาม แต่ก็เป็นค่าสินไหมทดแทนที่ต้องนำไปชำระให้แก่บริษัทสินอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) ผู้ให้เช่าซื้อ อันเป็นการชำระค่าเสียหายตามราคาค่าเช่าซื้อที่ยังขาดอยู่ ซึ่งค่าเช่าซื้อนั้นมีค่าเช่าหรือผลประโยชน์รวมอยู่ด้วยส่วนหนึ่ง ไม่ใช่มีแต่ราคารถเพียงอย่างเดียว จึงเป็นการชำระราคารถเพียงบางส่วน ทั้งได้ความว่าภายหลังนำเงินค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวไปชำระค่าเช่าซื้อแล้วโจทก์ยังต้องรับผิดชำระค่าเช่าซื้อที่ยังขาดอยู่อีกบางส่วนจนครบ โดยโจทก์ไม่ได้รับกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อเนื่องจากรถยนต์เสียหายทั้งคันจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 เมื่อคำนึงถึงค่าเสียหายของราคารถยนต์ที่ได้รับชำระจาก ค่าสินไหมทดแทนตามส่วนที่เหมาะสมประกอบค่าเสื่อมราคารถยนต์ดังกล่าวแล้วเห็นควรกำหนด ค่าเสียหายในส่วนนี้ให้โจทก์เป็นเงิน 400,000 บาท สำหรับค่าติดตั้งเครื่องเสียงและอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ของโจทก์ โจทก์มีหลักฐานค่าใช้จ่ายเป็นบิลเงินสดมาแสดงยืนยัน ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้นำสืบหักล้าง จึงรับฟังได้ว่าโจทก์ติดตั้งเครื่องเสียงและอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ดังกล่าวจริง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายตามบิลเงินสดเป็นเงิน 274,480 บาท ส่วนบิลเงินสดแผ่นที่ 4 เป็นค่าตรวจสภาพรถยนต์จึงไม่นำมารวมคำนวณให้ แต่ถึงอย่างไรเครื่องเสียงและอุปกรณ์ที่โจทก์ติดตั้งก็ย่อมมีการเสื่อมราคาจากการใช้เช่นเดียวกัน จึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์เป็นเงิน 230,000 บาท ส่วนค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถประกอบกิจการของโจทก์นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้กำหนดค่าเสียหายโดยพิเคราะห์ถึงรายได้ที่ควรจะเป็นและค่าใช้จ่ายในการใช้รถของโจทก์ประกอบด้วยแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์วันละ 1,000 บาท นับแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2553 ซึ่งเป็นวันทำละเมิด จนถึงวันที่ 3 มิถุนายน 2554 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ได้รับเงินค่าซากรถ เป็นเวลา 172 วัน เป็นเงิน 172,000 บาท จึงเหมาะสมแล้ว รวมค่าเสียหายของโจทก์เป็นเงิน 802,000 บาท เมื่อนำเงินค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ได้รับจากจำเลยที่ 3 จำนวน 290,000 บาท มาหักออกแล้ว จึงเหลือค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ 512,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 512,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ