แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ก. เป็นตัวแทนของโจทก์ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทไว้แทนโจทก์ซึ่งเป็นตัวการ จึงเป็นหน้าที่ของ ก. จะต้องจดทะเบียนโอนที่ดินที่ได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนนั้นส่งคืนให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 วรรคหนึ่ง เมื่อ ก. ถึงแก่ความตาย โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กองมรดก จึงชอบที่จะบังคับสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยซึ่งเป็นทายาทของ ก. ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1737 ซึ่งกฎหมายไม่ได้บังคับว่าทายาทที่ถูกฟ้องจะต้องได้รับมรดกของเจ้ามรดกหรือต้องฟ้องทายาททุกคน และในกรณีที่โจทก์ไม่ได้เรียกผู้จัดการมรดกเข้ามา ก็อาจมีผลในการบังคับคดีต่อไปเท่านั้น ไม่ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยในฐานะทายาทของนายกนิษฐ์จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาททั้งสามแปลงแก่โจทก์ หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยในฐานะทายาทของนายกนิษฐ์หรือสรศิษฎ์ (ที่ถูก สรศิษฏ์) จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสามแปลงเป็นชื่อโจทก์ หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองฝ่ายเป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นภริยานายเตียกจือ ซึ่งเป็นคนต่างด้าว ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน นายกนิษฐ์หรือสรศิษฏ์ เป็นบุตรของโจทก์กับนายเตียกจือ นายกนิษฐ์เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 105889, 136084 และ 136085 ตำบลบางกร่าง อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ต่อมานายกนิษฐ์ได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลย นายเตียกจือและนายกนิษฐ์ถึงแก่ความตาย โจทก์นำคดีมาฟ้องขอให้บังคับจำเลยในฐานะทายาทของนายกนิษฐ์จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินที่โจทก์กับนายเตียกจือทำมาหาได้ร่วมกัน แต่จดทะเบียนใส่ชื่อนายกนิษฐ์ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ไว้แทน คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า คำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์เป็นคำขอที่อาจบังคับได้หรือไม่ เห็นว่า ที่ดินพิพาทส่วนของนายเตียกจือตามที่โจทก์กล่าวอ้างมานั้น ถือว่านายเตียกจือได้ที่ดินพิพาทมาโดยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 86 แต่ก็มิใช่ว่าจะไม่มีผลใด ๆ เสียเลย เพราะ นายเตียกจือยังมีสิทธิได้รับผลตามมาตรา 94 ในอันที่จะจัดการจำหน่ายที่ดินนั้นได้ ฉะนั้นตราบใดที่ยังมิได้จำหน่ายที่ดินพิพาทส่วนของนายเตียกจือ และนายเตียกจือถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา ที่ดินพิพาทส่วนดังกล่าวย่อมเป็นทรัพย์มรดกของนายเตียกจือที่ตกทอดได้แก่ทายาท โจทก์ไม่ใช่ทายาทของนายเตียกจือจึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยให้โอนที่ดินพิพาทส่วนนี้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247 แต่สำหรับที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์นั้น หากข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำฟ้องของโจทก์ ก็ต้องถือว่านายกนิษฐ์เป็นตัวแทนของโจทก์ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทไว้แทนโจทก์ซึ่งเป็นตัวการ จึงเป็นหน้าที่ของนายกนิษฐ์ซึ่งเป็นตัวแทนจะต้องจดทะเบียนโอนที่ดินที่นายกนิษฐ์ได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนนั้นส่งคืนให้แก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 810 วรรคหนึ่ง เมื่อนายกนิษฐ์ถึงแก่ความตาย โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กองมรดก จึงชอบที่จะบังคับสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยซึ่งเป็นทายาทของนายกนิษฐ์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1737 ซึ่งกฎหมายไม่ได้บังคับว่าทายาทที่ถูกฟ้องจะต้องได้รับมรดกของเจ้ามรดกหรือต้องฟ้องทายาททุกคน และในกรณีที่โจทก์ไม่ได้เรียกผู้จัดการมรดกเข้ามา ก็อาจมีผลในการบังคับคดีต่อไปเท่านั้น ไม่ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง คำขอท้ายคำฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ จึงเป็นคำฟ้องที่อาจบังคับได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์มาเสียทั้งหมด โดยวินิจฉัยว่าคำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์เป็นคำขอที่ไม่อาจบังคับได้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ปัญหานี้คงฟังขึ้นบางส่วน สำหรับปัญหาที่ว่า นายกนิษฐ์มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทไว้แทนโจทก์หรือไม่ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังไม่ได้วินิจฉัยมานั้น เนื่องจากจำเลยให้การกล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายกนิษฐ์ที่ตกทอดได้แก่ทายาทรวมทั้งจำเลยด้วย จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ แต่ศาลล่างทั้งสองดำเนินคดีนี้มาอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์ เป็นการไม่ถูกต้อง เพื่อให้คดีเป็นไปตามลำดับชั้นศาล จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาพิพากษาใหม่
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยในประเด็นที่ยังไม่ได้วินิจฉัยแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่