คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6577/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1 โดยผ่านจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 โจทก์ส่งเบี้ยประกันภัยทุกปี ต่อมาโจทก์ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาล แต่จำเลยที่ 1 ไม่จ่ายค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์ตามกรมธรรม์ประกันภัยอันเป็นการผิดสัญญา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้เบี้ยประกันภัยที่โจทก์ส่งไป ค่ารักษาพยาบาล และค่าพาหนะเดินทางไปรักษาพยาบาล อันเป็นการเรียกร้องให้ชำระหนี้ตามสัญญาและเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการไม่ชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 และมาตรา 391 วรรคสาม ส่วนค่าเสียหายที่โจทก์ขอมานั้นจะเรียกได้หรือไม่ เพียงใด ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติของกฎหมายต่อไป ฟ้องโจทก์ดังกล่าวได้แสดงแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสองแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 144,550 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 131,623 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ตามรูปคดี คืนค่าขึ้นศาล 98.75 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2542 โจทก์ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1 โดยผ่านจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 จำนวนเงินเอาประกัน 100,000 บาท ตกลงส่งเบี้ยประกันภัยปีละ 15,528 บาท เป็นเวลา 21 ปี ครบกำหนดวันที่ 2 สิงหาคม 2563 จำเลยที่ 1 ตกลงจ่ายเงินปันผลร้อยละ 10 ของเงินเอาประกันภัยทุก 3 ปี ตามกรมธรรม์ โจทก์ส่งเบี้ยประกันภัยแก่จำเลยที่ 1 ตามใบรับเงินเบี้ยประกันภัยและหนังสือรับรองการชำระเบี้ยประกันชีวิต ต่อมาเดือนพฤษภาคม 2546 โจทก์ป่วยต้องรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลธนบุรี เสียค่ารักษาพยาบาล 31,511 บาท ตามสำเนาใบเสร็จรับเงิน แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่ารักษาพยาบาลให้แก่โจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ขาดส่งเบี้ยประกันภัยในวันที่ 2 สิงหาคม 2545 ซึ่งเป็นวันกำหนดชำระเบี้ยประกันภัยปีที่ 4
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1 โดยผ่านจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 โจทก์ส่งเบี้ยประกันภัยทุกปี ต่อมาโจทก์ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาล แต่จำเลยที่ 1 ไม่จ่ายค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์ตามกรมธรรม์ประกันภัยอันเป็นการผิดสัญญา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้เบี้ยประกันภัยที่โจทก์ส่งไป ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาล ค่ารักษาพยาบาลต่อเนื่องที่บ้าน ค่ารักษาพยาบาลรายวันและค่าพาหนะในการเดินทางไปรักษาพยาบาล อันเป็นการเรียกร้องให้ชำระหนี้ตามสัญญาและเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการไม่ชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213 และมาตรา 391 วรรคสาม ส่วนค่าเสียหายที่โจทก์ขอมานั้นจะเรียกได้หรือไม่ เพียงใด ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติของกฎหมายต่อไป ฟ้องโจทก์ดังกล่าวได้แสดงแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
สำหรับปัญหาว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา และจำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 ยอมรับว่าได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้รับเงินปันผล 10,000 บาท จากจำเลยที่ 1 และรับมอบเช็คจากโจทก์ 6,028 บาท เพื่อนำไปชำระเบี้ยประกันภัยของปีที่ 4 แก่จำเลยที่ 1 อันเจือสมกับคำเบิกความของโจทก์ว่าได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ไปชำระเบี้ยประกันภัยแก่จำเลยที่ 1 แทนตามที่เคยปฏิบัติมา ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ในการชำระเบี้ยประกันภัยปีที่ 4 โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 นำไปชำระแทน ส่วนที่อ้างว่าเป็นการชำระเบี้ยประกันภัยเกินกำหนดเวลาตามกรมธรรม์นั้น ปรากฏตามหนังสือมอบฉันทะ ที่โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 รับเงินปันผลจากจำเลยที่ 1 เพื่อไปชำระเบี้ยประกันภัยในปีที่ 4 ลงวันที่ 2 กันยายน 2545 ซึ่งเป็นระยะเวลาผ่อนผันตามกรมธรรม์ นอกจากนี้ปรากฏตามใบรับเงินเบี้ยประกันภัยปีที่ 2 เอกสารหมาย จ.5 ว่าโจทก์ชำระเบี้ยประกันภัยในวันที่ 19 ธันวาคม 2543 ตามหนังสือรับรองการชำระเบี้ยประกันภัยปีที่ 3 โจทก์ชำระเบี้ยประกันภัยในวันที่ 31 ตุลาคม 2544 ซึ่งการชำระเบี้ยประกันภัยดังกล่าวเป็นการชำระเกินกำหนดเวลากรมธรรม์แต่จำเลยที่ 1 ยอมรับไว้ตลอดมาโดยไม่ได้ท้วงติง แสดงว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้เคร่งครัดในกำหนดเวลาตามกรมธรรม์ และจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้บอกเลิกสัญญากับโจทก์ แสดงว่าคู่สัญญาแสดงเจตนาโดยปริยายไว้ต่อกันแล้วว่ากรมธรรม์ดังกล่าวยังคงมีผลใช้บังคับ จึงรับฟังได้ว่าโจทก์ได้ชำระเบี้ยประกันภัยปีที่ 4 ภายในระยะเวลาที่กรมธรรม์ยังมีผลใช้บังคับแล้ว เมื่อโจทก์ขอเบิกค่ารักษาพยาบาลอันเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลตามกรมธรรม์ที่ยังมีผลใช้บังคับ แต่จำเลยที่ 1 ปฏิเสธไม่ชำระ จำเลยที่ 1 ย่อมเป็นฝ่ายผิดสัญญา ส่วนที่จำเลยที่ 2 ไม่ได้นำเงินเบี้ยประกันภัยไปให้จำเลยที่ 1 ก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ซึ่งต้องไปว่ากล่าวต่างหาก จะถือว่าโจทก์ไม่ได้ชำระเบี้ยประกันภัยแก่จำเลยที่ 1 หาได้ไม่ พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา
ส่วนปัญหาว่าจำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใดนั้น สำหรับจำเลยที่ 1 นั้น เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาแม้โจทก์ไม่ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญา แต่การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถือว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมและหากระทบกระทั่งสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากการผิดสัญญาได้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่ารักษาพยาบาล ซึ่งปรากฏตามใบเสร็จรับเงิน โจทก์เสียค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 31,511 บาท จึงกำหนดให้ตามขอส่วนค่ารักษาพยาบาลรายวันตามใบเสร็จรับเงินดังกล่าวปรากฏว่าโจทก์เข้ารักษาพยาบาล 2 วัน จึงกำหนดให้ 2,000 บาท ส่วนเบี้ยประกันภัยที่โจทก์ชำระไปแล้ว ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำงานให้โจทก์โดยคุ้มครองความเสี่ยงภัยตลอดมา จึงต้องนำมาหักเป็นค่าการงานส่วนนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ตามมาตรา 391 วรรคสอง ด้วย ประกอบกับสัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นทั้งสัญญาประกันสุขภาพและสัญญาประกันชีวิตรวมอยู่ด้วย โดยในส่วนการประกันสุขภาพระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยว่า จำเลยที่ 1 จะคืนเงินค่าเบี้ยประกันภัยเมื่อได้รับการบอกเลิกสัญญา เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับเงินค่าเบี้ยประกันภัยจากโจทก์มา 4 งวด แล้วจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่จ่ายค่ารักษาพยาบาล เป็นเหตุให้โจทก์ต้องฟ้องเรียกค่าเบี้ยประกันภัยคืนพร้อมทั้งเรียกค่าเสียหาย อันถือได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 แล้ว เมื่อตามตารางท้ายสัญญาประกันภัย ระบุมูลค่าเวนคืนกรมธรรม์ในสิ้นปีที่ 4 คิดเป็นเงิน 14,300 บาท จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเบี้ยประกันภัยซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องจ่ายคืนโจทก์ให้เป็นเงิน 14,300 บาท ส่วนค่ารักษาพยาบาลต่อเนื่องที่บ้าน และค่าพาหนะในการเดินทางไปรักษาพยาบาล ตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวไม่ได้กำหนดให้คุ้มครองถึงค่ารักษาพยาบาลต่อเนื่องที่บ้าน และค่าพาหนะในการเดินทางไปรักษาพยาบาลด้วย โจทก์จึงเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ไม่ได้ สำหรับดอกเบี้ยเห็นสมควรให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 นั้น ถือว่ากระทำการภายในขอบเขตอำนาจตัวแทนของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1
พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 47,811 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 8 มีนาคม 2548) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 98.75 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลนอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

Share