แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 33 วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดผู้ใดแม้จะได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจนครบกำหนดตามมาตรา 25 แล้ว แต่ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่เป็นที่พอใจ ให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณี เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินคดีผู้นั้นต่อไปและให้นำมาตรา 22 วรรคสี่ ซึ่งเป็นบทบัญญัติให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมารับตัวผู้ต้องหาไปในทันทีที่สามารถกระทำได้ มาบังคับใช้โดยอนุโลม คดีนี้พนักงานสอบสวนนำตัวจำเลยไปศาลตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2555 ศาลมีคำสั่งให้ส่งตัวจำเลยไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด ต่อมาวันที่ 2 มีนาคม 2555 สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดน่านมีหนังสือรายงานผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดและแจ้งคำวินิจฉัยคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดน่านว่า การฟื้นฟูดังกล่าวไม่น่าจะใช้ได้และไม่เป็นประโยชน์สำหรับจำเลย กรณีถือว่าการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่เป็นที่พอใจ ทั้งปรากฏจากรายงานการผัดฟ้องจำเลยครั้งที่ 1 ซึ่งพันตำรวจโท ท. บันทึกว่า ในวันที่ 12 เมษายน 2555 จะนำตัวจำเลยมาศาลเพื่อผัดฟ้องต่อไป แสดงให้เห็นว่า ในระยะเวลาดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการสอบสวน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยโดยไม่นำตัวจำเลยมาศาล ดังนั้น เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2555 โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้โดยไม่มีตัวจำเลยมาศาล จึงขัดต่อบทบัญญัติ ป.วิ.อ. มาตรา 165 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัว ฯ มาตรา 6
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 57, 91 โดยโจทก์ไม่ได้นำตัวจำเลยมาศาลชั้นต้นพร้อมฟ้อง
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้ว เห็นว่า ตามคำฟ้องจำเลยเข้ารับการฟื้นฟูระหว่างวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2555 ถึงวันที่ 1 มีนาคม 2555 และโจทก์ไม่ได้ส่งตัวจำเลยพร้อมฟ้องและจำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราวระหว่างฟื้นฟูถือว่าการฟื้นฟูยังไม่เสร็จสิ้นจึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่าไม่ประทับฟ้อง จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่าตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 33 วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดผู้ใดแม้จะได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจนครบกำหนดเวลาตามมาตรา 25 แล้ว แต่ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่เป็นที่พอใจ ให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณีเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินคดีผู้นั้นต่อไป และให้นำความในมาตรา 22 วรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม เมื่อพิจารณาประกอบกับรายงานการผัดฟ้องจำเลยในคดีนี้ ลงวันที่ 30 มีนาคม 2555 โดยได้แนบสำเนาคำวินิจฉัยคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดน่านที่ 253/2555 เรื่องผลการวินิจฉัยการตรวจพิสูจน์จำเลย โดยเห็นว่าการใช้วิธีการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจึงไม่น่าจะใช้ได้และไม่เป็นประโยชน์สำหรับจำเลยผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ จึงให้แจ้งพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อดำเนินการต่อไป ทั้งปรากฏจากรายงานการผัดฟ้องจำเลยครั้งที่ 1 ซึ่งพันตำรวจโททนงศักดิ์ บันทึกว่าในวันที่ 12 เมษายน 2555 จะนำตัวจำเลยมาศาลเพื่อผัดฟ้องต่อไป แสดงให้เห็นว่า ในระยะเวลาดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการสอบสวนโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยโดยไม่นำตัวจำเลยมาศาล ต่อมาเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2555 โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้โดยไม่มีตัวจำเลยมาศาล จึงขัดต่อบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 165 พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์ฟ้องคดีไม่มีตัวจำเลยมาศาล ศาลชอบที่จะมีคำสั่งไม่ประทับฟ้องไว้พิจารณาอำนาจชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน