คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5333/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 แสดงให้เห็นว่า บุคคลที่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะขอให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการได้มี 4 จำพวก คือ 1) นายทะเบียนเครื่องหมายการค้า 2) เจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการนั้น 3) ผู้มีส่วนได้เสีย และ 4) บุคคลใด โดยกฎหมายกำหนดตัวบุคคลที่จะมีสิทธิขอเพิกถอนการจดทะเบียนไว้แตกต่างกันไปตามสาเหตุต่างกัน คดีนี้มีปัญหาเรื่องการเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา 61 หมายความว่า ผู้นั้นต้องมีจุดเกาะเกี่ยวเชื่อมโยงกับเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการที่มาร้องขอให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเพิกถอนการจดทะเบียน
เครื่องหมายบริการตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.7 ของจำเลยร่วมใช้กับบริการในจำพวก 35 ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีและจะใช้ หรือใช้ และขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการที่คล้ายกับของจำเลยร่วม ถือไม่ได้ว่าโจทก์มีส่วนได้เสีย
เครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.6 จ.8 และ จ.9 ของจำเลยร่วม ปรากฏว่าโจทก์มีและจะใช้ หรือใช้เครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วม ทั้งใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันด้วย ถือว่าโจทก์มีส่วนได้เสีย
เครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.9 ของจำเลยร่วมซึ่งใช้กับสินค้าในจำพวก 16 และ 9 ปรากฏว่าโจทก์มิได้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในจำพวกดังกล่าว ทั้งสินค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนไว้แล้วก็มิได้มีลักษณะอย่างเดียวกับสินค้าของจำเลยร่วม และไม่ปรากฏว่าโจทก์มีและจะใช้ หรือใช้เครื่องหมายการค้าของตนกับสินค้าในจำพวกดังกล่าว ถือไม่ได้ว่าโจทก์มีส่วนได้เสีย
เครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.2 ของจำเลยร่วมที่ใช้กับสินค้าในจำพวก 23 แม้โจทก์ไม่ได้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในจำพวกดังกล่าวไว้ แต่รายการที่โจทก์ขอจดทะเบียนไว้กับสินค้าในจำพวก 24 เป็นสินค้า ผ้าคลุมเตียง ผ้านวม ผ้าปูที่นอน ผ้ารองผ้าปูที่นอน ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดปาก ผ้าแขวนผนัง กระเป๋าผ้า และปลอกหมอน เมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าในจำพวก 23 ของจำเลยร่วมเป็นสินค้า ด้ายดิบและเส้นด้ายใช้ทำสิ่งทอแล้ว รายการดังกล่าว แม้จะต่างจำพวกกันแต่ก็มีลักษณะอย่างเดียวกันอันอาจนำไปสู่การทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ ถือว่าโจทก์มีส่วนได้เสีย
เครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.4 ของจำเลยร่วมที่ใช้กับสินค้าในจำพวก 8 แม้โจทก์ไม่ได้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในจำพวกดังกล่าวไว้ แต่รายการที่โจทก์ขอจดทะเบียนไว้กับสินค้าในจำพวก 21 เป็นรายการสินค้า แก้วน้ำ ช้อน ส้อม มีด ชุดเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร (ยกเว้นมีด ส้อม และช้อน) ที่ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า และหม้ออาหารที่เป็นชุด เมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าในจำพวก 8 ของจำเลยร่วมเป็นสินค้า ส้อมที่ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า ช้อนที่ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า มีดที่ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า อาวุธประจำกาย มีดโกนแล้ว รายการดังกล่าว แม้จะต่างจำพวกกันแต่ก็มีลักษณะอย่างเดียวกันอันอาจนำไปสู่การทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ ถือว่าโจทก์มีส่วนได้เสีย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งสิบสาม และเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายบริการตามทะเบียนเครื่องหมายเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 18 ถึง 26
จำเลยทั้งสิบสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา วาเลนติโน เอส.พี.เอ. ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมโดยขอถือเอาคำให้การของจำเลยทั้งสิบสามเป็นคำให้การของตน ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาต
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งสิบสามตามคำสั่งเลขที่ 2/2555, 3/2555, 4/2555, 5/2555 และ 8/2555 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ จำเลยทั้งสิบสาม และจำเลยร่วมอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ยุติฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่มีภาคส่วนอันเป็นสาระสำคัญที่คำอักษรโรมันว่า Valentino Rudy ในลักษณะลายมือชื่อ ออกเสียงว่า วาเลนติโน รูดี้ และอักษรโรมันตัว V รวม 3 เครื่องหมาย โจทก์ได้ยื่นคำขอต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับใช้กับสินค้าจำพวก 21, 14, 24, 18 และ 25 แต่ถูกจำเลยร่วมคัดค้าน จำเลยร่วมเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนที่มีภาคส่วนอันเป็นสาระสำคัญอักษรโรมันคำว่า VALENTINO และอักษรโรมันตัว V ใช้กับสินค้าจำพวก 23, 24, 8, 21, 16, 25 และ 9 และจำเลยร่วมเป็นเจ้าของเครื่องหมายบริการจดทะเบียนที่ใช้กับบริการจำพวก 35 โจทก์ได้ยื่นคำขอให้จำเลยทั้งสิบสามในฐานะคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการดังกล่าวของจำเลยร่วมตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 61 (1) และตามมาตรา 80 ประกอบมาตรา 61 (1) เนื่องจากโจทก์เห็นว่า เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของจำเลยร่วมไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ต้องห้ามมิให้จดทะเบียนตามมาตรา 7 จำเลยร่วมยื่นคำชี้แจง ต่อมาจำเลยทั้งสิบสามวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีส่วนได้เสียที่จะขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของจำเลยร่วมได้ตามคำสั่งคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 1/2555 ถึงที่ 9/2555
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ จำเลยทั้งสิบสาม และจำเลยร่วมว่า โจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 61 และมาตรา 80 ประกอบมาตรา 61 หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 หมวด 1 ส่วนที่ 4 เฉพาะที่ว่าด้วยการเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตั้งแต่มาตรา 57 ถึงมาตรา 67 แสดงให้เห็นว่า บุคคลที่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะขอให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการได้มี 4 จำพวก คือ 1) นายทะเบียนเครื่องหมายการค้า 2) เจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการนั้น ๆ เอง 3) ผู้มีส่วนได้เสียและ 4) บุคคลใด และตามบทกฎหมายเหล่านั้นแสดงให้เห็นต่อไปว่า วัตถุแห่งสิทธิที่จะขอเพิกถอนคือ ทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดไว้แล้ว โดยกฎหมายกำหนดเหตุแห่งการที่จะเพิกถอนไว้แตกต่างกัน เช่น เป็นความประสงค์ของเจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการนั้น ๆ เอง เจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการฝ่าฝืนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ได้ให้ไว้ เจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการนั้นหรือตัวแทนเลิกตั้งสำนักงานหรือสถานที่ที่ได้จดทะเบียนไว้ในประเทศไทย เป็นเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการที่มีลักษณะต้องห้ามจดทะเบียนตามกฎหมาย เป็นเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบาย ไม่มีการใช้เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการที่จดทะเบียนนั้น เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการที่จดทะเบียนนั้นได้กลายเป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในทางการค้าขาย และผู้ขอเพิกถอนมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการที่จดทะเบียนนั้นดีกว่า ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดตัวบุคคลที่จะมีสิทธิขอเพิกถอนการจดทะเบียนไว้แตกต่างกันไปตามสาเหตุดังกล่าว ซึ่งกรณีนอกเหนือจากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น จะเห็นได้ว่าตัวบุคคลที่กฎหมายเปิดกว้างที่สุดที่จะขอเพิกถอนการจดทะเบียนได้คือ “บุคคลใด” ตามมาตรา 62 ในกรณีเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการที่จดทะเบียนแล้วนั้นเป็นเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการที่มีลักษณะต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบาย ส่วนที่แคบลงมาคือ บุคคลที่มีส่วนได้เสีย ซึ่งกฎหมายให้สิทธิไว้ในมาตรา 61, 63, 66 และ 67 ดังนั้น เฉพาะในกรณีเช่นคดีนี้ ซึ่งมีปัญหาเรื่องการอยู่ในฐานะเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา 61 จึงต้องหมายความว่า ผู้นั้นต้องมีจุดเกาะเกี่ยวเชื่อมโยงกับเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการที่มาร้องขอให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเพิกถอนการจดทะเบียน กล่าวคือ การประกอบกิจการไม่ว่าการค้าสินค้าหรือการให้บริการนั้น นอกจากเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการจะทำหน้าที่เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถจำแนกและจดจำสินค้าหรือบริการนั้น ๆ ได้เพื่อประโยชน์ในการบริโภคครั้งต่อ ๆ ไปแล้ว ในด้านของผู้ประกอบกิจการเองนั้น เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการย่อมเป็นเครื่องมือสำหรับใช้นำสินค้าหรือบริการของตนเข้าสู่ตลาดหรือช่องทางการจัดจำหน่าย ถ้าผู้นั้นเลือกกำหนดเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการสำหรับจะใช้กับสินค้าหรือบริการของตนแล้ว แต่กลับปรากฏว่ามีข้อจำกัดในการใช้ และข้อจำกัดในการที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายโดยสมบูรณ์ ย่อมเท่ากับผู้นั้นได้รับผลกระทบในทางการค้ากับสินค้าหรือบริการที่ตนประกอบกิจการอยู่ อันถือได้ว่าเป็นส่วนได้เสียที่จะใช้สิทธิตามบทกฎหมายดังกล่าวได้แล้ว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการอันเป็นวัตถุแห่งสิทธิที่จะต้องถูกเพิกถอนนั้นจะต้องมีจุดเกาะเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการของผู้ขอเพิกถอนการจดทะเบียนด้วย เพราะฉะนั้น จึงต้องพิจารณาด้วยว่าเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการที่ถูกขอเพิกถอนการจดทะเบียนกับเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการของผู้นั้นที่ได้ใช้หรือจะใช้ในทางการค้าสินค้าหรือบริการนั้นเหมือนกันหรือไม่ ถ้าไม่เหมือนกัน มีความคล้ายกันจนทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือบริการหรือไม่
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้ตรวจเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ.13 ถึง จ.17 ซึ่งใช้กับสินค้าในจำพวก 21, 14, 24, 18 และ 25 กับทะเบียนเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของจำเลยร่วมตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.6 จ.8 และ จ.9 ซึ่งใช้กับสินค้าในจำพวก 23, 24, 8, 21, 16, 25 และ 9 และเครื่องหมายบริการเอกสารหมาย จ.1 และ จ.7 ซึ่งใช้กับบริการในจำพวก 35 แล้ว เห็นว่า เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของทั้งสองฝ่ายไม่เหมือนกัน แต่คล้ายกัน จึงต้องพิจารณาต่อไปว่า คล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือบริการเพราะเป็นการขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าหรือบริการจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่เห็นได้ว่ามีลักษณะอย่างเดียวกันหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เครื่องหมายบริการตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.7 ของจำเลยร่วมใช้กับบริการในจำพวก 35 ซึ่งไม่ปรากฏว่าโจทก์มีและจะใช้ หรือใช้และขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการที่คล้ายกับของจำเลยร่วมดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์มีส่วนได้เสียในเหตุที่จะขอให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.7 ดังกล่าว
ส่วนเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.6 จ.8 และ จ.9 ของจำเลยร่วมนั้น ปรากฏว่าโจทก์มีและจะใช้หรือใช้เครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนตามเอกสารหมาย จ.13 จ.15 และ จ.17 ที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมทั้งใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันด้วยคือ เครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.5 จ.3 และ จ.8 ตามลำดับ จึงถือได้ว่าโจทก์มีส่วนได้เสียที่จะขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.3 จ.5 และ จ.8 ของจำเลยร่วมได้
สำหรับเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.9 ของจำเลยร่วมซึ่งใช้กับสินค้าในจำพวก 16 และ 9 นั้น ปรากฏว่าโจทก์มิได้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าในจำพวกดังกล่าว ทั้งสินค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนไว้แล้วก็มิได้มีลักษณะอย่างเดียวกับสินค้าของจำเลยร่วมและตามทางนำสืบก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีและจะใช้หรือใช้เครื่องหมายการค้าของตนกับสินค้าในจำพวก 16 หรือ 9 ดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์มีส่วนได้เสียในเหตุที่จะขอเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.9 ของจำเลยร่วม แต่สำหรับเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.2 ที่ใช้กับสินค้าในจำพวก 23 และเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.4 ที่ใช้กับสินค้าในจำพวก 8 ของจำเลยร่วม แม้โจทก์ไม่ได้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในจำพวก 8 และ 23 ไว้ แต่รายการสินค้าที่โจทก์ได้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ตามเอกสารหมาย จ.13 ที่ใช้กับสินค้าในจำพวก 21 เป็นรายการสินค้า แก้วน้ำ ช้อน ส้อม มีด ชุดเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร (ยกเว้นมีด ส้อม และช้อน) ที่ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า และหม้ออาหารที่เป็นชุด เมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าในจำพวก 8 ของจำเลยร่วมเป็นสินค้า ส้อมที่ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า ช้อนที่ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า มีดที่ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า อาวุธประจำกาย มีดโกน และคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.15 ใช้กับสินค้าในจำพวก 24 ของโจทก์เป็นสินค้า ผ้าคลุมเตียง ผ้านวม ผ้าปูที่นอน ผ้ารองผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดปาก ผ้าแขวนผนัง กระเป๋าผ้า และปลอกหมอน เมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าในจำพวก 23 ของจำเลยร่วมเป็นสินค้า ด้ายดิบและเส้นด้ายใช้ทำสิ่งทอแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ เห็นว่า รายการสินค้าในจำพวก 8 กับ 21 และจำพวก 23 กับ 24 ดังกล่าว แม้จะต่างจำพวกกันแต่ก็มีลักษณะอย่างเดียวกันอันอาจนำไปสู่การทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ จึงถือได้ว่าโจทก์มีส่วนได้เสียในอันที่จะขอเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.4 ของจำเลยร่วมได้ด้วย
ดังนั้น โจทก์จึงมีส่วนได้เสียในเหตุที่จะขอให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.5 และ จ.8 ของจำเลยร่วมได้ แต่ไม่มีส่วนได้เสียในเหตุที่จะขอเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.7 และเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.9 ของจำเลยร่วมได้ คำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 1/2555, 6/2555, 7/2555 และที่ 9/2555 ชอบแล้ว ที่ศาลทรัพย์สินทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ จำเลยทั้งสิบสาม และจำเลยร่วมฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยร่วมอุทธรณ์เป็นทำนองว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียน จึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของจำเลยร่วมนั้น เห็นว่า จำเลยร่วมเพียงแต่ขอถือเอาคำให้การของจำเลยทั้งสิบสามเป็นคำให้การของตนด้วย โดยจำเลยทั้งสิบสามมิได้ให้การต่อสู้ตามที่จำเลยร่วมอุทธรณ์ดังกล่าว จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share