คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5229/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 และประกาศข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 มิได้บัญญัติห้ามมิให้ทนายความเข้าเป็นทนายความโดยวิธีสัญญาแบ่งเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้แก่ลูกความดังเช่น พระราชบัญญัติทนายความสองฉบับแรก (ที่ยกเลิก) ฉะนั้น สัญญาจ้างว่าความที่พิพาทที่ระบุว่า “คิดค่าทนายความร้อยละ 20 ของยอดทุนทรัพย์ 17,188,356 บาท โดยชำระค่าทนายความเมื่อบังคับคดีได้ กรณีบังคับคดีได้เพียงบางส่วนก็คิดค่าทนายความบางส่วนที่บังคับคดีได้ และถ้าคดีมีการยอมความกันคิดค่าทนายความร้อยละ 10 ของยอดเงินที่ยอมความ” จึงไม่ขัดต่อกฎหมายและข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ในการคิดคำนวณค่าทนายความระหว่างโจทก์จำเลย หาเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่ สัญญาจ้างว่าความที่พิพาทจึงไม่เป็นโมฆะ
สัญญาจ้างว่าความที่พิพาทไม่มีข้อใดที่มีลักษณะเป็นการเสี่ยงโชคและไม่เป็นข้อตกลงที่มีลักษณะได้เสียกันโดยอาศัยเหตุการณ์ในอนาคตที่ไม่แน่นอน เป็นข้อแพ้ชนะกันระหว่างโจทก์จำเลย แต่เป็นสัญญาจ้างทำของที่โจทก์ต้องลงแรงว่าต่างให้แก่จำเลยซึ่งเป็นลูกความ จึงหาใช่เป็นการพนันขันต่อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 853 ไม่
เมื่อโจทก์เป็นทนายความฟ้อง ร. และ ค. แล้วมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม ต่อมา ร. และ ค. ผิดสัญญา โจทก์ได้รับมอบอำนาจจากจำเลยให้ดำเนินการบังคับคดี ซึ่ง ร. และ ค. ได้นำเงินมาวางชำระที่ศาลแล้ว ดังนี้ โจทก์ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยได้ดำเนินการบังคับคดีแล้ว ซึ่งต่อมา ร. และ ค. ได้วางเงินชำระหนี้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะถูกจำเลยฟ้องคดีอาญาฐานโกงเจ้าหนี้โดยการว่าจ้างทนายความคนอื่นหรือเพราะการบังคับคดี ยึดทรัพย์ก็ตาม ถือว่ามีการบังคับคดีและจำเลยได้รับชำระหนี้แล้วโจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าจ้างว่าความจากจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 3,260,250 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 2,835,000 บาท นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา โจทก์ถึงแก่กรรม นางสุขสราญ นะรา ทายาทของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,810,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้อุทธรณ์จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เดิมจำเลยได้ว่าจ้างโจทก์เป็นทนายความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 15721/2535 ของศาลแพ่ง ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า สัญญาจ้างว่าความตามเอกสารหมาย จ.11 เป็นโมฆะหรือไม่ รายละเอียดในสัญญาเอกสารหมาย จ.11 ระบุว่า “คิดค่าทนายความร้อยละ 20 ของยอดทุนทรัพย์ 17,188,356 บาท โดยชำระค่าทนายความเมื่อบังคับคดีได้ กรณีบังคับคดีได้เพียงบางส่วนก็คิดค่าทนายความบางส่วนที่บังคับคดีได้ และถ้าคดีมีการยอมความกันคิดค่าทนายความร้อยละ 10 ของยอดเงินที่ยอมความ” ที่จำเลยฎีกาอ้างว่า สัญญาจ้างว่าความดังกล่าวเป็นโมฆะเพราะคิดค่าจ้างว่าความโดยแบ่งเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้แก่ลูกความ อันเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนและเป็นการพนันขันต่อนั้น เห็นว่า แม้ตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2477 มาตรา 12(2) ระบุห้ามไม่ให้ทนายความว่าต่างแก้ต่างโดยวิธีสัญญาแบ่งเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้แก่ลูกความ และตามพระราชบัญญัติทนายความพ.ศ. 2508 ที่มิได้บัญญัติห้ามข้อนี้ไว้โดยตรง แต่บัญญัติไว้ในมาตรา 17 วรรคหนึ่งว่า ทนายความต้องปฏิบัติให้ต้องตามมรรยาททนายความตามที่เนติบัณฑิตยสภากำหนด การกำหนดมรรยาททนายความให้เนติบัณฑิตยสภาตราเป็นข้อบังคับและประกาศในราชกิจจานุเบกษาและวรรคสองว่า ทนายความผู้ใดฝ่าฝืนข้อความที่เนติบัณฑิตยสภาตราขึ้นตามวรรคก่อนทนายความผู้นั้นประพฤติผิดมรรยาททนายความ และพระราชบัญญัติทนายความฉบับดังกล่าว มาตรา 41 บัญญัติว่าในระหว่างที่เนติบัณฑิตยสภายังมิได้ตราข้อบังคับขึ้นตามมาตรา 17 ให้ถือว่าความในมาตรา 12(1)(2)(3) และ (4) แห่งพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2477 และข้อบังคับของเนติบัณฑิตยสภาว่าด้วยมรรยาททนายความ… เป็นเสมือนข้อบังคับที่เนติบัณฑิตยสภาได้ตราขึ้นตามมาตา 17 ก็ตามแต่ต่อมามีพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 และประกาศข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2529 ที่คณะกรรมการสภาทนายความออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ออกใช้บังคับโดยมิได้บัญญัติห้ามมิให้ทนายความเข้าเป็นทนายความโดยวิธีสัญญาแบ่งเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้แก่ลูกความดังเช่นพระราชบัญญัติทนายความสองฉบับแรกแต่อย่างใด ฉะนั้น สัญญาจ้างว่าความตามเอกสารหมาย จ. 11 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2534 จึงไม่ขัดต่อกฎหมายปัญหาว่าข้อกำหนดตามสัญญาจ้างว่าความดังกล่าวขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ เห็นว่า ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 15721/2535 ของศาลแพ่ง ตามสำเนาเอกสารหมายจ.1 ทุนทรัพย์พิพาทในคดีจำนวน 20,694,520 บาท แต่โจทก์คิดค่าทนายความเพียงร้อยละ 20 ของทุนทรัพย์ 17,188,356 บาท และลดส่วนลงหากบังคับคดีได้เพียงบางส่วน หรือมีการประนีประนอมยอมความกัน เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ในการคิดคำนวณค่าทนายความระหว่างโจทก์จำเลยหาเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่ สัญญาจ้างว่าความตามเอกสารหมาย จ.11จึงไม่เป็นโมฆะ ปัญหาประการต่อมาว่าสัญญาจ้างว่าความตามเอกสารหมาย จ.11 จึงไม่เป็นโมฆะ ปัญหาประการต่อมาว่าสัญญาจ้างว่าความตามเอกสารหมาย จ.11 เป็นการพนันขันต่อหรือไม่นั้น เห็นว่าตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน คำว่า การพนัน หมายความว่า การเล่นเอาเงินหรือสิ่งอื่นด้วยการเสี่ยงโชคหรือฝีมือส่วนคำว่า ขันต่อหมายความว่าการต่อรองซึ่งได้เสียกันโดยอาศัยเหตุการณ์ในอนาคตที่ไม่แน่นอนเป็นข้อแพ้ชนะ สัญญาจ้างว่าความตามเอกสารหมาย จ.11ไม่มีข้อใดที่มีลักษณะเป็นการเสี่ยงโชคและไม่เป็นข้อตกลงที่มีลักษณะได้เสียกันโดยอาศัยเหตุการณ์ในอนาคตที่ไม่แน่นอนเป็นข้อแพ้ชนะกันระหว่างโจทก์จำเลยแต่เป็นสัญญาจ้างทำของที่โจทก์ต้องลงแรงว่าต่างให้แก่จำเลยซึ่งเป็นลูกความจึงหาใช่เป็นการพนันขันต่อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 853 ไม่

ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า โจทก์ดำเนินการบังคับคดีแล้วหรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อโจทก์เป็นทนายความฟ้องนายเริ่มรัฐ จิตรภักดี กับนายคะเน็ต ผดุงชีวิต ตามเอกสารหมาย จ.1 แล้วมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลแพ่งพิพากษาตามยอมตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 ต่อมาจำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าวผิดสัญญา โจทก์ในฐานะทนายความได้รับมอบอำนาจจากจำเลยให้ดำเนินการบังคับคดีตามเอกสารหมาย จ.10 เดือนมิถุนายน 2537 จำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าวได้นำเงินมาวางชำระที่ศาลแพ่งแล้ว เห็นว่า ตามเอกสารหมาย จ.10 โจทก์ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยได้ดำเนินการบังคับคดีแล้ว ซึ่งต่อมาจำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าวได้วางเงินชำระหนี้ไม่ว่าจะเป็นเพราะถูกจำเลยฟ้องคดีอาญา ฐานโกงเจ้าหนี้โดยการว่าจ้างทนายความคนอื่น หรือเพราะการบังคับคดียึดทรัพย์ก็ตามถือว่ามีการบังคับคดีและจำเลยได้รับชำระหนี้แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าจ้างว่าความจากจำเลย ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share