คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5219/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปรากฏตามคำฟ้องว่า ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1เด็ดขาดก่อนที่โจทก์จะยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ย่อมหมดอำนาจที่จะกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของตนได้ อำนาจในการจัดการทรัพย์สินและต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1ตกเป็นของจำเลยที่ 2 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้ภาษีอากรได้ เพราะเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 และ 24 เมื่อที่ดินและโรงเรือนของจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 2 มีอำนาจจัดการนั้นมี พ.ร.บ. ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 มาตรา 7,35บัญญัติให้ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินมีหน้าที่เสียภาษีภายในเดือนเมษายนของทุกปีหรือภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินแล้วแต่กรณี กับมี พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา8,38,40 บัญญัติให้ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินชำระค่าภาษีปีละครั้งภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งความการประเมิน จำเลยที่ 2จึงมีหน้าที่ที่จะต้องเอาเงินของจำเลยที่ 1 ชำระค่าภาษีบำรุงท้องที่และค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินแทนจำเลยที่ 1 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ค่าภาษีอากรตามฟ้อง แม้เป็นหนี้ที่เกิดภายหลังจากศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 เด็ดขาดแล้วก็ตาม การที่เจ้าพนักงานของกรุงเทพมหานครโจทก์มีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ให้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับโรงเรือนของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 มีหนังสือตอบว่า โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จะบังคับสิทธิเรียกร้องได้ก็แต่โดยการขอรับชำระหนี้ จำเลยที่ 2ไม่จำต้องยื่นแบบรายการเพื่อเสียภาษีแทนจำเลยที่ 1 นั้น หนังสือตอบของจำเลยที่ 2 เป็นเพียงความเห็นของจำเลยที่ 2 ในปัญหาว่าโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินจะใช้สิทธิเรียกค่าภาษีดังกล่าวได้โดยวิธีใด ไม่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโจทก์จึงไม่จำต้องยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลภายใน 14 วัน นับแต่วันทราบคำวินิจฉัยเพื่อให้ศาลสั่งกลับหรือแก้ไขคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 146.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินค่าภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือนและที่ดินพร้อมเงินเพิ่มให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า ศาลแพ่งได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 เด็ดขาดแล้ว โจทก์ได้มีหนังสือให้จำเลยที่ 2 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ดำเนินการยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี พ.ศ. 2429-2531 จำเลยที่ 2ได้มีคำสั่งว่า “กรุงเทพมหานครในฐานะเจ้าหนี้จะบังคับตามสิทธิเรียกร้องของตนได้ก็แต่โดยการขอรับชำระหนี้เข้ามาในคดีนี้เท่านั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่จำต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินแทนลูกหนี้ (จำเลยที่ 1) แต่อย่างใด” และได้แจ้งคำสั่งให้โจทก์ทราบแล้ว แต่โจทก์ก็มิได้ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของจำเลยที่ 2 ต่อศาลแพ่งภายใน 14 วัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่งคำสั่งของจำเลยที่ 2 จึงเป็นที่สุดและมีผลผูกพันโจทก์ ที่โจทก์นำหนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินมาฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลาง จึงขัดต่อมาตรา 146 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483 หนี้ค่าภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี พ.ศ. 2529-2532 ตามฟ้องเป็นหนี้ที่เกิดภายหลังศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 เด็ดขาดแล้วเป็นหนี้ที่ไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 ชอบด้วยกฎหมายแล้ว การเรียกเก็บภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ. 2529-2532 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นที่ดินที่ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนทั้ง 9 หลัง ที่โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 1 เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินอยู่แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า 1.โจทก์มีสิทธิได้รับชำระหนี้ค่าภาษีอากรตามฟ้อง ซึ่งเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 แล้วหรือไม่ 2. โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลภาษีอากรกลาง โดยไม่ได้ยื่นคำร้องคัดค้านวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่อศาลแพ่งภายใน 14 วันนับแต่วันที่ทราบคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 146 หรือไม่ 3.จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระเงินค่าภาษีอากรตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่าโจทก์มิได้ยื่นคำร้องคัดค้านคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ลงวันที่ 27 กันยายน 2531 ต่อศาลแพ่งศาลภาษีอากรกลางเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้จึงสั่งให้งดสืบพยานทั้งสองฝ่าย แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามคำฟ้องว่า ศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 เด็ดขาดไปก่อนที่โจทก์จะยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ จำเลยที่ 1 ย่อมหมดอำนาจที่จะกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของตนได้ อำนาจในการจัดการทรัพย์สินและต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ตกเป็นของจำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1ให้ชำระหนี้ตามฟ้องได้ เพราะเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 22 และ 24
สำหรับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองที่โต้แย้งว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ค่าภาษีตามฟ้อง ซึ่งเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังจากศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 เด็ดขาดแล้วนั้น เห็นว่าเมื่อศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 เด็ดขาดในวันที่31 ตุลาคม 2528 แล้ว จำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียวที่มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไปเมื่อที่ดินและโรงเรือนที่จำเลยที่ 2มีอำนาจจัดการนั้น มีพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508มาตรา 7, 35 บัญญัติให้ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินมีหน้าที่เสียภาษีภายในเดือนเมษายนของทุกปีหรือภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินแล้วแต่กรณี กับมีพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินพ.ศ. 2475 มาตรา 8, 38, 40 บัญญัติให้ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินชำระค่าภาษีปีละครั้งภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งความการประเมินจำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ที่จะต้องเอาเงินของจำเลยที่ 1 ชำระค่าภาษีบำรุงท้องที่ และค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี พ.ศ.2529-2532 แทนจำเลยที่ 1 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ค่าภาษีตามฟ้อง แม้เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังจากศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1เด็ดขาดแล้วก็ตาม
ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อต่อไปมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาลภาษีอากรกลางโดยไม่ต้องยื่นคำร้องคัดค้านคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ต่อศาลแพ่งภายใน 14 วัน นับแต่ทราบคำวินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า การที่เจ้าพนักงานของโจทก์มีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ให้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี พ.ศ.2529-2531 สำหรับโรงเรือนเลขที่ 232 ของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 2ได้มีหนังสือตอบว่า โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จะบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ก็แต่โดยการขอรับชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ไม่จำต้องยื่นแบบรายการเพื่อเสียภาษีแทนจำเลยที่ 1 แต่อย่างใดนั้น หนังสือตอบของจำเลยที่ 2 เป็นเพียงความเห็นของจำเลยที่ 2 ในปัญหาว่า โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินจะใช้สิทธิเรียกค่าภาษีดังกล่าวได้โดยวิธีใด หาได้วินิจฉัยเกี่ยวกับค่าภาษีบำรุงท้องที่ประจำปีพ.ศ. 2529-2532 ที่โจทก์ฟ้องเรียกจากจำเลยที่ 2 แต่อย่างใดไม่ทั้งคำวินิจฉัยดังกล่าวก็ไม่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงไม่จำต้องยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลแพ่งซึ่งเป็นศาลในคดีล้มละลายภายใน 14 วัน นับแต่วันทราบคำวินิจฉัยเพื่อให้ศาลแพ่งสั่งกลับหรือแก้ไขคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 146 ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะเหตุโจทก์มิได้ยื่นคำร้องคัดค้านคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2ภายใน 14 วัน นับแต่วันทราบคำวินิจฉัยนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นศาลฎีกา จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามประเด็นข้อ 3 ต่อไป ซึ่งศาลภาษีอากรกลางยังมิได้วินิจฉัยไว้ แต่เนื่องจากข้อเท็จจริงที่คู่ความแถลงรับกันมานั้นยังไม่เพียงพอที่จะวินิจฉัยคดี ศาลฎีกาเห็นควรย้อนสำนวนไปให้ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยที่ 2 ตามประเด็นข้อ 3 แล้วพิพากษาคดีใหม่
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางให้ศาลภาษีอากรกลางสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยที่ 2 ตามประเด็นข้อ 3แล้วพิพากษาคดีใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้ศาลภาษีอากรกลางรวมสั่งเมื่อพิพากษาคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง.

Share